ปั้นเศรษฐกิจไทย ให้เป็น AI Economy
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“เราคงไม่ต้องสร้าง AI ตั้งแต่ต้นน้ำ แต่เราเข้าใจ AI พอ และใช้ AI ให้เป็น ลดความเสี่ยงมันได้ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับจุดแข็งของประเทศ ในอุตสาหกรรมที่เราเป็นแนวหน้า ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันมี Room ให้เล่น เรามีศักยภาพเพียงพอ”
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
แชร์ประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยีและ AI ในสหรัฐฯ
หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากเมืองไทย ดร.ทัดพงศ์ก็เหินฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงก้าวสู่แวดวงธุรกิจเทคโนโลยี เริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ของ Bloomberg บริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้านการเงิน ที่รู้จักกันดีคือ Bloomberg Terminal ซึ่งเป็นหน้าจอและซอฟต์แวร์ที่แสดงผลข้อมูลตลาดหุ้นและทุกสินทรัพย์ เพื่อให้ผู้ใช้งานนำข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
“ผมอยู่ในทีมที่พัฒนาแพลตฟอร์มที่ส่งข้อมูลระดับมหาศาลอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ Time Sensitive และ Critical มาก เราเป็นทีมที่ต้องทำให้ Infrastructure และซอฟต์แวร์ต่างๆ ในแต่ละระดับทั้ง Backend และ Frontend สามารถส่งข้อมูลไปมาเข้าถึงลูกค้าปริมาณมหาศาลทั่วโลกได้ในแบบเรียลไทม์”
งานดังกล่าวทำให้ ดร.ทัดพงศ์ได้ทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของตลาดหุ้นต่างๆ โดยหลังจากนั้นได้ย้ายไปร่วมงานกับ Google อยู่ในทีมของ Google Search ซึ่งทำเทคโนโลยีให้กับคนทั่วโลกใช้ และที่นี่เองได้จุดประกายเรื่อง AI (Artificial Intelligent) ให้กับ ดร.ทัดพงศ์
“AI ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีมาตั้งแต่ 1950 แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดยุคสิ้นฤดูหนาวของ AI หรือ AI Winter คือบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เริ่มเห็น Potential ของ AI และเริ่มให้ความรู้ด้าน AI แก่พนักงานทั้งบริษัท มีการจัดคอร์สเรียนภายในด้าน AI เรียนฟรี ให้เอา AI ไปลองเล่นฟรี แต่สุดท้าย คุณเอา AI เข้าไปทำให้ Product คุณ งานของคุณดีขึ้นได้อย่างไร ผมก็เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในตอนนั้น”
ในช่วงดังกล่านั่นเองที่ ดร.ทัดพงศ์มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่อง AI และนำ AI ไปทำให้ Google Search ฉลาดขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดแรกที่ ดร.ทัดพงศ์ได้เข้าถึง AI
หลังจากใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ นาน 12 ปี ดร.ทัดพงศ์จึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยร่วมงานกับ KBTG (Kasikorn Business Technology Group) ที่มีหน้าที่ทำระบบ IT ให้กับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ นอกจากนี้ KBTG ก็ยังมีบทบาทสร้างนวัตกรรมและค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างบริการธนาคารที่เป็นเลิศในอนาคต ไม่ใช่แค่ปัจจุบันเท่านั้น
AI และ Google Search
ดร.ทัดพงศ์เล่าว่า AI ช่วยในการพัฒนา Google Search ได้มาก พร้อมอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของ Google Search ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ดูดข้อมูลจากทั่วโลก 2. นำเนื้อหาต่างๆ มาสร้างเป็นสารบัญ และ 3. นำข้อมูลเข้าไปอยู่ใน Google.com เพื่อให้คนได้ค้นหาข้อมูล
“การ Search สามารถเอา AI มาใช้ได้หลายส่วนมาก เช่น การดูดข้อมูลทั่วโลก ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก แม้แต่ Google ก็ดูดไม่หมด ประเด็นคือ Google จะรู้ได้ยังไงจากแค่ URL ว่า Content นี้เป็น Content ที่ดีมีประโยชน์ ไม่ใช่สแปม เราก็ต้องใช้เทคนิคด้าน AI ในการตรวจสอบ URL หรือ Link สามารถระบุได้ว่า Link ไหนเป็นสแปมไม่ต้องดู จึงสามารถใช้ AI สำหรับการบริหารทรัพยากรในเรื่องของการดูดข้อมูลมา”
นอกจากนี้ ยังนำ AI ไปช่วยการจัดทำสารบัญ และ Serving โดยใช้ AI ช่วยในการตัดสินใจว่า ควรนำเนื้อหาประเภทใดมาทำสารบัญ และควรนำเสนอเนื้อประเภทใดให้ลูกค้ากลุ่มไหน เพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด
3Cs ที่ทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเทคโนโลยี
ดร.ทัดพงศ์อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกมี 3 ประการ หรือ 3Cs ได้แก่
1. Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมสังคมอเมริกัน
“Culture ของเขาสนับสนุนให้คนกล้าตั้งคำถาม กล้าคิดต่าง Culture เขาและเรามีข้อดีข้อเสียต่างกัน จุดแข็งของ Culture เขาคือ Respect Opinion หรือเคารพความคิดเห็น เคารพความเป็นปัจเจกบุคคล คุณสามารถถามคำถามบางอย่างได้ ตราบใดที่คำถามนั้นไม่ได้ไป Attack ใคร แต่เป็นการตั้งคำถามและชวนทุกคนคิด ทุกคนได้รับโอกาสในการถามคำถามเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือองค์กร เขาจะ Expect ให้คุณตั้งคำถาม ทำให้เรากล้าถามในสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะมี และน่าจะดี มีประโยชน์”
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีวัฒนธรรมที่เชียร์ให้คน ‘ลงมือทำ’ หรือเรียกว่า Bias Toward Action
“ถ้าเป็นบ้านเรา ต้องระมัดระวัง อย่าวู่วาม อย่าผลีผลาม แต่ตรงนั้นบอกว่า มีอะไรให้เน้น Action ไว้ก่อน และดูว่าสุดท้าย Action เหล่านั้นกลับเข้ามาและมีผลยังไง อันนี้ทำให้คนสามารถจะลองสิ่งใหม่ๆ ได้ กล้าลองสิ่งใหม่ๆ ได้”
นอกจากนี้ จะมีการทดลองและการวัดผลว่าสุดท้าย เมื่อทดลองทำแล้วได้ผลลัพธ์อย่างไร สามารถนำผลลัพธ์ดังกล่าวมานำเสนอให้คนอื่นเห็นและรับรู้
“บางบริษัทมีนโยบายว่า คุณต้องมีเวลา 20% ในการลองสิ่งใหม่ หัวหน้าห้ามห้ามคุณด้วย ถ้าคุณอยากทำ Project ใหม่ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ หัวหน้าห้ามคุณไม่ได้ เพราะมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการทดลอง การค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเทคโนโลยีและ AI จำเป็นมากที่จะต้องมีกระบวนการเหล่านี้”
2. Change กล้าที่จะเปลี่ยน
คุณทัดพงศ์อธิบายว่า ไม่ได้แปลว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงว่า หากรู้ว่ามีทางใหม่ที่ดี จะกล้าเปลี่ยนหรือไม่
“บางครั้งเรารู้ว่าเราเคยทำแบบนี้มาเป็นปีๆ แล้ว เรารู้ว่ามีทางใหม่ที่น้องเค้าบอกว่า Work กว่า และมีหลักฐานพิสูจน์ บริษัทพร้อมที่จะเปลี่ยน พร้อมที่จะ Adapt พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน Process ให้เอาความรู้ใหม่ๆ เอาเคล็ดลับใหม่ๆ เข้ามา Scale ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ในองค์กรได้ เช่น การ Reorganization การปรับ Process ที่โน่นทำเป็นว่าเล่น ปีต่อปี แต่ละปีมีการปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการหลายครั้ง”
3. Collaboration ความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ทั้งมหาวิทยาลัย องค์กร บริษัท ภาครัฐ และหน่วยวิจัยที่ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมาก
“ความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดการส่งต่อของความรู้ สามารถทำให้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากไอเดียจนกระทั่งถึงผลิตภัณฑ์ เป็น Business ทำได้ง่ายขึ้น คุณมีไอเดียที่ดี คุณเข้าไป มีแต่ไอเดีย คุณมี Conviction คุณไปหาทุกอย่างข้างหน้าได้ ทั้งเงินทุน คนที่จะมาร่วมงานด้วย Mentor ทุกอย่างพร้อมที่คุณสามารถหยิบขึ้นมาประกอบเป็นนวัตกรรมใหม่หรือบริษัทใหม่ได้”
——————————
“3Cs คือ Culture-Change-Collaboration ทำให้อเมริกาเหมือนเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี”
——————————
ก้าวสู่มหาอำนาจโลกด้วย AI Economy
แม้ว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์อาจจะมีหลายนิยาม แต่ ดร.ทัดพงศ์บอกว่า “นิยามที่คนส่วนใหญ่พูดถึงแบบเดียวกันคือ Artificial Intelligence ปัญญาประดิษฐ์ คือ เทคโนโลยีอะไรก็ได้ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดเหมือนมนุษย์…อะไรก็ตามที่ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้เร็ว สามารถสื่อสารภาษามนุษย์ได้ คิดได้เร็ว วิเคราะห์ได้เร็ว ตัดสินใจได้เร็ว ทุกอย่างเรียกรวมว่า AI หมด”
ทุกวันนี้ AI มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากที่ AI ในยุคแรก คือ การที่คอมพิวเตอร์คิดเร็วกว่าคน โดย ดร.ทัดพงศ์ยกตัวอย่าง การเล่นหมากรุก ที่ AI สามารถคิดล่วงหน้า 200-300 ตา นำหน้าคน และสามารถเล่นชนะคนได้ ซึ่งคนก็จะบอกว่า คอมพิวเตอร์ฉลาด
ในยุคต่อมา ก็สามารถทำให้ AI พัฒนาความรู้จากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปมากขึ้น ทำให้ AI เรียนรู้ได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคของ Machine Learning
ดร.ทัดพงศ์อธิบายต่อว่า ในยุคถัดมาคือยุค Deep Learning ซึ่ง AI เข้าใจและรับรู้ภาพได้เหมือนกับมีตาของตัวเอง โดยสามารถแยกความแตกต่างของภาพได้ สามารถขับรถแทนมนุษย์ได้ และในยุคปัจจุบันคือยุคของ Generative AI ซึ่ง AI มีความสามารถคิดสร้างสรรค์ และสื่อสารเป็นภาษาที่มนุษย์เข้าใจ
ดร.ทัดพงศ์ชี้ว่า การที่คนทั่วไปสามารถสั่งการ AI ให้ทำงานด้วยภาษามนุษย์นั้น ถือเป็นตัวกระตุ้น (Trigger) โดย Generative AI ถูกจัดให้เป็น GPT ตัวที่เรียกว่า General-Purpose Technology หรือเทคโนโลยีอเนกประสงค์ เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนใช้งานได้ สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และทำงานได้อเนกประสงค์
“จุดนี้ไม่ใช่เรื่องของคน 1 คน หรือองค์กร 1 องค์กร แต่เป็นเรื่องของมหภาค เป็นการคุยกันในเชิงของเศรษฐศาสตร์ว่า ถ้ามันมีความสามารถแบบนี้ สามารถเข้าไปถึงคนหมู่มากได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก จะเกิดอะไรขึ้นกับแต่ละเศรษฐกิจ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง Landscape ของผู้ชนะ ผู้แพ้หรือเปล่า”
ดร.ทัดพงศ์ยกตัวอย่างประกอบว่า เมื่อก่อนอาจมีการบอกว่า ประเทศที่มีกำลังทางเศรษฐกิจคือ คนที่มีปัญญาสูง แต่ถ้าทำให้คนทุกคนมีความฉลาดเทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ คิดเร็วเหมือนคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น ต่อไปประเทศไหนที่มีคนเยอะมาก และ Upskill คนเหล่านี้ให้มีความสามารถระดับสูงได้ ก็อาจจะเป็นมหาอำนาจต่อไปในอนาคตได้ เช่น ประเทศกลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วยสมาชิกดั้งเดิมคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ก็จะกลายเป็นกลุ่มมหาอำนาจได้
“ถ้าพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์ คือ การที่เรามองระบบองค์รวมของประเทศหรือของโลก จากการเอาปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของทั้งหมด เพิ่มความอยู่ดีกินดี เพิ่ม Wellbeing และทำให้ทุกคนพัฒนา Skill และประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นระดับคน ระดับองค์กร หรือระดับประเทศได้”
ดร.ทัดพงศ์อ้างอิงข้อมูลจาก IDC องค์กรด้านข้อมูลการตลาดระดับโลกว่า ภายในปี 2030 AI จะสร้างมูลค่าเท่ากับ 3.5% ของ GDP โลก ซึ่งหากคิดเป็นตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
AI จะเปลี่ยนอะไรบ้าง?
เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในมิติของเศรษฐกิจและธุรกิจมากขึ้น ดร.ทัดพงศ์มองว่า ถ้าต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับอาจเริ่มจากการมองในเชิงปัจเจกบุคคล ด้วยคำถามที่ว่า การเข้ามาของ Generative AI เปลี่ยนคนแต่ละคนอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน มีน้อยคนมากที่ไม่ได้ใช้ ChatGPT หรือผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน
“ต่อไปประสิทธิภาพของคุณจะสามารถทำงานบางอย่างได้ในเวลารวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการสร้าง Content ใหม่ การแต่งบทความ การเขียนจดหมาย การสรุปความ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมาก”
เมื่อ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์แล้ว ก็จะส่งผลให้โครงสร้างงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย
“จากเดิมเรามีงานอยู่ 100% AI จะมาช่วยเราได้ 30-40% บางตำแหน่งอาจบอกว่า AI กินเข้าไป 80% บางตำแหน่ง 100% เลย ซึ่ง 100% นี้ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ AI ทำแทนเราได้หมด และเร็วกว่าเรา 10 เท่า เราจะอยู่ยังไง เราก็ต้องเปลี่ยนเนื้อหางาน พัฒนา Skill บางอย่าง หรือ Role บางอย่างที่ AI ยังทดแทนไม่ได้ เช่น เรื่องของ Soft Skill และPersonal Touch หรืองานที่ต้องอาศัยความคิดที่ซับซ้อนมากๆ ที่ AI ยังเข้าไม่ถึง”
ดร.ทัดพงศ์มองว่า AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคด้วย เพราะงานบางงานอาจจะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลกอยู่แล้ว เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงงาน
นอกจากนี้ AI จะทำให้ระดับเศรษฐกิจดีขึ้น เช่น ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนลดลง
“เมื่อก่อนเราบอกว่า คนๆ นี้ไม่ฉลาด เขียนเรียงความไม่ได้ สรุปความไม่ได้ แต่งจดหมายก็ไม่เป็น แต่ต่อไป ทุกคนก็ทำได้เท่ากัน ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับคนที่ทำงานหลายบทบาท ที่เดิมอาจทำงานแบบ White Collar ไม่ค่อยได้ แต่ตอนนี้จะเริ่มทำได้แล้ว และต่อไป คุณอาจจะสามารถเขียนโปรแกรมได้ด้วย คุณแค่บอกภาษาคนให้ AI และ AI ก็ Generate Code ที่เป็นคอมพิวเตอร์ให้ได้ โดยคุณไม่ต้องเรียนเขียนโปรแกรม พูดง่ายๆ ว่า ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง”
ดร.ทัดพงศ์ตั้งคำถามว่า AI จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นได้หรือไม่?
“สิ่งสำคัญมาก คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการ เพราะ AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ 100% ของกระบวนการ งานบางส่วนจะทำให้ Automate หรือว่า Augment หรือว่าเข้ามาทำงานร่วมกับคนได้ แต่ถ้าเรายังทำกระบวนการแบบเดิมอยู่ ก็อาจทำให้ติดๆ ขัดๆ สุดท้ายกลับไปภาพที่ว่า เราต้องคิดเรื่องของการปรับเปลี่ยนกระบวนไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร หรือระดับประเทศ ถ้ามี AI เข้ามาแล้ว คนจะทำงานร่วมกับ AI ยังไง ให้เข้ากันได้”
หายนะจาก AI
หลายคนเตือนว่า การพัฒนาแบบไร้ขีดจำกัดของ AI อาจจะสร้างความเสี่ยง ความท้าทาย และอาจถึงขึ้นกลายเป็นหายนะได้ ดร.ทัดพงศ์มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ทุกเทคโนโลยีย่อมมีความเสี่ยง เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นก็อาจจะมีผลเสียได้เช่นกัน เช่น ยุคแรกๆ ที่คนมีไฟฟ้าใช้ ก็มีคนเสียชีวิต และมีคนถูกไฟดูดจำนวนมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า ทุกอย่างมี Downside
“หลักๆ ผมคิดว่าเราต้องเดินทางสายกลาง คือ เราต้อง Aware ว่า มันมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่า พอมีผลเสียแล้ว เราจะเลิกใช้ ต้องเป็นลักษณะที่ว่า เราจะต้องทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เราเห็น Potential มัน เรารู้มีบางอย่างที่เรายังไม่รู้ เราจะอยู่กับมันยังไง เราจะลองมันยังไง เพื่อทำให้เราสามารถจะสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่มันสอดคล้องกับเทคโนโลยีตัวนี้ เสริมจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน ปิดความเสี่ยงได้”
ดร.ทัดพงศ์เล่าว่า เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับรัฐมนตรีเทคโนโลยีของต่างประเทศท่านหนึ่ง ซึ่งท่านพูดในเชิงว่า คนเราบังคับควบคุมความเสี่ยงทั้งหมดไม่ได้ ไม่สามารถ Control ได้ แต่สามารถจำกัดความเสี่ยงหรือ Contain ได้ เพราะฉะนั้นต้องสร้างสิ่งแวดล้อม หรือกรอบการทำงาน หรือแซนด์บ็อกซ์ เพื่อใช้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึง AI ในพื้นที่จำกัด ที่สามารถจำกัดความเสี่ยงได้
“เมื่อลองไปเยอะๆ แล้ว เราจะรู้ว่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไง เราถึงจะออกกฎมาควบคุมมันได้ มา Govern มันได้ เพราะฉะนั้น ในจุดที่เรายังไม่รู้อะไรทั้งสิ้น หรือยังรู้น้อยมากๆ การปิดทุกอย่างไม่ใช่ทางออก แต่ทางออกคือ เราจะลองและเรียนรู้มันยังไง ทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้น เหมือนที่เราเข้าใจไฟฟ้า ที่ต้องมีฉนวน หม้อแปลง”
——————————
“ในจุดที่เราไม่รู้-รู้น้อย การปิดทุกอย่างไม่ใช่ทางออก แต่ทางออกคือ จะลองและเรียนรู้ยังไง”
——————————
ในฐานะคนที่ทำงานด้าน AI ดร.ทัดพงศ์มองถึงความเสี่ยงของ AI ในปัจจุบันและอนาคตในหลายด้าน เพราะคนเราอาจมีความคาดหวังกับ AI เยอะเกินไป แต่ AI อาจทำไม่ได้แบบที่คิดไว้ เช่น คิดว่า Generative AI หรือ GPT รู้ทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่รู้ หรือให้ข้อมูลผิด
“มีสิ่งที่เรียกว่า AI Hallucination บางที AI ไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง แต่ทำทีเหมือนเข้าใจ และคนเอาสิ่งที่ AI บอก คิดว่าเป็นจริงเสมอ ก็เอาไปทำต่อเป็นตุเป็นตะก็เกิดความเสียหาย”
ความเสี่ยงด้านต่อมา คือ การใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น บางคนเอา AI ไปหลอกลวงคนอื่น ทำ Deepfake หลอกลวงคน
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในแง่ Data Privacy ซึ่ง ดร.ทัดพงศ์อธิบายว่า “การเอา AI ต้องมี Data เราไปเอา Data มาถูกกฎหมายหรือเปล่า ขอมาใช้หรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วแอบไปฉกมา ไม่ได้ขอเค้า ลิขสิทธิ์ก็เหมือนกัน บางที AI วาดรูปขึ้นมา แต่ปรากฏว่า AI ใช้รูปลายน้ำของจิตรกร เรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่กำลังเกิดดีเบตกันอยู่มาก”
อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ AI Security เพราะ AI ก็สามารถถูกหลอกได้เช่นกัน
“คนเก่งๆ สามารถหลอก AI ให้พูดออกมาผิดได้เหมือนกัน สามารถบังคับ AI แสดงผลแบบที่ต้องการ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อเราเริ่มใช้ เราจะเริ่มเห็น และเริ่มหาทางแก้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และการใช้นโยบาย ซึ่งก็เหมือนกับเทคโนโลยีทั่วๆ ไป ที่ต้องมีการปรับปรุงเรื่อยๆ”
เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีไร้พรมแดน ความรับผิดชอบดูแลความเสี่ยงต่างๆ ไม่ได้เป็นของคนสร้างเท่านั้น แต่คนนำ AI ไปใช้ก็ต้องช่วยกันดูแลด้วยเช่นกัน
ดร.ทัดพงศ์ชี้ว่า ประเด็นสำคัญคือ การทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้าใจ AI มากขึ้น และทำให้ไม่ควบคุม AI 100% แต่ต้องจำกัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจาก AI และเรียนรู้จากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้รู้หลายคนแนะนำว่า “อย่าควบคุมเทคโนโลยี แต่ควบคุม Use Case”
AI Economy ‘ไทย’ อยู่ขั้นไหน?
สำหรับประเทศไทย ดร.ทัดพงศ์บอกว่า จากประสบการณ์การทำงานกับคนเก่งในแวดวง AI คิดว่าประเทศไทยมีคนเก่งด้านนี้อยู่พอสมควร แต่หากมองในภาพรวมทั้งหมด ก็จะต้องพิจารณาจากผลวิจัย
เช่น ดัชนีความพร้อมทางด้าน AI หรือ AI Preparedness Index ซึ่งจัดทำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยประเมินจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น Network, Data, Digital 2. ทรัพยากรมนุษย์และนโยบายตลาดแรงงาน 3. การประยุกต์ใช้และนวัตกรรม การส่งเสริมและการนำไปใช้กับ Use Case ต่างๆ และ 4. กฎหมายและระบบควบคุมจัดการ (Governance)
“มีการจัดอันดับ 174 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยอยู่อันดับ 50 กว่าๆ ถ้าเทียบกับอาเซียนด้วยกัน เราก็แพ้มาเลเซียและสิงคโปร์ แต่เรายังนำอินโดนีเซียอยู่ สิงคโปร์อยู่อันดับ 1 ในเรื่องความพร้อม AI เค้ามีทุกอย่าง ชนะอเมริกาอีกด้วย”
ดร.ทัดพงศ์บอกว่า เมื่อมองในมิติของผลการศึกษาแล้ว ต้องให้ความสนใจกับคำแนะนำจากผลการศึกษาดังกล่าวด้วย
“เขาบอกว่าต้องโฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐานก่อน คือ Digital Infrastructure และเรื่องของคน ถ้า 2 ตัวนี้แน่นแล้ว จะเริ่มไปมองที่ Governance และเรื่องของ Use Case มากขึ้น”
โดยส่วนตัวแล้ว ดร.ทัดพงศ์คิดว่า ไทยมีการศึกษาเรื่องนี้ทุกภาคส่วน โดยไทยมียุทธศาสตร์ AI ระดับชาติ ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยไทยมีเป้าหมาย 5 ปี (ปี 2022-2027)
“เราอยากให้ประเทศไทยมี Ecosystem ด้าน AI ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการอยู่ดีกินดีของประชาชน ผมคิดว่าวัตถุประสงค์มี 3 ส่วน คือ 1. พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและทรัพยากรบุคคล 2. เพิ่มประสิทธิผลทางการเศรษฐศาสตร์ และ 3.การพัฒนาความอยู่ดีกินดีและสังคมโดย AI”
สำหรับยุทธศาสตร์ระดับชาติด้าน AI ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยุทธศาสตร์การพัฒนาคน ยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้ของ Responsible AI ยุทธศาสตร์ของการใช้งาน (Use Case) และยุทธศาสตร์การร่วมกับภาคเอกชน
ขณะเดียวกันมีการผลักดันให้เกิดการใช้งาน AI ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ระยะที่ 1 หรือกลุ่มนำร่อง ได้แก่ 1.การใช้งานและบริการภาครัฐ 2. เกษตรและอาหาร 3. การแพทย์และสุขภาวะ และระยะที่ 2 ได้แก่ 4. พลังงานและสิ่งแวดล้อม 5. การเงินและการค้า 6. โลจิสติกส์และการขนส่ง 7. ความมั่นคงและปลอดภัย 8.ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9. การศึกษา และ 10. อุตสาหกรรมการผลิต
“เรามีคนที่ช่วยกันสร้างให้ประเทศไทยเป็น AI Economy ให้ได้ ทุกคนขะมักเขม้นช่วยกันอยู่ เรา Make Progress ได้ในหลายๆ เรื่อง ภาคเอกชนพยายามช่วยภาครัฐบาล ให้ความคิดเห็น ทาง Governance ก็ทำ Working Team ด้วยกันในหลายๆ เรื่อง เราก็ไปได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีหลายจุดที่เราต้องพัฒนาต่อ”
โอกาสและความท้าทายของ ‘ไทย’
ในฐานะอันดับ 3 ของอาเซียนในด้าน AI ไทยจะปลดล็อกอย่างไร เพื่อก้าวให้ทันอันดับ 1 และ 2 ดร.ทัดพงศ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ต้องร่วมมือกันทำ ต้องมีผู้รู้จากหลายภาคส่วน ได้แก่ คนที่รู้เรื่องด้านเทคโนโลยี คนที่รู้เรื่องของอุตสาหกรรมที่ต้องเอาไปใช้ เช่น รู้เรื่องการแพทย์และสุขภาพ และต้องมีคนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือคนที่สร้าง Business Model เพื่อทำให้ทั้ง 3 ส่วนประกอบกันได้
“จุดนี้อาจเป็นจุดที่ผมคิดว่า เรายังแยกกันทำงานระดับนึงอยู่ ทุกคนหวังดี อยากจะทำสิ่งที่ทำได้ แต่พอไมได้ Join กันจริงๆ จังๆ มันทำให้เกิด Loop ยาก และทำให้หลายๆ อย่าง ยังขาดๆ เกินๆ อยู่ ยังต่อกันไม่ค่อยติดน่าจะเป็นโจทย์ๆ นึง”
สำหรับประเด็นด้านปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ดร.ทัดพงศ์มองว่า ไทยเริ่มมีการพัฒนาด้านนี้มากขึ้น แต่ยังต้องอาศัยเวลาเพื่อพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานเพิ่มเติมอีก เช่น การ Upskill คนให้เก่งด้าน AI ใช้งาน AI เป็น และเป็นผู้ใช้ที่ดี
ขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล ระบบข้อมูล ต้องมีการข้อมูลป้อนให้ AI เพื่อทำให้ AI เก่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังมีงานที่ต้องทำอยู่
คนไทยนับ 1 เรื่อง AI
หากคนไทยทั่วไปอยากนับ 1 เรื่อง AI ดร.ทัดพงศ์บอกว่า ต้องมองคนที่มีความรู้เรื่อง AI เป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 Awareness การรับรู้ และการระมัดระวังและการอยู่ร่วมกับ AI ได้ดี
“อันนี้เรากำลังพูดถึงคนทั่วๆ ไป เราต้องสร้าง Awareness ให้กับเค้าว่า มีสิ่งที่เรียกว่า AI แทรกซึมอยู่ในตัวพวกเรา และมีจุดไหนที่เราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ ตัวไหนต้องระมัดระวังด้วย ต่อไปอาจจะมีผลกระทบที่เกิดจาก AI เราก็ต้องสร้าง Awareness ให้กับคนหมู่มาก”
ระดับที่ 2 AI Super User คือ คนทำงานทั่วไป แต่สามารถใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานได้
“เช่น การให้ AI ค้นคว้าผลงานวิจัยและสรุปให้ หรือการสร้าง Content บางอย่าง สร้าง Script บางอย่าง หรือทีมตัดต่อที่สามารถใช้ AI มาช่วยวาดรูป มารีทัช สร้าง Movie ได้ในอนาคต”
ระดับที่ 3 AI Engineer คือ ใช้ AI ได้คล่องและสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วย
“ต้องเข้าใจการทำ AI เอา Solution ของ AI ที่อยู่ในต่างชาติมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยมากขึ้น อาจจะต้องเขียนโปรแกรมได้ด้วย”
ระดับที่ 4 AI Researcher นักวิจัยด้าน AI เป็นคนแก้ปัญหาพื้นฐาน เพื่อทำให้เทคโนโลยี AI ต่อยอดขึ้นไปได้
ดร.ทัดพงศ์บอกว่า จุดสำคัญที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของไทยในปัจจุบัน คือ AI Engineer
“ในระดับ Researcher เรามี Research University หลายๆ ที่ที่เก่งด้าน AI อยู่แล้ว ในฐานของคนหมู่มาก เราก็ให้ความรู้ ให้ Awareness ในระดับ 1 และ 2 แต่ในระดับ 3 เป็นกลุ่มที่เรามองว่าต้องช่วยกันเยอะพอสมควร เพราะต้องเป็นคนที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับนึง และต้องมา Reskill เค้าให้เค้าเป็น AI Engineer ได้”
3 กล้า เดินหน้าเรื่อง AI
ดร.ทัดพงศ์แสดงความคิดเห็นว่า จุดสำคัญที่จะทำให้ไทยไปต่อได้ในเรื่องของเทคโนโลยีและ AI คือ 3 กล้าซึ่งเป็น Mindset ที่ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล หรือผู้นำองค์กรจะต้องมี
1. กล้า ‘วัด’
“เราเอา AI มาใช้เพื่อจะสร้าง Feedback เราเอา AI มาใช้ เราต้องรู้ว่ามันดีกว่าเดิมหรือเปล่า ถ้าเกิดเจ้าของโจทย์ไม่กล้าวัดว่า ปัจจุบันดีกว่าเดิมไหม ไม่ต้องเอา AI หรอก เพราะลองไป เราไม่มีทางรู้หรอก ถ้าเกิดเราวัดผลไม่ได้ เราก็พัฒนาไม่ได้ We can improve what we can measure. ความกล้าตรงนี้ต้องพ่วงไปกับเรื่อง Digital Economy ด้วย”
ดร.ทัดพงศ์อธิบายต่อว่า การมี Digital Economy จะมีความโปร่งใส (Transparency) การสืบค้นได้ (Traceability) มีการวัดผลได้ (Measurability) และสามารถพัฒนาต่อได้ (Improvability) ดังนั้นการมี Digital Economy ทำให้เกิดข้อมูล จึงมี AI ได้
2.กล้า ‘ลอง’
ดร.ทัดพงศ์อธิบายว่า AI คือ การเอามาแทนที่กระบวนการ หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการ
“วิธีเดิมอาจทำมานานแล้ว คุณกล้าลองวิธีใหม่ไหม คุณกล้าเปิดให้น้องในองค์กรคุณได้ลองท่าใหม่ไหม เราสามารถจำกัดสเกลของการทดลองได้ คุณกล้าวัด คุณกล้าให้น้องลอง และถ้าน้องลองแล้ว เค้าวัดแล้วมันดีกว่าเดิมก็จะไปต่อที่กล้าที่ 3 คือ กล้า ‘เปลี่ยน’ หรือเปล่า”
3. กล้า ‘เปลี่ยน’
ดร.ทัดพงศ์อธิบายว่า หลายครั้งพบว่า วัดแล้ว ลองแล้ว และได้ผลดีกว่าเดิม แต่บางทีคนก็ไม่กล้าเปลี่ยนกระบวนการระดับใหญ่ๆ แต่ที่ ‘อเมริกา’ กล้าเปลี่ยน
“เรามีหัวหน้า เรามีผู้นำที่พร้อมจะเปลี่ยน Process มั้ยถ้าเรามีหลักฐานมาบอกว่า เราวัดแล้ว เราลองแล้วดีกว่าเดิม”
ไทยมืดมน แต่ไม่มืดมิด
ในขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมองการพัฒนาประเทศไทยอย่างหมดหวัง ดร.ทัดพงศ์ก็เห็นว่า ประเทศไทยเผชิญกับความยากหลายประการ แต่การหมดหวังและไม่ทำอะไรอาจไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ ที่อยากจะเลือก
“ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยเราเองก็มีจุดแข็งอยู่หลายด้าน ไม่ใช่ว่าทุกอย่าง แบบที่ CEO ของผมเคยเปรยเอาไว้ว่า มันมืดมน แต่ไม่มืดมิด มันยังมีแสงสว่างรำไรอยู่หลายๆ เรื่อง ในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมเทคโนโลยี ผมคิดว่า เรามีคนที่มีศักยภาพ และคนที่เห็นปัญหาเยอะพอ ผมคิดว่า การพูดในเชิงว่า ตรงนู้นก็ไม่ดี ตรงนี้ก็ไม่ดี พูดเพื่ออะไร ถ้าพูดเพื่อแจ้งว่าปัญหาตรงนี้อยู่ แล้วเราจะแก้มันยังไง นี่โอเค แต่ก็ไม่อยากให้พูดขึ้นมาแล้ว เราจะไม่ต้องทำอะไรดีกว่า เราอยู่เฉยๆ ดีกว่า ถ้าทุกคนคิดอย่างงี้หมด คนเก่งๆ คิดอย่างงี้หมด เราคงเดินต่อยาก”
——————————
“เราต้องรู้จุดที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่รู้มาเพื่อทำให้เราหมดหวัง แต่ต้องรู้เพื่อทำให้ไปต่อได้”
——————————
ดร.ทัดพงศ์จึงบอกว่า “เราต้องรู้จุดที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่รู้มาเพื่อทำให้เราหมดหวัง แต่รู้เพื่อทำให้เราไปต่อ และเอาไปแก้ได้ และเราต้องหาพันธมิตรเข้ามาช่วยกัน”
ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นว่า ‘ไทย’ มีจุดเด่นหลายด้าน ทั้งด้านยุทธศาสตร์ของทำเลที่ตั้งประเทศ วัฒนธรรม และจุดแข็งอื่นๆ ที่เป็นจุดเด่นของประเทศ
พร้อมฝากข้อคิดว่า “เราจะประสานจุดเด่นเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยี ด้วยนวัตกรรมเข้าไปยังไง เพื่อให้เรายังไปต่อได้ ถ้าเราคิดแบบนี้ How มากกว่า เรามองในแบบนี้ จะทำให้มีกำลังใจมากกว่าที่จะบอกว่า อันนู้นก็ไม่ดี อันนี้ก็แย่”
เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วย AI
หากต้องการใช้ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต ดร.ทัดพงศ์มองว่า การร่วมมือกัน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งจำเป็น ดังนั้นจึงต้องการนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ นโยบายด้านการควบคุมบริหารจัดการ นโยบายการพัฒนาคน นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไปต่อได้
“ต้องมีทั้งนโยบายและการปฏิบัติจริง อาจจะมีคนว่านโยบายหลายเรื่องมาก แต่ว่าคนที่จะรับลูกนโยบายแล้วประสานต่อ หรือถ้าเรียกว่าแรงจูงใจ เพื่อทำให้คนรับลูกนโยบายจะมีอะไรได้บ้าง เช่น สมมติว่า ถ้าเราจะสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ระดับใหญ่ของประเทศไทย องค์กรภาคเอกชนมีข้อมูลอยู่เยอะ แต่เค้าก็กลัวเพราะข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลลูกค้า ไม่อยากเผยแพร่”
ดังนั้น หากต้องการความร่วมมือ ดร.ทัดพงศ์มองว่า อาจต้องมีการแก้ไขหลายด้าน เช่น การปรับกฎระเบียบ และนโยบายต่างๆ
“มีคนอยากจะช่วยเยอะ แต่ส่วนกลางจะช่วยเค้าปลดล็อกยังไงได้ จะช่วยดันยังไง อันนี้เป็นจุดนึงที่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่เป็นเรื่องการสนับสนุน เพื่อทำให้นำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง”
จุดแข็งเทคโนโลยีของไทย
ดร.ทัดพงศ์พูดถึงจุดแข็งด้านเทคโนโลยีของไทยว่า “ในมุมของโครงสร้างพื้นฐาน เราทำได้ดีระดับนึง เรื่องของคน ผมคิดว่าเรามีคนที่มีประสิทธิภาพระดับนึง ถือว่าไม่แย่จนเกินไป”
ดังนั้นจึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคนเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำ AI เข้ามาช่วยพัฒนาคนได้
“ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐาน และมีคนเก่งๆ สิ่งต่างๆ จะตามมาเอง ผมคิดว่า จุดนี้เป็นจุดที่เราเรียกว่ามีความแข็งระดับนึง แต่ยังต้องแข็งมากกว่านี้”
นอกจากนี้ ในแง่ของการใช้ AI ในอุตสาหกรรมนำร่องก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเช่นกัน แต่จะต้องหาวิธีประสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน
“เรามีจุดแข็งด้าน Medical ด้าน Tourism และ Agriculture จุดแข็งเหล่านี้ต้องเอามาใช้ เพื่อทำให้เกิด Use Case ที่สร้าง Value ได้” ดร.ทัดพงศ์กล่าวทิ้งท้าย