เมื่อ “อิสรภาพทางการเงิน” สำคัญกว่าเกษียณ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“ถ้าเราไม่มีความสุขก่อนเกษียณ หรือไม่มีอิสรภาพทางการเงินก่อนเกษียณ เป็นไปได้ยากมากที่หลังเกษียณแล้วจะมีความสุข” นี่คือคำกล่าวที่ตรงไปตรงมาของคุณกวี ชูกิจเกษม Chief Portfolio Advisory บริษัท หลักทรัพย์พาย จำกัด (มหาชน) สะท้อนความจริงที่หลายคนมองข้าม ซึ่งคุณกวีให้สัมภาษณ์ลงทุนนิยม เกษียณสุข The Series
การเกษียณอายุที่ 60 ปี แนวคิดที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในยุโรปเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) และการว่างงานของคนรุ่นใหม่ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับยุคปัจจุบัน โดยคุณกวีมองว่าถึงควรเปลี่ยนมุมมองเรื่อง “เกษียณ” ไปสู่แนวคิดเรื่อง “อิสรภาพทางการเงิน”
“ผมไม่อยากใช้คำว่าเกษียณ แต่อยากใช้คำว่าอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน” คุณกวีอธิบาย “การเกษียณตามอายุเป็นกรอบที่จำกัดศักยภาพของมนุษย์ เพราะความสุขและความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขอายุ”
จากประสบการณ์ให้คำปรึกษา คุณกวีพบว่าแม้แต่ผู้ที่เคยมีรายได้สูง เช่น นักกีฬาอาชีพที่ประสบความสำเร็จในช่วงเล่นกีฬา แต่กลับพบว่าหลายคนไม่มีอิสรภาพทางการเงินเมื่อถึงวัยเลิกเล่นกีฬา สาเหตุหลักมาจากการขาดการวางแผนและบริหารจัดการการเงินที่ดี
มีเงินมากไม่เท่ากับ “มีอิสรภาพทางการเงิน”
คุณกวีเน้นย้ำ “หลายคนได้เงินมาก็เก็บออมเพียงอย่างเดียว หรือใช้จ่ายโดยไม่มีการวางแผน พอถึงจุดที่ต้องบริหารเงินจริงๆ กลับทำไม่เป็น หรือสายเกินไปที่จะเริ่มต้น”
ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างอิสรภาพทางการเงินมักไม่ได้หยุดทำงานเมื่อถึงวัยเกษียณ หลายคนยังคงทำงานต่อไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะมองว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่มีความหมาย
“ถ้าคุณไม่มีความสุขหรืออิสรภาพทางการเงินก่อนเกษียณ เป็นไปได้ยากมากที่จะมีความสุขหลังเกษียณ” คุณกวีเล่า พร้อมชี้ให้เห็นว่าพนักงานบริษัทที่สามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้จากเงินเดือน คือตัวอย่างของผู้ที่มีทักษะการบริหารการเงินที่ยอดเยี่ยม “ถ้าทำงานและมีเงินเดือน แล้ววันใดวันหนึ่งสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ แสดงว่าสามารถบริหารเงินได้ดีมาก”
“การบริหารเงิน” กุญแจสู่อิสรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน
การลงทุนกับอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คุณกวีเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่หลายคนมักเข้าใจผิด แม้การลงทุนอาจช่วยเร่งความเร็วในการบรรลุอิสรภาพทางการเงิน แต่การบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ต่างหากที่เป็นรากฐานสำคัญ
คุณกวีอธิบายว่า การบริหารการเงินที่ดีต้องเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ “รายได้ต้องมากกว่าค่าใช้จ่าย” นี่คือกฎเหล็กข้อแรกที่ไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน การสร้างวินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด “อย่าเพิ่งคิดเรื่องการลงทุน โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การสร้างความมั่นคงทางการเงิน”
สรุปสูตรบริหารเงินให้มั่นคง
1. รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย หลักการพื้นฐานที่ต้องยึดมั่น
2. หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น
3. ทำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง
4. สำรองเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน
5. เมื่อมีเงินเหลือจึงค่อยเริ่มลงทุน
สำหรับผู้ที่พร้อมก้าวสู่การลงทุน คุณกวีแนะนำให้เริ่มจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ก่อนจะค่อย ๆ ขยับไปสู่ตราสารหนี้และหุ้น โดยจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น อาจใช้สัดส่วน 60/40 โดยปรับเพิ่มลดตามความเหมาะสม
“ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็จัดพอร์ตหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% แต่ถ้ารับความเสี่ยงต่ำก็จัดพอร์ต 60% เป็นตราสารหนี้ อีก 40% เป็นหุ้น จากนั้นก็ลงทุนในระยะยาว” คุณกวีแนะนำ
เมื่อถามถึงอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการบรรลุอิสรภาพทางการเงิน คุณกวี ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่ามีคำตอบเดียว นั่นคือ “ความฟุ่มเฟือย”
และสิ่งที่คุณกวีฉายภาพให้เราเห็นในท้ายที่สุดก็คือ “อิสรภาพทางการเงินจบที่คำว่าพอ” สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การหารายได้ไม่พอ แต่อยู่ที่การไม่รู้จักพอในการใช้จ่าย ความฟุ่มเฟือยเป็นเหมือนรูรั่วที่คอยดูดกลืนความมั่งคั่ง
บทสรุป… ไม่ว่าจะหาเงินได้มากเพียงใด หากไม่รู้จักพอ ก็ยากที่จะไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้ ดังนั้นการเข้าใจและยอมรับในความ “พอดี” จึงเป็นกุญแจสำคัญสู่อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง