×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

นักกีฬารวยแต่ทำไม ‘ถังแตก’ ?

135

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

…ทำไม? ‘นักกีฬาอาชีพ’ หลายคนที่เคยรวยกลับ ‘ถังแตก’ หลังโบกมือลาวงการ

 

…เงินที่หามาได้ หายไปไหนหมด? 

 

…ต้องทำยังไงถึงจะไม่เจอวิกฤตการเงินส่วนตัว?

 

พลิกชีวิตสู่มหาเศรษฐี จากอาชีพ ‘นักกีฬา’

 

จากการจัดอันดับ 50 นักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดในโลกของนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2023 ปรากฏว่า นักกีฬา 15 คนเป็นนักบาสเกตบอล NBA อีก 12 คนเป็นนักกอล์ฟมืออาชีพ อีก 10 คนเป็นนักอเมริกันฟุตบอลระดับ NFL ส่วนอีก 6 คนเป็นนักบอล ส่วนวงการแข่งรถ, มวย และเทนนิส ก็มีนักกีฬาเป๋าตุงอีกวงการละ 2 คน และมีนักเบสบอลรายได้สูงอีก 1 คน

 

นักกีฬาที่มีรายได้มากที่สุดในโลกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการฟุตบอล “Cristiano Ronaldo” ประเมินว่ามีรายได้รวมปีที่แล้วประมาณ 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,583 ล้านบาท   ส่วนนักกีฬารวยอันดับ 50 คือ “Tom Brady” นักอเมริกันฟุตบอล รายได้ปีที่แล้ว 45.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,523 ล้านบาท 

 

เห็นแล้วต้องว้าวกับรายได้แบบจุกๆ แต่กว่าจะไปยืนแถวหน้าของวงการพร้อมรายได้งามแบบนั้น พวกเขาก็แลกมากับการฝึกฝนทุ่มเททั้งกายและใจอย่างหนัก 

 

ความท้าทายในชีวิตของนักกีฬาอาจไม่ได้มีแค่ความพยายามเป็นแชมป์และรักษาแชมป์ในกีฬาที่ตัวเองชำนาญเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงความสามารถในการรักษา “เงินรายได้” ที่หามาได้อย่างยากเย็น พร้อมต่อยอดเงินให้งอกงาม เพื่อใช้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวแบบยาวๆ ไม่ให้ลำบากไปตลอดชีวิตหลังเกษียณจากอาชีพนักกีฬาด้วย

 

เก่งเกมในสนามแข่งขัน แต่พ่ายในเกมการเงิน

 

แต่ที่น่าเศร้าก็คือ นักกีฬาอาชีพหลายคนกลับมีปัญหาทางการเงินอย่างหนักในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต บางคนก็มีปัญหาตั้งแต่ยังเล่นกีฬาอาชีพอยู่ และหลายคนก็เจอปัญหาการเงินหลังโบกมือลาวงการแล้ว

 

บทความจาก Sports Illustrated เมื่อ 15 ปีก่อนให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้ว นักอเมริกันฟุตบอล NFL ประมาณ 75% มีปัญหาทางการเงินหลังพวกเขาเกษียณจากวงการไปประมาณ 2 ปี ส่วนนักบาสเกตบอล NBA ประมาณ 60% ก็ถังแตกภายใน 5 ปี

 

ส่วนข้อมูลหมาดๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วจาก Fox Business บอกว่า นักกีฬาอาชีพประมาณ 78% หมดเงินหมดทองสูญเสียความมั่งคั่งหลังจากเกษียณประมาณ 3 ปี

 

ทำไมถึงเป็นแบบนี้? รายได้จากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาหายไปไหนหมด? นักกีฬาที่เก่งเกมในสนามแข่งขัน ทำไมถึงมาพ่ายในเกมการเงิน?

 

ต้องบอกว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้พวกเขาแพ้แบบหมดรูปในการรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง

 

เหตุผลที่ 1: นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่ไต่บันไดความสำเร็จไปเล่นในลีกใหญ่ๆ ได้ตั้งแต่อายุค่อนข้างน้อย พวกเขาใช้เวลากับการฝึกหนักเพื่อเก่งในโลกกีฬา ทำให้แทบไม่มีเวลาเหลือ หรือขาดโอกาสจะเรียนรู้วิธีบริหารจัดการรายได้ที่หามาได้

 

บางคนเอาเงินเยอะที่หามาเหนื่อยยาก พลาดไปลงทุนกับบริษัทที่จริงๆ ไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย หรือบางคนก็พลาดไปเชื่อที่ปรึกษาทางการเงินผิดคน! และในเคสที่แย่สุดๆ หลายคนลงเอยด้วยการเป็นคนล้มละลาย 

 

เหตุผลที่ 2: การใช้จ่ายเงินมือเติบเกินตัว นักกีฬามืออาชีพหลายคนรู้สึกว่า เมื่อเป็นตัวท็อปแล้ว พวกเขาจะใช้เงินปรนเปรอตัวเองแบบเต็มที่ ฟุ่มเฟือยแบบไม่ต้องห่วงกระเป๋า เงินก็มีมาก ชื่อเสียงก็ดังไม่ไหว ไม่ต้องสนต้องแคร์อะไรทั้งนั้น ใช้ชีวิตแบบเต็มที่ ทุ่มเงินซื้อของแพงๆ แบบไม่ต้องคิด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือบ้าน แค่คันเดียวหลังเดียวอาจไม่พอ แต่พวกเขาก็ลืมคิดไปว่า วันหนึ่งเมื่อรายได้ประจำไม่ได้ไหลเข้าบัญชีเหมือนเดิมแล้ว จะเอาไงต่อ?

 

เหตุผลที่ 3: อาชีพนักกีฬามีอายุสั้นกว่าอาชีพอื่นๆ  เช่น นักอเมริกันฟุตบอลมีเวลาเล่นอาชีพเฉลี่ยไม่ถึง 4 ปี ช่วงรุ่งๆ ก็โกยเงินได้หลายล้านดอลลาร์ แต่พวกเขาก็จะต้องใช้เงินที่หามาได้ในช่วงรุ่งของอาชีพสั้นๆ นั้นไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ โดยทั่วไปแล้ว นักกีฬาอาชีพสายนี้อาจถูกดดันให้เกษียณเร็วกว่ากำหนด เพราะอาการบาดเจ็บ หรือฟอร์มตกเพราะใช้ร่างกายเกินลิมิตติดต่อกันมาหลายปี

 

ถอดบทเรียน ชีวิต ‘ล้มละลาย’ ของนักกีฬามืออาชีพ

 

มีนักกีฬาอาชีพระดับซูเปอร์สตาร์หลายคนที่เคยรุ่งสุดๆ และชีวิตพลิกผันต้องล้มละลาย ตัวอย่างที่หลายคนรู้จักกันดี คือ “Mike Tyson” นักมวยชาวอเมริกันระดับแชมป์โลก ที่ล้มละลายเมื่อปี 2003 แม้ว่าก่อนหน้านั้น เขาเคยมีรายได้จากการขึ้นสังเวียนชกมากถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อแมตช์ หรือราวๆ 13,484 ล้านบาท แม้จะหาเงินได้มหาศาลแค่ไหน แต่เพราะใช้เงินเกินตัวแบบไม่คิด เริงร่ากับชีวิตแบบสุดๆ เป็นนักชกรักปาร์ตี้ สายเปย์ตัวพ่อ 

 

ว่ากันว่า เขาชื่นชอบรถหรู บ้านหรูเอามากๆ ซื้อหาเป็นของตัวเองยังไม่พอ ยังใจใหญ่ซื้อแจกคนอื่นอีกต่างหาก ข่าวบอกว่า ช่วงกลางหรือปลายยุคทศวรรษ 1990 Tyson ใช้เงินซื้อรถหรูไปกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 152 ล้านบาท และในจำนวนนี้ กว่า 10 คันเป็นการซื้อเป็นของขวัญให้เพื่อนๆ ของเขาเอง

 

แค่นั้นยังไม่พอ เขายังเสียเงินไปกับการดูแลสวนและสนามหญ้าหน้าบ้านไปกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (10 ล้านบาท) ทุ่มเงินซื้อบ้าน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (135 ล้านบาท) ที่มีบิวท์อินไนต์คลับและกาสิโน และเคยใช้เงินทำอ่างอาบน้ำเคลือบทองคำมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย (68 ล้านบาท) สัตว์เลี้ยงของเขาก็ไม่ธรรมดา เพราะเขาเลี้ยง “เสือ” เป็นสัตว์เลี้ยง ตัวหนึ่งราคามากกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2.3 ล้านบาท) 

 

แม้จะใช้เงินมือเติบขนาดนั้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลอย่างหนักต่อความมั่งคั่งของ Tyson น่าจะเป็นการเลือกคบคนผิดแบบ Don King โปรโมเตอร์มวย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องอาชญากรรม

 

ในช่วงการเป็นนักมวยอาชีพของ Tyson นั้น มีการกล่าวหาว่า King โกงเงินเขาไปหลายล้านดอลลาร์ โดยโกยเงินไปมากถึง 50% ของรายได้ของ Tyson แค่นั้นยังไม่พอ King ยังสูบเงินจาก Tyson ด้วยการตั้งภรรยาและลูกของตัวเองเป็นที่ปรึกษาและทำหน้าที่อื่นๆ ในทีมงานของนักมวยคนดัง ทำให้เขาต้องเสียเงินไปปีละราวๆ หกหลักเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ ตอน Tyson ยื่นล้มละลายเมื่อปี 2003 เขามีหนี้อยู่ประมาณ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 775 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม Tyson ก็ถือว่าโชคดีกว่าหลายคน เพราะสามารถฟื้นตัวมารวยได้อีกครั้งด้วยการเล่นหนัง และหารายได้จากการชกมวยโชว์ร่วมกับนักมวยอาชีพเกษียณระดับตำนานคนอื่นๆ 

 

นอกจากนี้ เขายังลงทุนในตัวเองด้วยการทำสื่อ ซึ่งรวมทั้งการทำซีรีส์ Podcast ที่เชิญแขกในวงการกีฬาและบันเทิงมาพูดคุยกัน และยังทำแบรนด์กัญชา มีร้านหลายสาขาทั่วสหรัฐฯ อีกด้วย

 

ปัจจุบัน เขามีความมั่งคั่งมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 337 ล้านบาท แม้จะน้อยกว่าที่เคยมีเยอะสมัยอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ แต่ก็ถือว่า เป็นอดีตนักกีฬาอาชีพคนหนึ่งที่กลับมายืนได้อีกครั้งหลังผ่านวิกฤตการเงินของตัวเองมาได้ 

 

‘วางแผนการเงิน’ ฉบับนักกีฬาอาชีพ 

 

แต่ถ้าไม่อยากมีปัญหาทางการเงินจนถึงขั้น “ล้มละลาย” คนที่หาเงินได้มากๆ แต่อาจทำได้ในช่วงไม่กี่ปีเท่านั้น ควรจะวางแผนบริหารจัดการเงินอย่างไรดี? 

 

1. ออมเงินให้มากที่สุดนับตั้งแต่มีรายได้

 

Ryan Kwiatkowski นักกีฬาวอลเลย์บอลที่เคยเล่นอาชีพในเบลเยียม และเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แนะนำว่า นักกีฬาควรออมเงินไว้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้ เพราะถ้าไม่เห็นเงิน ก็จะไม่ใช้เงิน และนักกีฬาก็ยังสามารถใช้ชีวิตดีๆ ได้ จากเศษเสี้ยวของเงินมหาศาลที่หาได้ในแต่ฤดูกาล

 

เขาเตือนว่า ถ้าเริ่มใช้ชีวิตแบบหรู ฟุ่มเฟือย ตั้งแต่เริ่มเซ็นสัญญาเล่นอาชีพ แล้วต่อมาเกิดบาดเจ็บระหว่างเกมที่ 2 ของฤดูกาลนั้น ไม่มีการการันตีสัญญา นักกีฬาจะเอายังไงต่อกับชีวิต

 

นักกีฬาอาชีพหลายคนที่ได้ค่าเหนื่อยเฉพาะในฤดูกาลเท่านั้นยิ่งต้องวางแผนการเงินให้ดีว่าจะใช้เงินก้อนนั้นให้รอดไปทั้งปีได้ยังไง ซึ่งเท่าที่เขาเห็น คนที่พลาดคือ คนที่ทำเงินได้สูงมาก และเอาเงินนั้นไปซื้อรถหรู บ้านแพงทันที โดยไม่คิดให้รอบคอบ

 

2. วางแผนภาษีอย่างมีกลยุทธ์ และนำเงินบางส่วนไปลงทุนเพื่อการเกษียณ เพื่อลดหย่อนภาษี

 

ที่ปรึกษาทางการเงินอีกคน แนะนำว่า การวางแผนภาษีเป็นอีกกลยุทธ์ที่นักกีฬาจะต้องพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อช่วยรักษาเงินรายได้ของตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุด ต้องรู้ว่า รายได้จากแหล่งต่างๆ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง มีการนำเงินบางส่วนไปลงทุนสำหรับการเกษียณ และใช้ลดหย่อนภาษี

 

3. มีที่ปรึกษาทางการเงิน ที่มีประสบการณ์ทำงานกับนักกีฬา

 

ถ้าคิดว่าไม่สามารถบริหารจัดการเงินตัวเองได้ การหาที่ปรึกษาทางการเงินคนที่ใช่ก็เป็นเรื่องจำเป็น ควรหาผู้เชี่ยวชาญที่คิดค่าธรรมเนียมอย่างเดียว เป็นนักวางแผนการเงินที่มีใบอนุญาต และควรมีประสบการณ์ทำงานกับนักกีฬามาก่อนด้วย

 

4. ตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณแบบพอดี ไม่กระทบความมั่นคงทางการเงินของตัวเอง

 

เรื่องที่ควรบริหารจัดการให้ดีอีกอย่าง ซึ่งหากจัดการไม่ดีอาจสั่นคลอนฐานะทางการเงินมาก ก็คือ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือครอบครัว ทั้งนี้ พบว่านักกีฬาจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณคนที่ช่วยเหลือให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ต้องเบียดเบียนตัวเอง ทำให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลัง ไม่กระทบความมั่นคงทางการเงินของตัวเองเป็นเด็ดขาด ดังนั้นแนะนำว่า ควรจำกัดขอบเขตการช่วยเหลือเพื่อนและคนในครอบครัว หรืออาจเลือกผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนนอกมาจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ สำหรับคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดเหล่านี้ก็ได้

 

คนทั่วไปแบบเราๆ ที่ช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตสามารถหาเงินได้ก้อนใหญ่ก็สามารถนำบทเรียนจากชีวิตนักกีฬามืออาชีพไปใช้ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีใครมั่นใจได้ว่า เราจะเงินได้เยอะตลอดชั่วชีวิตการทำงาน อยู่ดีๆ จากคนมีรายได้สูง อาจกลายเป็นคนมีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้เลยก็เป็นได้….รู้แบบนี้แล้ว ต้อง “ออมก่อนใช้เสมอ”

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats