7 เรื่องภาษีต้องรู้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ใกล้วันที่ 31 มีนาคมเส้นตายที่เราต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว แต่สำหรับคนที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตกรมสรรพากรใจดีขยายเวลาให้อีกจนถึงวันที่ 9 เมษายน ยังไงก็ตาม แนะนำยื่นให้ทันกำหนดนะ ยื่นเร็วๆ ยิ่งดี ถ้ามีภาษีคืน จะได้คืนเร็ว
แต่สำหรับหลายคนที่เตรียมเอกสารไม่ทัน หรืองานยุ่ง แนะนำให้ยื่นให้ทันกำหนด ถึงเอกสารไม่ครบก็ยื่นไปเหอะ เพราะถ้าไม่ยื่น หรือยื่นไม่ทันภายในกำหนดเวลา กรมสรรพากรกำหนดโทษ ดังนี้
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ
คือ ยื่นภาษีทันกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบ เราต้องไปยื่นแบบอีกทีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
3.1 กรณีนี้เหมือนข้อ 2 เลย ดังนั้นหากมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ใช่ว่าจะปลอดภัย ยังต้องเสียค่าปรับตามข้อ 1 อยู่ดี หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ คงรู้แล้วนะว่า คิดผิด ยื่นภาษีในกำหนดเวลาเถอะ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี
กรณีนี้สำหรับคนที่มีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน (แต่ละงวดห่างกัน 1 เดือน)
ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ ขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ดังนี้
งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม
งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2
ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
กรณีนี้สำหรับคนมีสิทธิขอภาษีคืน แต่ไม่ได้ทำเรื่องขอคืนไว้ตอนยื่นภาษีเงินได้ กรมสรรพากรก็ยังใจดีเปิดโอกาสให้คนที่เกิดเปลี่ยนใจอยากขอภาษีคืน ก็ขอได้ โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี) ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี) ฯลฯ
- กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน
ห้ามอยู่เฉยนะ อย่าคิดว่าเป็นความผิดของกรมสรรพากรที่คืนภาษีให้เราเยอะเกินไปเอง เราต้องนำเงินไปคืนกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากเราไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด
รู้อย่างนี้แล้ว อย่านิ่งนอนใจ ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วนดีกว่า