ทำไมหุ้นร่วงแรง ทรัมป์มา ทำหุ้น + หรือ – ?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ต้องยอมรับว่า สหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอีกยุคที่มีสีสันและมีข่าวคราวให้ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากเรามาเจาะกันที่ตลาดหุ้น ก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ตลาดสวิงทำสถิติใหม่อยู่หลายต่อหลายครั้ง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็บอกว่า หากต้องการประเมินนโยบายของรัฐบาลแล้วละก็ ให้ดูจากตลาดหุ้นก็ได้
ในส่วนของดัชนี S&P 500 ซึ่งคำนวณจากหุ้นใหญ่ 500 ตัวในตลาด และมีมูลค่าคิดเป็น 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐทั้งหมด ก็จะพบว่า พุ่งขึ้นไปแล้ว 29% หากนับตั้งแต่ช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ถ้าเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีคนอื่นเป็นยังไงบ้าง ถ้าเอาดัชนีหุ้นเป็นตัวตัดสิน ผลงานใครเข้าตาที่สุด?
เมื่อเรามองในช่วง 645 วันของการอยู่ในตำแหน่งของประธานาธิบดีในสมัยต่างๆ ของสหรัฐฯ พบว่า ยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 23%
ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช หรือยุคบุชผู้พ่อ เพิ่มขึ้น 36%
ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ปรับขึ้น 29%
ยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หรือ บุชคนลูก ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 26%
สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ดัชนีพุ่งแรงถึง 46%
และปัจจุบัน ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดัชนี S&P500 ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 29% หากนับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง
คราวนี้มาลองไล่เรียงกันแต่ละยุคว่า สถานการณ์เศรษฐกิจช่วงนั้นเป็นยังไง ถึงทำให้ตลาดหุ้นรุ่งหรือร่วงได้ขนาดนั้น
ยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
ช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่งต้องบอกว่าอาจไม่ใช่เวลาที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะเศรษฐกิจหลุดเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม 1981 ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งเกือบ 11%
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในช่วงดังกล่าว และการลดภาษีนิติบุคคลได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว และตอนนั้นยังเป็นยุคสหรัฐฯ จัดเต็มเรื่องงบด้านการทหารในยุคสงครามเย็นที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายในที่สุด
แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่สมัยนั้น ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก็เคยร่วงแรงภายในวันเดียว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Black Monday โดยดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงหนัก 22.6% ภายในวันเดียว หากเทียบกับยุคปัจจุบัน ก็จะเท่ากับวูบไป 5,000 จุดเลย
ส่วนดัชนี S&P 500 เติบโตแข็งแกร่งหลายปี ซึ่งรวมถึงการดีดตัวแรง 26% ในปี 1985 ด้วย
ทั้งนี้ ช่วงสมัยแรกของการบริหารประเทศ ปี 1981-1985 ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้นไป 30% ส่วนสมัยที่สอง ปี 1985-1989 หุ้นทะยานไปถึง 67%
ยุคจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช
ยุคนี้ทั้งเศรษฐกิจและหุ้นสดใสมาก โดยปี 1989 ซึ่งเป็นปีแรกของการบริหารประเทศ ดัชนี S&P 500 พุ่งไป 27%
จากนั้นเกิดวิกฤตเงินฝากและเงินกู้และสงครามอ่าวเปอร์เซีย ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่าเท่าตัว เศรษฐกิจชะลอตัวลง จนสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเบาๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม 1990 ก่อนที่สถานการณ์จะดีขึ้นในปีถัดมา
ทั้งนี้ ช่วง 4 ปีของการบริหารประเทศ ระหว่างปี 1989-1993 ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้นไป 51%
ยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน
ช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคทองของตลาดหุ้น โดยดัชนี S&P 500 พุ่งแรง 210% ในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคบูมอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจคึกคัก โดยช่วงนั้นดัชนี S&P เคยพุ่งไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีถึงสองครั้ง คือ ปี 1995 และ 1997 ส่วนดัชนี Nasdaq ก็เพิ่มพรวดถึง 7 เท่าระหว่างปี 1993 และไปแตะระดับสูงสุดช่วงต้นปี 2000
ประธานาธิบดีคลินตัน บริหารประเทศ 2 สมัย คือ ปี 1993-1997 ตอนนั้น ดัชนี S&P 500 พุ่งไป 79% และสมัยที่ 2 ปี 1997-2001 ดัชนีทะยานไป 73%
ยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
หากเทียบกับประธานาธิบดีคนอื่นๆ ในยุคใหม่แล้ว ตลาดหุ้นในยุคของประธานาธิบดีบุช คนลูก ถือว่าแย่สุดๆ เพราะดัชนี S&P 500 ดิ่งหนักกว่า 40% เมื่อนับรวมสองสมัยที่บริหารประเทศ โดยสมัยแรก ปี 2001-2005 ดัชนีร่วงไป 12% ส่วนสมัยที่ 2 ปี 2005-2009 ดิ่งลงไปอีก 31%
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ช่วงนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง?
อย่างแรกคือ ฟองสบู่ดอทคอมแตก ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ recession เมื่อปี 2001 จากนั้นก็ถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11
ต่อมาเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2004 และ 2005 จากแรงส่งของอัตราดอกเบี้ยต่ำและยุคอสังหาฯ บูม แต่พอฟองสบู่แตก ก็ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ที่เรารู้จักกันดี โดยในปี 2008 ดัชนี S&P 500 ดิ่งหนัก 38% หรือเรียกได้ว่าเป็นปีที่แย่ที่สุดหากรับตั้งแต่ยุค Great Depression
ยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา
หลังจากรับไม้ต่อมาจากประธานาธิบดีบุช คนลูก ตลาดหุ้นก็อยู่ในภาวะซบเซาในช่วงไม่กี่เดือนแรก และเริ่มฟื้นมาจากก้นหลุมได้ประมาณเดือนมีนาคม 2009 เมื่อเศรษฐกิจค่อยๆ เยียวยาตัวเองอย่างช้าๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคตลาดกระทิงที่ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์อเมริกัน
ช่วงนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปั๊มเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นพุ่งพรวดอย่างมากเช่นกัน โดยดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในยุคของประธานาธิบดีโอบามา
ในสมัยแรกที่บริหารประเทศหรือปี 2009-2013 ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นไป 85% และในช่วง 4 ปีต่อมา จนถึงต้นปี 2017 ก็ทะยานขึ้น 53%
ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น ลดภาษี, การปรับกฎระเบียบต่างๆ และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ดันให้ดัชนี Dow Jones พุ่งจากระดับ 18,332 ในวันเลือกตั้ง ไปอยู่เหนือระดับ 21,000 ในเดือนมีนาคม 2017 จากนั้นดัชนี Dow Jones ก็ได้ทะยานต่อไปสูงกว่าระดับ 26,000
ส่วนเศรษฐกิจก็เติบโตสูงกว่า 4% ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนมีกำไรเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นก็สวิงไปมาราวกับรถไฟเหาะตีลังกา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
อย่างไรก็ตาม หากจะประเมินผลงานของประธานาธิบดีทรัมป์ จากดัชนีตลาดหุ้น ก็ต้องบอกว่า ยังทำผลงานได้ดี เพราะหากนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2017 จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2019 ดัชนี S&P 500 ก็ดีดตัวขึ้นไปแล้ว 29%
จากนี้ไป ก็คงต้องลุ้นกันว่า ประธานาธิบดีจะทิ้งทวนผลงานการบริหารประเทศใน 4 ปีนี้อย่างไรบ้าง หลังจากเปิดยุคมาแบบกระทิงสุดๆ