×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

‘ออม vs ลงทุน’ คนไทยส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องเดียวกัน

215

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ทราบหรือไม่ว่า…การศึกษาพฤติกรรมการออมและการลงทุนของคนไทยได้เผยให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเข้าใจและการตัดสินใจทางการเงิน โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างการออมและการลงทุนได้อย่างชัดเจน  

 

คุณพิชชาภา สุขวณิช CEO และ Co-Founder Crowdabout ให้สัมภาษณ์ในรายการลงทุนนิยม เกษียณสุข The Series ไว้อย่างน่าสนใจ  

 

เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าจะใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการออมเงิน คำตอบที่ได้คือ เงินฝาก กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และเมื่อถามต่อว่าลงทุนในเครื่องมืออะไรบ้าง คำตอบก็เหมือนกับการออมเงิน คือ เงินฝาก กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ 

 

“สรุปคือผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองเรื่องออมเงินกับลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน คือ การมีเงินเหลือจากการใช้จ่าย คือ การออมและการลงทุน” คุณพิชชาภากล่าว และความเข้าใจผิดนี้อาจมีผลต่อพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยในทุกช่วงวัย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว

 

3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อพฤติกรรมการออม–การลงทุนของคนไทย

 

1. เป้าหมายชีวิต 

 

แต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการออมที่แตกต่างกัน เช่น บางคนออมเพื่อท่องเที่ยว ขณะที่บางคนออมเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ

 

2. ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 

 

คนวัยเริ่มทำงานมักเลือกการออมแบบปลอดภัย ขณะที่คนวัยกลางคนและวัยใกล้เกษียณเริ่มมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

3. ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือการลงทุน 

 

คนที่มีความรู้มากกว่ามักเลือกใช้สินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลาย เช่น หุ้น กองทุนรวม

 

คนแต่ละช่วงวัยสนใจออม-ลงทุน แบบไหน?

 

  • First Jobber และ Early Working เน้นการออมในเงินฝากและสลากออมสิน เนื่องจากยังมีความรู้ทางการเงินจำกัด

 

  • Mid Working เริ่มกระจายการลงทุนไปยังหุ้นและกองทุนรวม เพราะต้องดูแลครอบครัวและต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

  • Late Working ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยของเงินทุนมากขึ้น โดยมุ่งไปที่พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และประกันชีวิต

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพฤติกรรมการลงทุนของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยคนต่างจังหวัดมีแนวโน้มที่จะเลือกเครื่องมือการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและคุ้นเคย เช่น เงินฝาก สลากออมสิน และประกันชีวิต ในขณะที่คนกรุงเทพฯ มีการกระจายการลงทุนที่หลากหลายกว่า ความแตกต่างนี้อาจเป็นผลมาจากการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินและบริการทางการเงินที่ไม่เท่ากัน รวมถึงปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางการเงิน

 

ช่วงวัยกับการเก็บออมเงิน 

 

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่า กลุ่ม First Jobber ส่วนใหญ่จะออมเงินน้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่ม Early Working กลุ่ม Mid Working และกลุ่ม Late Working ส่วนใหญ่จะออมเงิน 1,001–3,000 บาทต่อเดือน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่ม Late Working บางคนจะเริ่มออมเงินมากกว่า 5,000 บาทต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระดับการออมเงินต่อเดือนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ก็มาจากปัจจัยอื่นๆ  เช่น รายได้เพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเงินที่ดีขึ้น หรือเห็นความสำคัญของการออมมากขึ้น 

 

คุณพิชชาภา กล่าวต่อไปว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจมีรายได้เฉลี่ย 20,000–30,000 บาทต่อเดือน แสดงว่ามีอัตราการออมเฉลี่ย 10% ของรายได้ถือว่ามีความเหมาะสมพอสมควรสำหรับการออมในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตาม หากต้องการออมเงินเพิ่มขึ้น อาจใช้ทางเลือกอื่นประกอบด้วย เช่น การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 

อิทธิพลของสื่อดิจิทัลต่อพฤติกรรมการออม

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ อิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมแตกต่างกันตามช่วงวัย โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่มักถูกกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านสื่อโซเชียล ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มักตอบสนองต่อโปรโมชั่นการขายมากกว่า 

 

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงพลังของโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการออม เช่น การลงทุนทองคำ จากอดีตจะซื้อทองคำผ่านร้านทอง แต่ปัจจุบันในยุคที่ราคาทองคำมีความผันผวนสูง และดิจิทัลแพลตฟอร์มได้เปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุนแบบดั้งเดิม โดยคนรุ่นใหม่หันมาใช้บริการออมทองผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 

 

“คนรุ่นใหม่หันมาออมเงินผ่านการออมทองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในต่างจังหวัดยังนิยมฝากเงินไว้กับร้านทอง เช่น วันนี้มี 1,000 บาท ก็โอนเงินไปในบัญชีร้านทอง และหากต้องการเปลี่ยนเงินออมเป็นทองรูปพรรณก็สามารถทำได้” คุณพิชชาภา บอก 

 

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อเกษียณมากนัก แต่การเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการลงทุนที่หลากหลายผ่านสื่อดิจิทัล กำลังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออมของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

บทสรุป…แม้ผลการสำรวจจะชี้ให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการออมเงินเพื่อเกษียณมากนัก แต่มีสัญญาณที่น่าสนใจว่า สื่อออนไลน์และการสื่อสารภายในครอบครัวกำลังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความตระหนักรู้เรื่องการวางแผนเกษียณ

 

ในขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออมและการลงทุนของคนรุ่นใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดความพร้อมทางการเงินหลังเกษียณ หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ในการให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจในการวางแผนการเงินระยะยาว

 

ท้ายที่สุด การเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณไม่ใช่เพียงเรื่องของบุคคล แต่เป็นความท้าทายระดับชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats