×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

3 วิธีบริหารหนี้ เมื่อตกงาน

4,634

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ตกงานก็ว่าหนักแล้ว แต่บางคนอาการหนักกว่าเดิม เพราะมีหนี้ติดตัวและไม่ได้วางแผนมาก่อน เมื่อรายได้หยุด แต่หนี้ไม่หยุดตาม จะทำยังไงได้บ้าง

 

ขั้นที่ 1 ใช้ตัวเราชำระหนี้

เราต้องบริหารรายจ่าย ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เพิ่มขึ้น แม้จะยาก แต่ไม่ใช่จะไม่มีทางออก ขอเพียงขยัน ไม่เลือกงาน ดูคุณศิริวัฒน์แซนด์วิช เป็นตัวอย่าง ปัญหาหนี้เราอาจกลายเป็นเรื่องเด็กๆก็ได้ และอย่าลืมทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน เชื่อเถอะ ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง และตั้งใจจะประหยัดรายจ่ายจริงๆ จะมีรายจ่ายที่เราคิดว่าจำเป็นแต่จริงๆไม่จำเป็นให้เราได้ตัดเยอะมาก

 

ขั้นที่ 2 ใช้ทรัพย์สินชำระหนี้

ทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อดูว่าเรามีทรัพย์มูลค่าเท่าไหร่ โดยทั่วไป เราจะมีทรัพย์สิน 2 แบบใหญ่ๆ คือ

 

  • ทรัพย์สินที่มีตัวตน เช่น โทรศัพท์มือถือ รถ โทรทัศน์ ฯลฯ ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ แม้จะขายขาดทุนเยอะ หรือเราชอบ แต่ถ้าไม่จำเป็น เปลี่ยนเป็นเงินมาชำระหนี้ดีกว่า
  • ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เช่น สวัสดิการต่างๆ ประกันสังคม เงินออมทรัพย์สหกรณ์ เงินฝากธนาคาร กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แนะนำให้ทำดังนี้

 

  1. ขายทรัพย์สินที่มีราคาตลาด มีสภาพคล่องเยอะ มีเงื่อนไขน้อย และมีผลตอบแทนน้อย เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากสหกรณ์ กองทุนรวม หุ้น ฯลฯ เคยพบบางคนยอมกู้หนี้นอกระบบ หรือถอนเงินบัตรเครดิตมาชำระหนี้ ทั้งที่เงินในบัญชีออมทรัพย์มีพอ เพียงเพราะเสียดายไม่อยากถอน อย่าเสียดายดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.5% ดอกเบี้ยเงินกู้แพงกว่าเยอะ 
  2. รีบขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน เพื่อรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมที่ให้ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าขึ้นทะเบียนช้าเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง แปลว่าถ้ามาขึ้นทะเบียนว่างงานจัดหางานวันที่ 30 นับตั้งแต่วันที่มีผลเป็นการออกจากงานพอดี เงินชดเชยจะได้ครบ 180 วัน แต่ถ้ามาวันที่ 31 เงินไม่ได้หายไป 1 วันนะแต่จะหายไป 31 วัน คงเหลือรับเงินชดเชย 149 วัน
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • ถ้าอายุน้อย อายุงานไม่ถึง 5 ปี ถ้าถอนเงินสมทบของนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสมทบจะนับรวมเป็นเงินได้พร้อมกับเงินเดือน ทำให้เสียภาษีมาก หากคาดว่าจะหางานใหม่ได้ การคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี อย่างน้อยเพื่อให้อายุงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะถ้าอายุงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้เสียภาษีน้อยลง
  • ถ้าอายุสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่อีกไม่นานจะอายุ 55 ปี ให้คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รอถอนตอนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี เพราะเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดไม่ต้องเสียภาษึ

4.ประกันชีวิต อย่าเวนคืน เพราะโดยทั่วไป มูลค่าเงินสดจะต่ำกว่าเบี้ยที่เราจ่ายมาก ทำให้ขาดทุน ใช้วิธีกู้เงินจากกรมธรรม์ดีกว่า เสียดอกเบี้ยต่อปีในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ยประกัน +2% ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ยประกันอยู่ที่ 2% ต่อปี เท่ากับดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายจากการกู้เงินจากกรมธรรม์อยู่ที่ 4% ต่อปี

 

ขั้นตอนที่ 3 ใช้หนี้ชำระหนี้

อาจเป็นการโอนหนี้ก้อนเดิมไปยังหนี้ใหม่ที่ดอกเบี้ยถูกกว่า ลองติดต่อสถาบันการเงินของภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาหนี้อยู่ วิธีการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือไม่เสียเครดิตไม่ต้องเครียดกับการทวงหนี้ แต่ข้อเสียคือเราจะมีหนี้เพิ่มขึ้น

 

การบริหารหนี้ในช่วงที่ไม่มีรายได้อาจจะยากลำบากกว่าปกติ แต่ถ้าผ่านไปได้ รับรองว่า คุณจะแกร่งกว่าเดิม เหมือนคำกล่าวของ Frederick Douglass นักเขียนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ว่า ถ้าไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ก็ไม่มีความก้าวหน้า

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats