×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

ประเทศไทย ทศวรรษที่สาบสูญ?

430

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

…เศรษฐกิจไทยรอบนี้ ทำไม ‘ซึมลึก–ซึมยาว’ ?

 

…ทำไม? เศรษฐกิจเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ถึงแซงหน้าเราไปไกล 

 

…ไทยกำลังติดกับดัก Lost Decade หรือที่แย่กว่านั้นกำลังจะกลายเป็น ‘คนป่วยแห่งอาเซียน’ หรือไม่?

 

Lost  Decade คืออะไร?

 

Lost Decade คือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักหรือเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลานานอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น ที่เคยประสบปัญหานี้ในช่วงทศวรรษที่ 1990s หลังจากเผชิญกับฟองสบู่แตกทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น

 

ไทยกำลังอยู่ในจุดไหน?

 

ช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากประเทศรายได้ต่ำสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเจเนอเรชัน ข้อมูลจาก World Bank โชว์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปีในช่วงบูมปี 1960-1996 และ 5% ในช่วง 1999-2005 ถึงแม้ว่าไทยจะเผชิญกับวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ในช่วงนี้

 

สิ่งหนึ่งที่ไทยในอดีตทำได้ดีมากเช่นกันคือ ความยากจนในไทยลดลงจาก 58% ในปี 1990 เหลือเพียง 6.8% ในปี 2020 

 

แต่ในช่วงหลังจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงมาเหลือเฉลี่ย 3.2% ต่อปี ระหว่างปี 2007-2016 ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตต่ำเกือบจะที่สุดในอาเซียน และยิ่งในช่วง 7 ปีล่าสุด คือ ปี 2017-2023 การเติบโตยิ่งต่ำลงมาเหลือเพียงปีละประมาณ 1.5% พร้อมกับการเผชิญวิกฤตโควิด-19

 

ไทยเข้าสู่ Lost Decade แล้วหรือยัง?

 

เมื่อปี 2562 ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ University of California San Diego (UCSD) เคยเขียน Paper เชิงวิชาการในหัวข้อ The Thai Economy: A Lost Decade? ซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจ

 

ในมุมมองของ ดร.กฤษฎ์เลิศ หากถามว่าประเทศไทยเข้าสู่ Lost Decade แล้วหรือยัง คำตอบที่ได้ดูเหมือนว่าจะเป็น ‘ใช่’ ไม่ว่าจะมองในมุมของการเปรียบเทียบกับการเติบโตของเราในอดีต หรือการเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน 

 

ถามว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเผชิญกับ Lost Decade?

 

หลายคนอาจจะนึกถึงปัญหาของการเมืองในประเทศหรือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ปัญหาของไทยดูเหมือนจะหยั่งรากลึกกว่านั้น และเริ่มส่งสัญญาณย่ำแย่มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ 

 

พื้นฐานที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยเป็นเพราะการขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สินค้าที่ล้าสมัย สังคมผู้สูงอายุ ระบบการศึกษาที่มีปัญหา และความเหลื่อมล้ำสูง ส่วนปัญหาทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

คำถามที่ตามมาต่อจากนั้นคือ แล้วเศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างพวกเรามากน้อยแค่ไหน? 

 

ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2558 GDP ของประเทศไทยเติบโตสะสมเพียง 35% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เปิดกว้าง และเน้นการส่งออกเช่นเดียวกัน มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตถึง 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากบรูไนที่เติบโตช้าที่สุดในอาเซียน ประเทศอย่างมาเลเซียก็มีการเติบโตสะสมอยู่ที่ 53% 

 

หากเราสมมติว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราเดียวกับมาเลเซีย GDP ต่อหัวของประเทศไทยจะสูงกว่าที่เป็นจริงในปี 2558 ถึง 23,307 บาท รายได้ที่ ‘หายไป’ นี้คิดเป็น 12% ของรายได้ต่อหัวที่คนไทยโดยเฉลี่ยได้รับในปีนั้น

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออก

 

การส่งออกเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด บทความหนึ่งจากความคิดเห็นส่วนตัวของทีมเศรษฐกิจมหภาคของ ธปท. บอกว่า หากย้อนกลับไปมองเมื่อ 20 ปีก่อน ในช่วงปี 2544-2554 การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 7% และมีน้ำหนักต่อการเติบโตของ GDP กว่า 80% ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเติบโตลดลงเหลือเพียง 1.2% และมีบทบาทต่อการเติบโตของ GDP ไม่ถึง 30% ในช่วงปี 2555–2566

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ปัญหามาจาก 5 ข้อหลักๆ ได้แก่ 

 

1. สินค้าส่งออกของไทยยังติดอยู่กับโลกเก่าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกน้อยลง ที่ชัดเจน เช่น Hard Disk Drive (HDD) หรือแม้แต่สินค้าเกษตรที่เราเคยเป็นเบอร์หนึ่งอย่างข้าว ปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งอีกแล้ว 

 

2. สินค้าส่งออกของไทยเชื่อมโยงกับการค้าโลกน้อยลง จากบทบาทของไทยที่มีจำกัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์น้อยมาก เพียงช่วงปลายน้ำที่มีความซับซ้อนในการผลิตต่ำและสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำกัด

 

3. เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีนอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าเพื่อเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2563 ที่จีนดำเนินยุทธศาสตร์ Dual Circulation เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มบทบาทของสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลก ไทยจึงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงจากความต้องการนำเข้าวัตถุดิบของจีนที่ลดลง และผลกระทบทางอ้อมผ่านการแข่งขันด้านการค้า

 

4. ความท้าทายจากปัญหา Climate Change และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ผลผลิตการเกษตรที่แย่ลงจากปัญหา Climate Change และต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น 

 

5. นโยบายสนับสนุนการลงทุนและการส่งออกที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่

 

ไทยอาจกลายเป็น ‘คนป่วยแห่งอาเซียน’ หากไม่เร่งรักษา

 

พี่เตา – บรรยง พงษ์พานิช เคยเขียนบทความไว้ตั้งแต่ปี 2558 ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย “ไม่ใช่อาการป่วยธรรมดา ไม่ใช่แค่เป็นหวัดปวดหัว แต่เป็นโรคเรื้อรังร้ายแรง” 

 

แล้วถามว่าเราควรจะทำอย่างไรถึงจะพ้นอาการป่วยเรื้อรั้งไปได้? 

 

คำตอบของพี่เตาชัดเจนคือ “ปฏิรูป ทำสิ่งที่ควรทำ ทุกคนพูดถึงการปฏิรูปมากมายหลายสิบด้าน จัดการกับส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปลดปล่อยทรัพยากรที่ถูกใช้งานไม่ดีออกมา และนั่นคือการ ลดรัฐ ลดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ กดดันให้มีประสิทธิภาพแลตัดวงจรคอร์รัปชัน” 

 

ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เราต้องสร้างสังคมที่เปิดกว้าง, ยุติธรรม, และเท่าเทียม เราต้องลงทุนในคนรุ่นใหม่, สร้างโอกาสให้ทุกคน, และส่งเสริมนวัตกรรม

 

อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราในวันนี้ เราจะเลือกที่จะอยู่กับปัญหาเดิมๆ หรือจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง?

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats