ทำไม? คนไทย “หนี้เยอะ หนี้เร็ว หนี้นาน”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ทำไมคนไทยแบกหนี้ไว้เยอะ ?
หนี้! หนี้! หนี้! ทำไมคนไทยหนี้ท่วม เพราะอะไรคนไทยถึงแบกหนี้ไว้เยอะ แล้วทางออกของคนเป็นหนี้อยู่ตรงไหน ?
กลายเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่พุ่งสูงปรี๊ด หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งไปแตะเกือบๆ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3 % คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 78.7 % สูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงอันดับ 11 ของโลก อันดับ 2 ของเอเชีย
ถามว่าตอนนี้หนี้ภาคครัวเรือนของไทยเยอะขนาดไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก คำตอบก็คือหนี้ภาคครัวเรือนของไทย สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศทั่วโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด และสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองแค่เพียงเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี สูงถึง 97.7% ขณะที่ฮ่องกงอยู่ในอันดับ 3 ที่ 72.2 % , มาเลเซียอันดับ 4 ที่ 66.3 % , สิงคโปร์ อันดับ 5 อยู่ที่ 54.7 % และจีนอันดับ 6 อยู่ที่ 52.6 %
คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น และนานขึ้น
ยังจำกันได้มั้ย… ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ได้รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น และ นานขึ้น โดยในปี 2561 หนี้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ 552,499 บาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2552 ที่มีหนี้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 377,109 บาท และในจำนวนคนไทย 21 ล้านคนที่เป็นหนี้ กว่า 3 ล้านคน หรือ 15.9 % เป็นหนี้เสีย หรือ มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามและดำเนินการตามกฎหมาย
ที่สำคัญคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย 50 % ของคนไทย อายุ 30 ปีมีหนี้แล้ว และ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มอายุ 29 ปี เป็นหนี้เสีย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ ก็คือถึงวัยเกษียณแล้วยังต้องมานั่งใช้หนี้กันอยู่เลย คนที่อายุ 60 -69 ปี มีหนี้เฉลี่ยกว่า 453,438 บาทต่อราย
ทำไม…นับวันคนไทยมีหนี้มากขึ้น ?
ทางแบงก์ชาติได้มีการสำรวจในเชิงลึก พบว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้น ๆ ก็คือ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการขาดวินัยทางการเงินนั่นเอง ยิ่งในยุคนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น ทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ง่ายขึ้นเช่นกัน
โดยหนี้ที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อรถยนต์ เพราะภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นระดับสูง 9.2 % ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3 % สูงสุดในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมาแบงก์ชาติในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้พยายามออกมาตรการมาดูแลต่อเนื่อง อย่างล่าสุด มาตรการ LTV ที่เข้มงวดการปล่อยกู้ในภาคอสังหาฯ ก็เริ่มเห็นผลแล้ว
หนี้พุ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?
หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ยกตัวอย่าง หากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา อยู่ในช่วงขาลง หรือว่าเกิดภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง จนส่งผลกระทบทำให้รายได้ของเราลดลง (income shock) เมื่อรายได้ของเราหดหายไป ก็ทำให้เราใช้จ่ายลดลง หรือหนักๆ ก็แทบจะไม่ใช้จ่ายเลยเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่าย มันจึงส่งผลกระทบไปยังการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ยังทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเราลดลง ถ้าหนักๆ ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด สุดท้ายก็จะทำให้หนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ของธนาคารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมของประเทศได้
คำแนะนำสำหรับคนมีหนี้ ?
อยากแก้หนี้ต้องต้องเริ่มที่ตัวเราเอง… ต้องรู้จักเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาชีพเสริม ทำงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินโอที เงินลาภลอยจากการถูกหวย เงินโบนัสกลางปี ปลายปี หรือว่าจะขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อนำเงินที่ได้เพิ่มเข้ามาไปชำระหนี้ให้ลดลงเร็วๆ
นอกจากการเพิ่มรายได้แล้ว ก็ต้องรู้จักลดรายจ่ายด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น ทำได้โดยการจดบันทึกรายรับ – รายจ่าย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกเรื่องที่สำคัญ นั่นก็คือเราต้องมีวินัยทางการเงิน เช่น ออมก่อนใช้ มีรายได้เข้ามาปุ๊บ ก็ต้องหักไปออมปั๊บ จะ 10 % หรือ 20 % ก็ตามแต่กำลังของตัวเอง เงินก้อนนี้นี่แหละที่จะเป็นที่พึ่งให้กับเราในอนาคตหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ไม่ต้องกลับไปกู้หนี้ยืมสินอีก
ส่วนใครที่มีหนี้ก้อนโตไม่รู้จะหาทางออกยังไง ลองไปปรึกษา “คลินิกแก้หนี้” ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่พร้อมช่วยคนเป็น “หนี้เสีย” สารพัดบัตร ให้ปลดหนี้ได้