×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

4 เทคนิคลงทุนให้รวย สไตล์ Ken Fisher

179

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ในโลกของการลงทุน มีชื่อของบุคคลสำคัญหลายท่านที่ควรศึกษาแนวคิด หนึ่งในนั้นคือ Ken Fisher ซึ่งนอกจากจะเป็นมหาเศรษฐีและผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการลงทุนระดับโลก Fisher Investments เขายังมีเส้นทางการลงทุนที่น่าสนใจและมีแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ 

 

หากจะสรุปปรัชญาการลงทุนของคุณ Ken Fisher อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่เน้นการ “คิดต่าง” และมองหาโอกาสที่นักลงทุนส่วนใหญ่อาจมองข้าม เขาไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบการลงทุนแบบใดแบบหนึ่งอย่างเข้มงวด แต่จะผสมผสานหลายแนวคิดเข้าด้วยกัน โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้

 

  • การวิเคราะห์เชิงลึก ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจบริษัทและอุตสาหกรรมแบบเจาะลึก
  • การมองไปข้างหน้า พยายามคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดในอนาคตระยะสั้น–กลาง
  • การหลีกเลี่ยงอคติทางพฤติกรรม ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอันตรายของอารมณ์ต่อการตัดสินใจลงทุน และพยายามตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผล

 

ถอดเทคนิคการลงทุน สไตล์ Ken Fisher 

 

  • เทคนิคที่ 1: ใช้ Price-to-Sales Ratio (P/S Ratio)

 

นักลงทุนอาจคุ้นเคยกับ P/E Ratio (อัตราส่วนราคาต่อกำไร) ที่ใช้ดูว่าราคาหุ้นแพงหรือถูกเมื่อเทียบกับกำไร แต่ Ken Fisher เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ P/S Ratio หรืออัตราส่วนราคาต่อยอดขาย 

 

P/S Ratio = ราคาตลาดต่อหุ้น/ยอดขายต่อหุ้น

 

หรือ P/S Ratio = มูลค่าตลาดของบริษัท/ยอดขายรวมของบริษัท

 

    • ทำไม Ken Fisher ถึงให้ความสำคัญกับ P/S Ratio?

 

Ken Fisher พบว่าในหลายกรณี โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มที่กำลังเติบโตสูง หรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนหนักเพื่อขยายธุรกิจ ทำให้ยังไม่มีกำไรหรือมีกำไรที่ผันผวนมากจน P/E Ratio ไม่สามารถใช้ในการประเมินมูลค่า แต่บริษัทเหล่านี้มักจะมียอดขายที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดขายเป็นตัวเลขที่บิดเบือนได้ยากกว่ากำไร ดังนั้นการใช้ P/S Ratio ช่วยให้สามารถประเมินมูลค่าของบริษัทจากมุมมองของรายได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การมีกำไรในอนาคต

 

คำแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่

    • P/S Ratio เป็นเครื่องมือเสริมในการวิเคราะห์ ไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่ใช้ตัดสินใจ
    • ค่า P/S Ratio ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีมักจะมี P/S Ratio สูงกว่าธุรกิจค้าปลีก
    • การใช้ P/S Ratio เหมาะกับการดูบริษัทที่ยังไม่มีกำไร หรือกำไรไม่สม่ำเสมอ แต่มียอดขายที่เติบโตดี
    • ไม่ควรซื้อหุ้นเพียงเพราะ P/S Ratio ต่ำ เพราะอาจแปลว่าบริษัทมียอดขายต่ำ หรืออุตสาหกรรมกำลังถดถอย จึงต้องดูการเติบโตของยอดขายและแนวโน้มอุตสาหกรรมประกอบด้วยเสมอ

 

  • เทคนิคที่ 2: มองหาตลาดกระทิงที่ซ่อนอยู่

 

แนวคิดนี้มาจากมุมมองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกหรือตลาดหุ้นประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นหรือลงพร้อมกันทั้งหมดในเวลาเดียวกันเสมอไป ในขณะที่ตลาดโดยรวมอาจดูซบเซาหรือเป็นขาลง (ตลาดหมี) ก็อาจมีตลาดหุ้นบางประเทศ บางภูมิภาค หรือบางกลุ่มอุตสาหกรรม ที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตหรือกำลังจะฟื้นตัว ซึ่ง Ken Fisher เรียกว่า ตลาดกระทิงที่ซ่อนอยู่

 

คำแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่

    • แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ “กระจายความเสี่ยง” และ “กระจายการลงทุน” ไปยังต่างประเทศหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด
    • การลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือกองทุนรวมตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ศึกษามาอย่างดี เป็นวิธีที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ในแนวทางการลงทุนของตัวเองได้
    • หัวใจสำคัญ คือ การศึกษาและทำความเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนของแต่ละตลาดหรืออุตสาหกรรมที่สนใจ ไม่ใช่แค่ลงทุนตามกระแส
    • การมองหา “ตลาดกระทิงที่ซ่อนอยู่” ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งอาจใช้เวลาสำหรับมือใหม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสดีๆ ในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม

 

  • เทคนิคที่ 3: ความสำคัญของพฤติกรรมนักลงทุน

 

Ken Fisher ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับจิตวิทยาการลงทุน (Behavioral Finance) โดยเชื่อว่านักลงทุนมักตัดสินใจผิดพลาดเพราะอารมณ์กลัวและความโลภ เช่น พฤติกรรมซื้อเมื่อตลาดกำลังคึกคัก (ราคาแพง) และขายทิ้งเมื่อตลาดตื่นตระหนก (ราคาถูก)

 

คำแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่

    • ควรเข้าใจว่าอารมณ์มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
    • วางแผนการลงทุนล่วงหน้า ด้วยการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลา และกลยุทธ์ก่อนที่จะเริ่มลงทุน
    • มีวินัย ด้วยการยึดมั่นในแผนที่วางไว้ อย่าตกใจขายเมื่อตลาดลง หรือรีบขายทำกำไรเมื่อตลาดยังมีแนวโน้มที่ดี
    • อย่าเช็กราคาหุ้นบ่อยเกินไป เพราะการเห็นราคาขึ้นลงตลอดเวลาอาจกระตุ้นอารมณ์ได้ การลงทุนระยะยาวไม่จำเป็นต้องเฝ้าหน้าจอทุกนาที
    • การลงทุนแบบ DCA หรือการทยอยลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันในทุกงวด เป็นวิธีที่ดีในการช่วยตัดอารมณ์ออกไป เพราะจะซื้อทั้งตอนราคาถูกและราคาแพง ทำให้ได้ราคาเฉลี่ย

 

  • เทคนิคที่ 4: การมองระยะยาวและความอดทน

 

Ken Fisher เชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว เขามองว่าความผันผวนของตลาดในระยะสั้นเป็นเรื่องปกติและยากที่จะคาดเดา การพยายามจับจังหวะตลาด (Market Timing) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

 

คำแนะนำสำหรับมือใหม่

    • การลงทุนคือ การเดินทางระยะยาว ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น
    • กำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนในระยะยาว เช่น เงินเกษียณในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เงินทุนการศึกษาบุตรในอีก 10 ปี เพราะการมีเป้าหมายระยะยาวจะช่วยให้อดทนต่อความผันผวนระยะสั้นได้
    • ทำความเข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งการลงทุนระยะยาวจะช่วยให้เงินลงทุนเติบโตแบบทวีคูณ
    • อย่าเพิ่งถอดใจ หากเห็นพอร์ตการลงทุนติดลบในระยะสั้น หากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่ลงทุนยังดีอยู่ การรอคอยอย่างอดทนมักให้ผลตอบแทนที่ดีในที่สุด

 

หากพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนของ Ken Fisher จะได้เห็นว่า ความสำเร็จไม่ได้มาจากโชคช่วย หรือเทคนิคที่ซับซ้อนจนเกินกว่านักลงทุนจะเข้าถึงได้ แต่มาจากการมีวินัยและมุมมองที่แตกต่าง โดยแนวคิดเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนไม่มากหรือมีประสบการณ์ ก็สามารถนำหลักการคิดต่าง” “มีวินัยและอดทนรอคอยไปปรับใช้ และสำคัญที่สุดคือ การลงมือทำอย่างมีแผน มีวินัย และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาสไตล์การลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและสถานการณ์ชีวิตของตัวเอง

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats