ต้องซ่อม-สร้างอะไรบ้าง? ให้ชีวิตการเงินคนไทยดีขึ้น
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“ชีวิตของเราอยู่กับเงินตลอด ดังนั้นเวลาบริหารจัดการเงินมันคือความมีสติ และไม่ใช่มีสติเฉพาะวันนี้ สิ่งที่ต้องมี คือ ความรู้การเงิน มีความรับผิดชอบด้านการเงิน และกรุณามีวิสัยทัศน์ทางการเงินด้วย”
หนึ่งในปัญหาของ ‘คนไทย’ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และกำลังสั่นคลอนชีวิตของหลายคนอย่างหนักคือ ‘ปัญหาการเงิน’ ไม่ว่าจะการเงินในปัจจุบันที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ เรื่อยไปจนถึงการเงินในอนาคต ที่ต้อง ‘แก่ก่อนรวย’
Wealth Me Up พูดคุยกับ โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เจ้าของเพจ The Money Coach ผู้มากด้วยประสบการณ์ช่วยพลิกชีวิต ‘ลูกหนี้’ จำนวนมาก ให้ ‘รอด’ จากบ่วงหนี้ และยืนตั้งหลักได้อีกครั้ง และคราวนี้จะมาช่วยชี้ช่อง ‘ซ่อม’ และ ‘ สร้าง’ เพื่อชีวิตการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย
[Now] ปัญหาการเงินอันดับ 1 ของคนไทยคืออะไร?
โค้ชหนุ่ม ตอบเสียงดังฟังชัดว่า ‘ปัญหาหนี้ที่ผูกพันกับสภาพคล่องน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในตอนนี้’ พร้อมขยายความว่า เรื่องหนี้ของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพราะสมัยนั้น หลักๆ แล้ว โค้ชหนุ่มต้องตอบคำถามกลุ่มคนรายได้ 15,000 บาทบวกลบ แต่ตอนนี้กลับพบว่า คนที่มาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่กลับมีรายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป
“เมื่อก่อนจะพบว่า คนมีรายได้ 15,000 บาท เงินไม่พอใช้ มีภาระหนี้สิน และอาจลามไปถึงหนี้นอกระบบ แต่ปัจจุบัน กลุ่มใหญ่ที่ส่งกันเข้ามาจริงๆ น่าจะเป็น 50,000-80,000 บาท หรืออาจจะประมาณถึง 100,000 บาทด้วยซ้ำ”
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อว่า คนกลุ่มนี้เมื่อมีรายได้สูงขึ้น ก็ย่อมต้องการมีรูปแบบชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน “เราจะไปว่าเขาไม่ได้ เขามีเงินเดือน 50,000 หรือ 70,000 บาท ทุกๆ อย่างรอบตัวก็ต้องเหมาะสม เพราะฉะนั้นเขาก็มีการสร้างภาระกันขึ้นไป และพอถึงจังหวะเวลา เช่น ตัวที่ทุบแรงมากๆ คือ Covid พอทุบตรงนั้น 1 ที เวลาคนเราการเงินสะดุด มันไม่ใช่สะดุดปุ๊บ พรุ่งนี้ลุกขึ้นมาได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้น บางคนใช้เวลาเป็นปี บางคนยังไม่กลับมาเลยตั้งแต่ Covid”
โค้ชหนุ่มย้ำว่า เรื่องหนี้สินยังเป็นปัญหาการเงินอันดับ 1 ของคนไทยตอนนี้ โดยอาจพิจารณาจากหนี้ครัวเรือน และข้อมูลของคนที่ขอคำปรึกษาจากโค้ชหนุ่มในปัจจุบัน “ตอนนี้ถ้าเกิดว่าอีเมล 100 ฉบับ ถามเรื่องหนี้ประมาณ 90 ฉบับนะครับ ถามเรื่องลงทุนกันน้อยเหลือเกิน”
โค้ชหนุ่มเล่าต่อว่า ปัญหาการเงินอันดับ 2 คือ เรื่องมิจฉาชีพ
“การถูกหลอกลวงทางการเงินเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงจาก Call Center หรือหลอกลวงลงทุนยังเหมือนเดิม และเป็นความเสียหายใหญ่หลวงมาก ถ้าเอาปัญหาข้อที่ 1 มาดู บางคนเป็นหนี้เพราะว่าถูกหลอก อันนี้ก็เยอะเหมือนกัน”
โค้ชหนุ่มมองว่า พบปัญหาเหล่าเยอะ และเมื่อมีการส่งคำถามเหล่านี้เข้ามาก็ตอบยากพอสมควร “มันก็ตอบยากนะ ถูกหลอกแล้วทำยังไงดี? เราก็ได้แต่แนะนำเบื้องต้นว่า อาจจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ หรืออะไรต่างๆ นะครับ และหลายๆ คนก็เป็นเงินที่ยืมมา อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ และไม่ค่อยการเห็นการแก้ที่มันชัดเจนเท่าไหร่”
ส่วนปัญหาอันดับ 3 ที่โค้ชหนุ่มบอกว่าเห็นชัดมากขึ้น คือ ความไม่พร้อมสำหรับการเกษียณ
“ด้วยความที่เราสาละวนอยู่กับหนี้ตลอด 40 ปีของการทำงาน เราเริ่มเจอคนที่อยู่ในวัย 50 กว่า ที่เข้าใกล้วัยเกษียณ พอไปดูตัวเลขด้านการเงิน คือ ไม่พร้อมเกษียณครับ ลงมาหน่อยอายุ 40 ก็คิดว่ายังอีกเยอะที่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเรื่องนี้”
จากประเด็นดังกล่าว โค้ชหนุ่มเล่าถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ คือ พยายามให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบคิดถึงเรื่องการเตรียมตัวเกษียณตั้งแต่ตอนแรกๆ เพราะแม้จะยังไม่เห็นภาพตอนนี้ แต่โค้ชหนุ่มเชื่อว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
——————————
“เรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีตังค์ใช้”
——————————
“นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่อยากจะเติมท้ายนิดนึงว่า สังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีตังค์ใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ใครจะเลี้ยงเค้า ถ้าไม่ใช่ลูกเค้า เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดปรากฏการณ์มากดทับกับคนวัย 30-55 ปี ที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วมันก็จะกลับมาที่หนี้ เมื่อเงินไม่พอก็ต้องหยิบยืมเพื่อเลี้ยงดู คิดว่าอันนี้คือเรื่องใหญ่ และเป็นวังวน เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่กำลังดูอยู่ และพยายามจะทำเท่าที่ทำได้”
ต้นตอปัญหาการเงินของคนไทย
โค้ชหนุ่มอธิบายถึง “ต้นตอ” ปัญหาการเงินของคนไทยในปัจจุบันว่า หากคุยในรูปแบบสมการการเงินแบบง่ายๆ คือ รายได้- รายจ่าย = เงินออม
“สมการที่เข้าใจกันง่ายๆ คือ รายได้หักลบค่าใช้จ่ายแล้ว มันมีพอเหลือเก็บเหลือออมมั้ย ผมว่ามันมีปัญหาในเชิงโครงสร้างในระดับหนึ่ง คือ เราจะเห็นเรื่องเงินเดือนหรือรายได้ที่ประเทศไทยเราไม่ค่อยวิ่งเท่าไหร่ รายได้ดูวิ่งช้า ตัวผมเองเรียนจบปี 2540 เงินเดือนประมาณ 14,000 บาท แล้วดูวันนี้สตาร์ทเท่าไหร่ สมัยนั้น ก๋วยเตี๋ยวชามนึงกินอิ่ม 20 บาท วันนี้ในกรุงเทพ ผมยังหาต่ำกว่า 60 ไม่ค่อยได้เลย”
ในขณะที่ค่าครองชีพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเร็วแล้ว แต่โค้ชหนุ่มชี้ต่อว่า ค่าใช้จ่ายอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเร็ว คือ ค่ารักษาพยาบาล
“ค่าครองชีพวิ่งเร็ว และค่าครองชีพทั่วๆ ไปที่ว่าวิ่งเร็วแล้ว แต่มีอีกตัวนึงที่วิ่งเร็วและซ่อนอยู่ คือ ค่าใข้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล อันนี้ ขึ้นไม่สนใจเงินเฟ้อใดๆ ทั้งสิ้น เรียกว่า ฉันจะขึ้นก็ขึ้นทุกปี คนเราใช้ชีวิตไป รายได้ก็ไม่พอการใช้จ่ายอยู่แล้ว พอมาสะดุดด้วยการเจ็บป่วยซักครั้ง เป็นรายจ่ายใหญ่มาก และกลายเป็นว่า อันนั้นคือเป็นหนี้ที่ต้องหยิบยืม และต้องตั้งพัก เพื่อจะให้ชีวิตหาทางเคลียร์หนี้ก้อนนี้ และไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเจออะไรอีก เพราะฉะนั้นถ้าเอาสมการแรก ที่มันเป็นแบบนี้ คิดว่าในเชิงโครงสร้างของรายได้ และโครงสร้างเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้”
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อว่า ปัจจัยต่อมาที่เป็นต้นตอของปัญหาการเงินของคนไทย คือ มีความรู้ทางการเงิน “ต่ำ”
“เรื่องที่เราก็พูดกันเยอะคือ เรื่องของความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการการเงิน การวางแผนการเงิน หรือจะเรียกรวมๆ ว่า ความรู้การเงินก็ได้ คือปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องนี้จริงๆ พอเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ วันนี้ผมยังเจอคนที่ใช้สินเชื่อโดยที่ไม่รู้เลยว่า สินเชื่อนี้ต้องจ่ายกันขนาดนี้เลยเหรอ มันเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เขาไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า เมื่อมันออกมาพร้อมกับความไม่รู้ เรายังมาสูตรเดิม คือ ตั้งใจเรียน แล้วก็หางานดีๆ ทำ มีรายได้แล้วเราก็จะดูแลตัวเองได้…มันไม่จริง ทุกๆ การตัดสินใจหลังการเรียนจบ ไม่ว่าจะมีครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อรถ ทุกอย่างใช้ความรู้ทางการเงินหมด เพราะฉะนั้นนี่คงเป็นเรื่องที่ต้องทำกันยาวๆ และถ้าไม่มีตรงนี้อยู่กับตัว แน่นอนว่า มัน Go So Big มันมีโอกาสที่จะไปใหญ่โต เดี๋ยวก็ผิดพลาดเรื่องสินเชื่อ เดี๋ยวก็ไปผิดพลาดเรื่องลงทุน และก็ไม่รู้เรื่องภาษีอีก โดนปรับอีก มันก็จะลุกลามไปเรื่อย”
จากประสบการณ์ให้ความรู้ด้านการเงินกับคนไทยมาหลายสิบปี โค้ชหนุ่มอธิบายถึงความแตกต่างของบริบทในอดีตและปัจจุบันว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดหากเทียบในแง่บริบท คือ โลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
“คนในยุคก่อน เช่น Gen X แบบผมอาจจะโชคดีก็ได้ เราเรียนจบปุ๊บ เราก็ไม่ได้เจอกันกับเพื่อน เราเจอกันอีกทีก็ในงานเลี้ยงรุ่นหรืออะไรต่างๆ แต่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Social Media การโหมในเรื่องของการตลาดต่างๆ ทำให้คนรู้ว่าจะต้องมีมาตรฐานเส้นหนึ่งของการใช้ชีวิต ว่าเราจะต้องมีหนึ่ง สอง สาม สี่ และสรุปเป็นมาตรฐานว่านี่คือคุณภาพชีวิตที่มันโอเค ซึ่งตรงนี้ถ้าเราพร้อม เราทำได้ มันก็ไม่มีปัญหา แต่ผมว่ามันไม่ค่อยพร้อม คือว่า เราอาจไม่พร้อมที่จะมีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นและเราไม่ได้รอคอยแล้ว เพราะว่าการค้าการขายเดี๋ยวนี้มันง่ายขึ้น”
โค้ชหนุ่มยกตัวอย่างว่า ในอดีตการขอสินเชื่อซื้อบ้านและรถยนต์จะต้องมีการวางเงินดาวน์ทั้งสิ้น ต่างจากยุคปัจจุบัน ที่คนสามารถซื้อของมูลค่าสูงได้ง่ายขึ้นด้วยการผ่อนชำระเป็นงวดๆ แบบไม่มีดอกเบี้ย และไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์
“ผมยังจำยุคตัวเองได้ว่า กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถก็ต้องดาวน์ เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องดาวน์ ซื้อของอะไรต่างๆ การออกบัตรเครดิตสมัยก่อนไม่ได้ง่าย แต่มาถึงวันนี้ ไม่ต้องมีบัตรเครดิต เพราะว่าร้านค้าต่างๆ ก็ทำตัวเป็นสถาบันการเงินได้ คุณสามารถเอาของไปก่อนได้ และจ่ายทีหลังได้”
โค้ชหนุ่มบอกว่า การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่มองว่า การที่มนุษย์ไม่รู้เท่าทันตัวเองเป็นเรื่องน่ากลัว
“ความรู้การเงินก็น้อย ความรู้เท่าทันตัวเองก็ไม่มาก และเราเกิดสภาวะที่เรียกว่า อวดหรือโชว์ ผมขอพูดในมุมที่ตอบคำถามกับคนเยอะๆ หลายๆ ครั้ง บางคนที่ถามคำถามเข้ามา พอเราได้เจอตัวจริงเขา เราได้เห็นเขาใน Social Media เราจะตกใจว่า เมื่อกี้คือคนที่กำลังมีความทุกข์ บางคนพูดถึงอยากจะตาย…อยากจะตายจริงเหรอ เพราะว่าดูใน Social Media เธอลั้ลลา มีความสุข มีความโออ่า หรูหรามาก ผมมองว่า ปัจจุบัน เรากำลังถูกสังคมการตลาด Social Media ทำให้ยอมรับกันในมุมว่าต้องทำอย่างงี้ซิ มันถึงจะได้รับการยอมรับอย่างนี้ และคนบางคนไม่พร้อม แล้วมันก็ไปไกลเลย”
สังคมไทย “ราชาเงินผ่อน”
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อเกี่ยวกับ ‘การรู้เท่าทันตัวเอง’ ว่า ในการสอนเรื่องการเงิน อันดับแรก จะพูดถึง “Need” และ “Want” หรืออะไรเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ และอะไรเป็นสิ่งที่ต้องการ โดยมองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้มนุษย์ซื้อแต่ของที่จำเป็นอย่างเดียว เพราะมนุษย์ย่อมมีของที่ต้องการด้วย
“เราจะซื้อแต่ของจำเป็นอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้หรอก เราก็มีของที่เราอยากจะได้ พอซื้อแล้วมันเติมเต็มความรู้สึกในจิตใจ แต่เราต้องรู้จังหวะตัวเองว่า เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าเราพร้อม เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าเราใช่”
——————————
“ปัจจุบันเราซื้อของ ไม่ได้ดู Need กับ Want แล้ว แต่ซื้อเพราะ ‘เราซื้อได้’ ”
——————————
โค้ชหนุ่มได้แนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อการรู้เท่าทันตัวเองว่า “หัวใจอันดับแรกต้องมาก่อน คือ เราอยากได้ของสิ่งนั้นจริงหรือเปล่า เรื่องหนึ่งที่ผมกำลังทำมากขึ้น คือ พยายามเจาะพฤติกรรมของมนุษย์ ปัจจุบันคนเรากำลังซื้อของไม่ต้อง Need กับ Want แล้ว แต่เราซื้อเพราะเราซื้อได้ คำนี้มันประหลาดมั้ย? คุณเฟิร์น (ผู้ดำเนินรายการ) มีสตางค์อยู่ รู้ว่ามีสตางค์อยู่เท่าไหร่ พอดูปุ๊บ เฟิร์นไม่ได้อยากได้ของสิ่งนั้นหรอกจริงๆ แล้ว แต่ด้วยการตลาดที่มันโหมมาก และรู้สึกว่า ฉันก็ซื้อได้นะอันนี้ กลายเป็นว่าเราซื้อเพราะว่าเราซื้อได้ ไม่ได้ Need ไม่ได้ Want ด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ ดูบ่อยๆ ปุ๊บ ฉันมีมันได้นะ”
โค้ชหนุ่มบอกว่า ในกรณีที่คนรู้สึกว่า สามารถมีของดังกล่าวได้ และสามารถซื้อเป็นเจ้าของได้ โดยไม่เดือดร้อนก็ไม่เป็นไรแต่คนไม่ได้คิดว่า การซื้อได้โดยดูว่าจ่ายเงินไหว แต่คนกลับเริ่มคิดเรื่องการซื้อสินค้าเงินผ่อนแทน
“เราไม่ได้คิดว่า ซื้อได้ โดยดูว่าเราจ่ายเงินไหว แต่เราเริ่มทอนหาร 10 เราใช้ระบบหาร 10 เช่น 50,000 บาท หาร 10 คือ 5,000 บาท ไหวมั้ย? ทุกอย่างเป็นระบบหาร 10 หมด ตอนนี้ระบบความคิดการเงินของคนไทยหลายๆ คนเป็นระบบหาร 10 หาร 12 หาร 24 แล้วก็บอกว่าไหว”
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อว่า การอยู่ในระบบแบบหาร 10 ทำให้คนมีความคิดที่ผิดเพี้ยนไป และเมื่อเปิดงบการเงินส่วนบุคคลของคนที่มีปัญหาทางการเงินก็จะพบว่า โดยเฉลี่ยมีรายการผ่อนสินค้าประมาณ 5-7 รายการ
“ถ้าเราเปิดงบการเงินส่วนบุคคล เราจะเจอรายการแบบนี้เต็มไปหมดเลย เราจะเจอคนไทยมีรายการผ่อนโดยเฉลี่ยสำหรับคนที่อาการทางเงินเริ่มไม่ค่อยดี น่าจะมี 5-7 รายการ ถ้าคนการเงินดีไม่ว่ากันนะ เขาจะผ่อนของ โทรศัพท์ชิ้นนึง โน้ตบุ๊กสักเครื่องนึงไม่ว่ากัน แต่ถ้าเกิดเป็นคนอาการหนักๆ ที่ส่งมา เปิดได้เลย ไม่มีต่ำกว่า 5-7 รายการ และไม่ใช่ผ่อนตุ๊กตาตัวเล็กๆ แต่จะมาหมดเลย โน้ตบุ๊ก มือถือ ผ่อนเที่ยว ผ่อนเรียนลูก”
อย่างไรก็ตาม โค้ชหนุ่มย้ำว่า ตนเองไม่ได้ต่อต้านการผ่อน 0% เพราะหลายคนที่สามารถซื้อเงินสดได้ แต่ก็เลือกซื้อสินค้าแบบเงินผ่อนเหมือนกัน
“หลายคนซื้อเงินได้ แต่ก็ผ่อน 0% เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และคนที่บริหารเงินเป็นก็จะรู้สึกว่า ฉันก็ไม่อยากควักเงินที่มีออกจากกระเป๋าเป็นเงินก้อน อันนี้คือคนละมุมกัน มุมนี้คือ ฉันมีตังค์ที่จะซื้อได้วันนี้เลย แต่ฉันอยากจะผ่อน 0% เพราะจะได้ดึงเงินออกจากกระเป๋าฉันช้าหน่อย และฉันไม่เสียดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่อะไรก็ตาม หารให้หมดเพื่อจะได้รู้ว่าผ่อนรวมกัน ฉันยังไหวอยู่ มันเป็นคนละมิติกัน มันเป็นคนละความสบายในชีวิตเลย”
——————————
“การใช้สินเชื่อไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร แต่มันต้องอยู่ในวิสัย อันดับแรกคือ คุณอยากได้ของนั้นจริงหรือเปล่า”
——————————
[Next] 4 สิ่งต้องซ่อม ให้หลุดพ้น “ปัญหาการเงิน”
จากปมปัญหาทางการเงินของคนไทย ที่หากไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีอาจกลายเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกได้ โค้ชหนุ่มได้แจกแจงแนวทางการจัดการปัญหาในเชิงนโยบายเป็น 2 ส่วน คือ งานสร้าง และงานซ่อม
โค้ชหนุ่มอธิบายเรื่อง ‘งานซ่อม’ ว่า งานซ่อมอันดับแรกๆ เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
“พี่อาจจะอยู่กับปัญหาเรื่องหนี้เยอะ จึงอยากกระตุกฝั่งแรกคือ ฝั่งสถาบันการเงินก่อน เพราะว่าสถาบันการเงินก็พูดถึง Responsible Lending (การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ) ผมมองที่อันดับแรกคือ เรื่องคนเข้าถึงสินเชื่อได้มากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบริโภค ผมไม่ติดขัดเรื่องสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของชีวิตคน แต่สินเชื่อเพื่อการบริโภคมันเข้าถึงได้ง่าย แล้วก็เยอะไปแล้ว”
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อว่า ปัจจุบัน หากดูกระเป๋าสตางค์ของคนจะพบว่า บางคนถือบัตรเครดิตและบัตรเงินสดหลายใบมาก
“ถ้าเจอคนๆ นึงแล้วลองดูกระเป๋าสตางค์ของเขา และถามว่ามีบัตรเครดิตกี่ใบ มีบัตรกดเงินสดด้วยหรือเปล่า และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ใช้อยู่ รวมทั้งสิ้นกี่รายการ”
โค้ชหนุ่มมองว่า การมีบัตรเครดิตมีประโยชน์หากเจ้าของบัตรสามารถบริหารจัดการการเงินได้ดี และชำระหนี้บัตรเต็มจำนวน โดยไม่มียอดค้าง
“ไม่ได้บอกว่า คนที่มีบัตรเครดิตเยอะจะบริหารเงินไม่ดี ผมเคยเจอคนที่มีบัตรเป็น 10 ใบเลย แต่เค้าใช้กับอันนี้ซื้ออันนั้น ใช้กับอันนี้มีส่วนลด เค้าก็จะเก่งในเรื่องอะไรอย่างนี้ และไม่มีติดค้างด้วย แต่ว่าหลายๆ คนไม่ได้เป็นแบบนั้น หลายๆ คนจะเป็นลักษณะของการหมุนวนอะไรต่างๆ ไป”
โค้ชหนุ่มพูดต่อเกี่ยวกับเรื่องบัตรเครดิตว่า สิ่งแรกที่ต้องการทำคือ การจำกัดวงเงินการก่อหนี้บริโภคของคนไทย
“ครั้งหนึ่งเคยมีการพูดกันว่า คนเงินเดือน 15,000 บาท ไม่ควรมีสินเชื่อเพื่อการบริโภคเกิน 3 เท่า หรือ 50,000 บาท แต่วันนี้ไปดูคนเงินเดือน 15,000 เค้ามีหนี้ มีวงเงินที่สามารถก่อหนี้ได้เท่าไหร่ มันไปไกลมากแล้ว และเรื่องแบบนี้ บางคนอาจจะบอกว่า ก็เปิดบัตรไว้ก่อน ไม่ได้ใช้ก็เปิดไว้ก่อน เปิดแล้วเดี๋ยวได้กระเป๋า แล้วก็ไม่ได้ใช้ เดี๋ยวสิ้นปีก็ปิด ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นเลย ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องนึงที่อาจจะต้องมา Control กันดีๆ ว่าจริงๆ แล้ว กำลังของคนๆ นึงสามารถก่อหนี้บริโภคได้แค่ไหน”
งานซ่อมข้อ 2 สำหรับสถาบันการเงินที่โค้ชหนุ่มฝากโจทย์ไว้ให้คิดคือ การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อ
“ผมคงไม่ได้ก้าวล่วงถึงระบบการคิดคำนวณ เพราะว่าพวกสินเชื่อบริโภคพวกนี้ ธนาคารอาจจะบอกว่า ดอกเบี้ยต้องแพงเพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างบ้านและรถยังมีดอกเบี้ยเป็นเลขตัวเดียว เพราะว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกัน”
ทั้งนี้ปัจจุบัน บัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 16% ต่อปี บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลมีอัตราดอกเบี้ยที่ 25% ต่อปี ซึ่งโค้ชหนุ่มมองว่า ควรจะดอกเบี้ยลงให้ต่ำกว่านี้
“สมมติเรามีบัตรกดเงินสด 1 ใบ เรารูดไป 15,000 บาท แล้วเราก็ผ่อนชำระขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันขั้นต่ำเราจ่ายแค่ 3% ก็ได้แล้ว รูด 15,000 จ่าย 450 ใน 450 เป็นดอก 300 กว่าบาท รูด 15,000 ครั้งเดียวและไม่ต้องรูดอีกเลย จากนั้นจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ แบงก์ชาติก็ทำตัวเลขเองว่าจบ 18 ปี ผมก็เลยมีคำถามว่า ทำไมดอกเบี้ยต้องไปไกลขนาดนั้น เสร็จแล้วพอเอาเข้าโครงการหนี้เรื้อรัง ใครที่ผ่อนอย่างนี้มาตลอด 4-5 ปี เข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง เราจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 15% ต่อปี พอถึงจังหวะจะลดก็ลดได้เนาะ”
โค้ชหนุ่มพูดต่อถึงประเด็นคลินิกแก้หนี้ว่า “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% พอ (คน) ทำทุกอย่างพังหมด ไม่จ่ายหนี้ 120 วัน ผมเรียกเองว่าเป็น หนี้บูด คือ หนี้เสียมัน 90 วัน ทิ้งไว้อีก 30 วันให้บูด พอ 120 วัน เข้า (คลินิกแก้หนี้) ปุ๊บ ดอกเบี้ยเหลือ 3-5%”
โค้ชหนุ่มบอกว่า คนที่จ่าย (หนี้) ตรงมองเรื่องนี้กันตาปริบๆ เพราะธนาคารลดดอกเบี้ยให้คนที่จ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาหรือไม่จ่ายหนี้ แต่สำหรับลูกหนี้ชั้นดีกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ
“คนจ่ายปกติมองตาปริบๆ ทำไมเราไม่ได้แบบนั้นบ้าง เพราะฉะนั้น สิ่งนึงที่ผมอยากให้เกิดขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อโดยเฉพาะบริโภคมันควรจะขยับลงไปได้มั้ย? ผมก็ไม่รู้ต้นทุนหรอกครับ สถาบันการเงินอาจจะบอกว่า ฉันมีต้นทุนนะ ผมก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นโครงสร้างเหมือนกัน แต่ผมว่ามันน่าจะลดได้ เพราะถ้า (ดอกเบี้ย) เงินฝากแค่นี้ Spread เรามันก็สูง และถ้าเป็น MLR ประมาณ 7% บวกลบ และมันไปตรงโน้นได้ยังไง ถ้าบัตรเงินสดดอกเบี้ย 25% ผมขอลงมาแค่ 18% บัตรเครดิตลงมาเหลือ 12% ผมขอใช้คำว่า ในมุมหนึ่งมันอาจจะทำให้หายใจหายคอดีขึ้น ง่ายขึ้น เพราะว่าทำไมดอกเบี้ยเราต้องไปไกลถึงขนาดนั้น ทำไมเราถึงเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมันลงมาได้ ผมเชื่อว่ามันเบา”
ในอีกมุมหนึ่ง หากต้องการ “ซ่อมแบบด่วนๆ จริงๆ” ในฐานะคนที่ตอบปัญหาและให้คำปรึกษาเรื่องหนี้ทุกวัน โค้ชหนุ่มบอกว่า “การลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหา”
“ถ้าวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยลง และเราบอกว่าดอกเบี้ยนโยบายลดลง เดี๋ยว MRR และ MLR ก็ลดลง เพราะต้นทุนก็ต่ำลง ผมบอกว่า ถ้ามันลดลง 0.5% ถามคนผ่อนบ้านดูว่า ตัวเลขผ่อนบ้านมันต่ำลงเหรอ ตัวเลขผ่อนบ้านเท่าเดิม แต่ข้อดีของการลดดอกเบี้ยคือ เงินจะไปตัดต้นได้มากขึ้น แต่การตัดต้นมากขึ้น และทำให้หนี้บ้านหมดไวขึ้น เราต้องพูดแบบไม่โกหกตัวเอง หมดไวขึ้นกี่ปี เพราะเราผ่อนบ้าน 30 ปี เพราะฉะนั้นอานิสงส์จากการลดดอกเบี้ยตรงนี้ มันไม่ได้เห็นแบบที่เดี๋ยวมันจะหมดในวันนี้ พรุ่งนี้”
อย่างไรก็ตาม โค้ชหนุ่มไม่ได้หมายความว่า การลดดอกเบี้ยไม่สำคัญ เพราะในความเป็นจริง การลดดอกเบี้ยเป็นสิ่งสำคัญ และต้องทำ เพราะลูกหนี้จะได้ตัดเงินต้นได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ก็ยังมี ‘ปัญหาสภาพคล่อง’ “ผ่อนบ้านดอกเบี้ยสูง บัตรดอกเบี้ยสูง แต่เวลาเรามอง ชอบมองแยกส่วนกัน ถ้าจะมองในมุมของประชาชน ต้องบอกว่า ถ้าเอารายรับรายจ่ายทั้งหมดมาวางในกระดานของเรา จะเห็นว่าหนี้ทั้งหดพอมันรวมๆ กัน พอมันผ่อนแล้วมันผ่อนไม่ไหว มันติดลบ แล้วก็เริ่มทำให้เราต้องใช้สินเชื่อบริโภค รวมไปถึงนอกระบบ เพื่อจะหมุนและเลี้ยงชีวิตของเรา”
โค้ชหนุ่มชี้ว่า สิ่งที่ถูกต้องคือ หนี้ทุกตัวต้องเล็กลง ผ่อนน้อยลง อาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ได้
“ตอนนี้อาจบอกว่าคุยปรับโครงสร้างหนี้ได้ มีนโยบายแบงก์ชาติ หน้า 1 หลัง 1 ก่อนเป็นหนี้เสีย คุยได้ 1 ครั้ง ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ปรับลดการผ่อนดูซิ”
แต่ในความเป็นจริง คนที่เคยฟังโค้ชหนุ่มเล่าเรื่องนโยบายแบงก์ชาติด้านการปรับโครงสร้างแบบนี้ มาบอกเล่าประสบการณ์ให้โค้ชหนุ่มฟังว่า เมื่อเขาเดินไปธนาคารหวังจะขอปรับโครงสร้างหนี้ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่า “เป็นหนี้เสียก่อนนะคะ แล้วค่อยมาคุย” ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นหากสถาบันการเงินตัดสินใจลดดอกเบี้ยแล้ว โค้ชหนุ่มก็อยากเห็นการทำเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
“กรุณาทำให้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ทำให้กันจริงๆ ลูกหนี้สามารถเข้าไปคุยได้ ในส่วนของผมนั้น ผมพยายามจะบอกทุกคนที่ปรับโครงสร้างหนี้ว่า ถ้าคุณมีหนี้ 3 ตัว มีหนี้ 5 ตัว คุณอย่าไปปรับแค่ตัวเดียว คุณต้องบอกทั้งกระดานว่า บรรทัดสุดท้าย คุณไม่ติดลบ คุณถึงจะรอด คุณมีหนี้ 5 ตัว บ้าน รถ บัตรต่างๆ คุณปรับบ้านได้ แต่ที่เหลือติดลบเหมือนเดิม แล้วคุณทำยังไง? ชีวิตก็ต้องแก้ปัญหาต่อไปมั้ย? หรือว่าจริงๆ แล้ว คือ ต้องคุยทั้งหมด ให้ผ่อนไหว”
โค้ชหนุ่มบอกว่า รู้สึกตกใจมากที่รู้ว่า ปัจจุบัน สถาบันการเงินยังไม่ได้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้แบบที่ควรจะเป็น คือ ช่วยก่อนจะเกิดหนี้เสีย
“เพราะฉะนั้น อยากให้เรื่องนี้เป็นข้อกำหนดเลยว่า เมื่อไหร่ที่ธนาคารให้สินเชื่อ ธนาคารมีหน้าที่ดูแลเรื่องของสินเชื่อของลูกหนี้จบจบสัญญา”
“ผมอยากเห็นปุ่มๆ นึงที่เคาน์เตอร์ มีฝาก ถอน เปิดบัญชี ซื้อเช็ค/กองทุนรวม/หุ้น/ประกัน ช่วยมีอีกอันนึงได้มั้ย ปรึกษาปัญหาสินเชื่อ แล้วเดินเข้าเคาน์เตอร์ ให้เค้าเขียนและกรอก ขอให้มันมีกระบวนการนี้ ให้เค้าได้คุยตอนที่เค้ามีปัญหา ให้เค้ารู้สิทธิ์ของเค้า แล้วเค้าก็จะสามารถจัดการได้ การที่มันจะลดไปเท่าไหร่ ปรับเงื่อนไขได้เท่าไหร่ เชื่อว่าเป็นสิทธิ์ของธนาคารอยู่แล้ว”
โค้ชหนุ่มมองว่า การดำเนินการแบบนี้ ลูกค้าจะได้แจ้งว่าตัวเองมีปัญหาอะไรบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือทันเวลา
นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่สามารถทำได้ในประเทศ คือ การกำหนดดอกเบี้ยตามเครดิตทางการเงิน
“การกำหนดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับเครดิตทางการเงินของคนๆ นั้น เรียกว่า Risk-based Pricing ถ้าคุณเครดิตดี ผ่อนบ้านจนจบ 1 หลัง มีประวัติที่ดีมาก เคยเป็นลูกหนี้และดูแลการเงินของตัวเองมาดีมาก ต่อๆ ไปเมื่อมีการกู้อะไร ควรจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลง”
โค้ชหนุ่มอธิบายว่า การดำเนินการแบบนี้จะทำให้คนที่เครดิตดีจะพยายามรักษาเครดิตของตัวเองไว้ เพราะว่าจะได้ต้นทุนทางการด้านการเงินที่ต่ำ
“หากทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น? คนที่ดี คนที่บริหารเงินดีก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ แล้วคนที่บริหารเงินไม่ดีก็จะได้ดอกเบี้ยที่แพงขึ้นมาหน่อย เรียงตามลำดับกันไป แต่ผมไม่ได้ห่วง ไม่ต้องไปปรับ ไปเพิ่มตรงข้างตรงนี้ เพราะหนักอยู่แล้ว มันควรจะลง แต่มันจะเกิดผลที่หาง คือ บางทีเราอาจจะเจอดอกเบี้ยต่อปีประมาณ 28% 33% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยฝั่งนี้จะไปเหมาะกับคนที่อยู่นอกระบบ เมื่อเทียบกับเค้าต้องเจอดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน 120% ต่อปี หรือ 20% ต่อเดือน 240% ต่อปี”
การกำหนดดอกเบี้ยตามเครดิตทางการเงินจะทำให้ธนาคารมีโอกาสที่จะให้สินเชื่อกับคนที่เครดิตการเงินไม่ดีในราคาที่แพงขึ้นมาเล็กน้อย
“การทำแบบนี้ คนที่ดีก็ต้องได้ของดี แต่การทำแบบนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่วันนี้โดน 120% ต่อปี 240% ต่อปี เค้าลงมาเหลือ 30% ต่อปี เป็น 3% แบบลดต้นลดดอก มันมีโอกาสที่คนนอกระบบจะเข้ามาอยู่ในระบบได้ เราไม่ต้องทิ้งเค้าอยู่นอกระบบว่า ในเมื่อเข้าสถาบันการเงินไม่ได้ ก็ตายอยู่ตรงนั้นแหละ”
โค้ชหนุ่มมองว่า แม้คนทั่วไปจะมองว่า การจ่ายดอกเบี้ย 30% ต่อปีแพงมาก แต่สามารถช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ได้มาก เพราะในความเป็นจริง ภาระหนี้ท่วมของคนกลุ่มนี้หลายคนก็เริ่มจากหนี้ก้อนเล็กๆ ที่ทบทวีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดอกเบี้ยสูง และจำเป็นต้องกู้เพิ่มเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้
โค้ชหนุ่มเสนอว่า สถาบันการเงินควรทำระบบต้นทุนทางการเงินตามความเสี่ยง เพื่อดึงคนที่มีหนี้นอกระบบได้เข้ามาในระบบ เพื่อจ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อเดือนแบบลดต้นลดดอก ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาให้คนกลุ่มนี้ได้
เมื่อดึงคนเป็นหนี้นอกระบบเข้ามาแล้ว สถาบันการเงินก็มีกติกาและสามารถดูแลจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
หมอหนี้ เพื่อประชาชน
โค้ชหนุ่มเล่าว่า ปัจจุบัน คนที่เป็นหนี้มีข้อมูลเยอะมาก สามารถหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ช Google ดูวิดีโอ YouTube ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลวิธีการแก้ไขปัญหา แต่ก็พบว่า หลายๆ ครั้ง คนที่มีปัญหาหนี้หนักมักจะเป็นคนที่ดูแลคนในครอบครัวจำนวนมากๆ ‘ขาดที่พึ่งทางใจ’
“…บางคนมาปรึกษาปัญหาหนี้ เขียนเล่าปัญหาทั้งหมดของตัวเอง และด้านล่างเขียนวิธีแก้ไข และบอกผมว่า แค่อยากให้โค้ชคอนเฟิร์มว่ามันใช่ ผมก็บอกว่า โอเคครับ อดทนนะ หนี้มันจะไม่เหมือนบีบสิวหรือกดรีโมททีเดียวแล้วจบ เท่าที่ดูของคุณอาจจะต้องสู้กัน 1 ปี 2 ปี เพราะฉะนั้นต้องเข้มแข็งและระมัดระวัง”
โค้ชหนุ่มยังแนะนำเหล่า “เดอะแบก” ที่ต้องแบกภาระดูแลคนในครอบครัวหลายคนและต้องเป็นหนี้ว่า “อะไรที่คิดว่าไม่ไหว บอกคนใกล้ตัวเถอะว่า อันนี้ขอไม่แบกบ้าง ให้มันออกไป ไม่งั้นถ้าเกิดว่าคุณยังแบกอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวถ้ามันมีอะไรสะดุดขึ้นมา แล้วมันจะหนัก”
โค้ชหนุ่มเชื่อว่า คนยุคใหม่เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น เพียงแต่อาจไม่มีตัวช่วยที่เป็นคนให้คำแนะนำ เพราะฉะนั้น โครงการ ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย และ ‘คลินิกแก้หนี้’ ของบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM จะมีบริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ลูกหนี้ ซึ่งสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เยอะ
“ความรู้ทางการเงิน” เรื่องใหญ่ที่ต้องสร้าง
โค้ชหนุ่มอธิบายว่า การแก้ปัญหาหนี้และการเงินของคนไทย แค่ ‘ซ่อม’ อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีการ ‘สร้าง’ ด้วย โดยมองว่า ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และหากให้พูดชัดขึ้นอีกนิด อยากใช้คำว่า ‘ความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน’
โค้ชหนุ่มอธิบายว่า ประเทศไทยไม่ได้พูดเรื่องความรู้การเงินส่วนบุคคลตั้งแต่เด็ก พร้อมเล่าประสบการณ์จากการบรรยายให้นักศึกษาที่ใกล้เรียนจบ โดยให้นักศึกษาเขียนในกระดาษระบุค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเอง ก็พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22,000 บาท และนักศึกษาก็รู้ดีว่า ปัจจุบัน เงินเดือนสตาร์ทคือ 15,000 บาท ซึ่งหมายความจะมีรายรับไม่พอรายจ่าย
“เพราะฉะนั้น ถ้าเอาตามความคิดว่าฉันอยากจะใช้แบบนี้ มันไม่มีทางพอ และตรงนี้มันน่ากลัว เพราะถ้าออกมาพร้อมกับความคิดที่ว่า ก็เดี๋ยวเงินมาค่อยจัดการ เดี๋ยวเงินมา แล้วค่อยมาวางแผนกัน มันก็เป็นแบบที่เห็น เราจะเจอคนรุ่นใหม่เป็นหนี้ไว เป็นหนี้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอยากเห็นคือ มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ”
“หนี้พ่อแม่” ไม่ใช่ “หนี้ลูก”
ที่สำคัญอีกอย่างคือ มีความรู้ทางการเงินหัวข้อเฉพาะพิเศษที่คนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ เช่น หนี้พ่อแม่ ซึ่งเหมาะกับบริบทเมืองไทยมาก
“ลูกต้องรู้ว่า หนี้พ่อแม่ไม่ใช่หนี้หนู ถ้าจะช่วยพ่อแม่คือ ช่วยพ่อแม่ผ่อนหนี้ได้ ส่งเงินให้พ่อแม่กินใช้ได้ แต่อย่าไปรับหนี้พ่อแม่เป็นหนี้ของตัวเอง เพราะว่าวันนี้เจอแบบนี้ เอะอะกตัญญู นี่คือเคสจริง พ่อเป็นหนี้ 800,000 บาท ลูกทำงาน 3 ปี กู้สหกรณ์ออมทรัพย์ของบริษัทได้ ก็เลยกู้เงินสหกรณ์ฯ มาปิดหนี้ให้พ่อ พ่อก็บอกว่า ขอบใจมากลูก เบาไปเยอะ เดี๋ยวพ่อจะผ่อนคืนให้ ปรากฏว่า 3 เดือนถัดมา พ่อตาย ของ (หนี้) เข้าตัว…”
โค้ชหนุ่มย้ำว่า การเล่ากรณีศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสอนให้เบี้ยวหนี้ แต่ต้องการให้เข้าใจวิธีการบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม
“ถ้าเกิดไม่ได้โยกหนี้มาที่ลูก แน่นอนว่า คุณพ่อมีทรัพย์สินอะไรก็ต้องไปล้างกับหนี้ตรงนั้นและจบ หนี้จะไม่ตกแก่ลูก ลูกไม่ต้องจัดการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดก อันนี้เป็นกฎหมายอยู่แล้ว แต่พอไม่ได้คิด ไม่ได้รู้ รับหนี้เข้ามา และบางเคสพ่อแม่ไม่ได้จากไป แต่บอกว่าผ่อนไม่ไหว ภาระหนี้ก็มากดทับลูก และไม่ได้กดทับแค่หนี้ แต่ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย”
โค้ชหนุ่มบอกว่า ปัจจุบัน เด็กไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ของพ่อแม่ มีคนอายุ 23-25 ปี ต้องมาแบกรับหนี้ของครอบครัว
“นี่ไม่ได้บอกว่า เราจะให้พ่อแม่เบี้ยวหนี้นะ แต่มีวิธีจัดการที่หนี้ยังอยู่ในชื่อของพ่อ ลูกเข้าไปคุย เข้าไปประนอม เข้าไปจัดการให้สภาวะการผ่อนชำระหนี้ไหว ไม่ใช่ว่า คนนี้ร้องว่าผ่อนไม่ไหว เหนื่อย แกเป็นลูก ช่วยฉันหน่อยซิ ฉันเลี้ยงแกมา”
ทั้งนี้ การจัดการปัญหาหนี้ของพ่อแม่มีวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นหลักสูตรการเงินของคนไทยอาจจะต้องแตกต่างจากที่อื่น
หลักสูตรการเงิน สู่โรงเรียน มหาวิทยาลัยไทย
ปัจจุบัน โค้ชหนุ่มกำลังจัดทำหลักสูตรการสอนวิชาบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับระดับมหาวิทยาลัย โดยเป็นวิชาทั่วไปไม่ได้เป็นรายวิชาเฉพาะของภาคพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือภาคบริหารธุรกิจ เพราะต้องการให้นักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และควรจะรู้ตั้งแต่วิธีการหารายได้
——————————
“อย่าไปถามว่า 15,000 ใช้ยังไงให้พอ แต่ถามตัวเองก่อนว่า ใช้เดือนละเท่าไหร่ถึงจะพอ แล้วมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตโดยการสร้างรายได้ไปให้เพียงพอกับรายจ่ายตรงนั้น”
——————————
“ผมเจอโจทย์ของน้องๆ เต็ม Social Media เลยว่า เงินเดือน 15,000 บาท ใช้ยังไงให้พอ…แต่จริงๆ มันตั้งโจทย์ผิด เราจะชวนเขาคิดแบบนี้ว่า อย่าไปถามว่า 15,000 ใช้ยังไงให้พอ แต่ถามตัวน้องเองก่อนว่า ใช้เดือนละเท่าไหร่ถึงจะพอ แล้วน้องมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตโดยการสร้างรายได้ไปให้เพียงพอกับรายจ่ายตรงนั้น ทุกคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ต้องไม่ให้ชีวิตตัวเองแย่”
โค้ชหนุ่มบอกว่า ความรับผิดชอบทางการเงิน คือ Sense (ความตระหนักรู้ ความเข้าใจ) ทางด้านการเงินแรกที่จะต้องสอนทางการเงิน
ข้อต่อมาคือ การสร้างรายได้ที่ถูกต้อง คือ การสร้างรายได้จากคุณค่า
“คุณค่าคือการทำงาน ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ถ้าน้องมีคุณค่าที่มาก สร้างประโยชน์ให้คนได้มาก มันจะเกิดมูลค่าที่มาก และจะได้รายได้ที่มากพอ เพราะฉะนั้น เราเชื่อในเรื่องของการสร้างคุณค่า ซึ่งอาจจะตรงกับความหมายของ Creative Economy หรืออะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป”
——————————
“การสร้างรายได้ที่ถูกต้อง คือ การสร้างรายได้จากคุณค่า…คุณค่าคือการทำงาน ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ถ้ามีคุณค่ามาก สร้างประโยชน์ให้คนได้มาก มันจะเกิดมูลค่าที่มาก และจะได้รายได้ที่มากพอ”
——————————
โค้ชหนุ่มอธิบายต่อว่า รายได้ไม่ใช่ความมั่งคั่ง แต่รายได้คือการสะสม การสั่งสม “หากใครสามารถหารายได้ได้เยอะถือว่าดี เพราะมีโอกาสที่จะสั่งสมความมั่งคั่ง แต่ถ้าคุณหาได้น้อย ก็ไม่ต้องไปตีอกชกหัว เราก็จะมีเกม มีจังหวะของเรา ที่มันจะสร้างไปได้”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีการสอนเลย และโค้ชหนุ่มมองว่า Sense เรื่องการลงทุนน่ากลัว
“มีเงินไปวางอยู่ที่นึง และให้เงินเติบโตขึ้น นี่คือความคิดเดิมๆ มากเลย แต่จริงๆ แล้ว การลงทุนอาศัยการอุทิศเรื่องความรู้มาก และไม่ใช่ความรู้และเงินเท่านั้นที่ทำให้การลงทุนของเราเติบโต เวลาและประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่คนที่เรียนมหาวิทยาลัย”
ทั้งนี้ โค้ชหนุ่มได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อออกแบบหลักสูตรให้ทุกคนได้เรียน เพราะคิดว่าหลักสูตรแบบนี้ไม่ควรเป็นหลักสูตรเฉพาะสำหรับคนที่มีพ่อแม่ฐานะดี พร้อมจ่ายเงินให้ลูกเรียนได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งสร้างความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้น ดังนั้น จึงตั้งใจทำโครงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มพูน ชิดชอบ ให้การสนับสนุนเต็มที่
ในการทำโครงการให้ความรู้ทางการเงินในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้น โค้ชหนุ่มระบุว่า สิ่งสำคัญคือ Facilitator หรือครู ดังนั้นจึงจัดทำหลักสูตรการเงินให้กับครูด้วย
“เราต้องทำให้ครู Buy In เห็นว่าเรื่องนี้มันโอเค มันน่าสนใจ ตอนนี้ที่ทำไปแล้ว คือ แก้ปัญหาให้กับคุณครูที่กำลังมีปัญหาอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเขาเห็นว่าการเงินโอเค เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ อีกกลุ่มหนึ่ง เราไปสอนวางแผนเกษียณ คุณครูรู้สึกว่ามีความหวังมากขึ้น และเรากำลังจะทำหลักสูตรเพื่อสอนครูจบใหม่ ครูจบใหม่ไม่ควรรู้แค่จดบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ควรจะรู้ไปถึงมูลค่าเงินตามเวลา”
ฝากถึงผู้กำหนดนโยบาย-สถาบันการเงิน-ประชาชน
โค้ชหนุ่มฝากถึงผู้กำหนดนโยบายว่า ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องวางตำรา และลงมาสัมผัสกับชีวิตจริงๆ จะได้เห็นว่า เรื่องการเงินคนไทยกำลังใหญ่โตมาก
“หนี้ครัวเรือนที่พูดถึง 91% ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ ซึ่งมีทั้งหยิบยืมคนรู้จัก บางทีคำว่านอกระบบไม่ได้ร้ายถึงขั้นว่ามีดอกเบี้ยสูง บางคนให้ยืมด้วยสายสัมพันธ์และความรักใคร่ชอบพอกัน ไปจนถึงดอกเบี้ยที่น่าตกใจ ชนิดที่ว่า ถ้าใครหลุดเข้าไปซักครั้ง ไม่รู้ว่าจะออกมายังไง เพราะฉะนั้น อยากให้ลงมาซึมซับตรงนี้ให้มากขึ้น เราจะได้ไม่ต้องเถียงกันแค่ดอกเบี้ย เพราะกล้าพูดเลยว่า ดอกเบี้ยจะไม่ได้แก้ปัญหาดอกเบี้ยแน่นอน แต่มันคือเรื่องของความเข้าใจปัญหา เรื่องการยุติสภาพคล่องที่กำลังมีปัญหาหนัก เพราะว่าถูกมะรุมมะตุ้มหลายทาง”
ขณะเดียวกัน ต้องการให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับ ‘ความรับผิดชอบ’
“ในระยะยาวๆ ผมเชื่อว่าสถาบันการเงินอยู่ได้อยู่แล้ว มีกำรี้กำไรอยู่แล้ว แต่อยากฝากเรื่องความรับผิดชอบที่เราตั้งใจกัน ระมัดระวังเรื่องการใช้สื่อ อย่างเช่น กู้เท่านั้น ผ่อนแค่เท่านี้เอง หรือการที่เราให้สินเชื่อบริโภค โดยที่เราไม่ได้ควบคุมเรื่องของอัตราดอกเบี้ย อยากให้พอเหมาะพอสม ผมเชื่อว่า ยังไงสินเชื่อมันก็ไม่หายไปจากโลกหรอก เพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะสนับสนุนชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ตอบโจทย์ชีวิตในหลายๆ ด้าน เพราะฉะนั้น มันยังมีประโยชน์อยู่แน่นอน แล้วก็ไม่หายไป”
ท้ายที่สุด สำหรับประชาชนคนทั่วไป โค้ชหนุ่มอยากเห็นมีความรู้ ความรับผิดชอบ และวิสัยทัศน์ “เรื่องเงิน” มากขึ้น
“ในมุมแรกอยากให้ศึกษาเรื่องการเงินกันเยอะๆ เพราะว่า เงินไม่ใช่แค่มี แล้วใช้มัน ทำไมจะไม่รู้เรื่องเงิน ก็มีให้เยอะซิ มันไม่ใช่แค่นั้น ในชีวิตจริงอาจมีคนที่หาเงินได้น้อยกว่าท่าน แต่มีเงินเก็บมากกว่าท่าน ชีวิตของเราอยู่กับเงินตลอด ดังนั้น เวลาบริหารจัดการเงินมันคือความมีสติ และไม่ใช่มีสติเฉพาะวันนี้ สิ่งที่ต้องมี คือ ความรู้การเงิน มีความรับผิดชอบด้านการเงิน และกรุณามีวิสัยทัศน์ทางการเงินด้วย ความหมายคือ คนทุกคนเวลาบริหารจัดการเงิน มองไปข้างหน้า เรื่องแบบวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤต Hamburger Crisis ปี 2551 เรื่องแบบ Covid จะมาอีกแน่ๆ และวันนั้น เราจะเป็นใคร?”
โค้ชหนุ่มฝากเตือนสติว่า ในวันที่นโยบายการการเงิน สถาบันการเงินยังไม่ได้เอื้อกับประชาชนคนทั่วไปมากนัก สิ่งที่คนเราต้องมีคือ ‘ภูมิคุ้มกันทางด้านการเงิน’ ต้องคิดและมองวางแผนไปข้างหน้า
“ความรู้ทางการเงินคือ A Must ที่ต้องมี อย่างน้อยที่สุด เชื้อโรคทางการเงินยังเยอะไปหมด ขอให้ท่านมีภูมิคุ้มกันนะครับ”