ประกันชีวิต l เจ็บช่วย
ย้ำอีกครั้งถึงประโยชน์ของประกันชีวิต ที่ว่า “ภาษีเก็บ เจ็บช่วย ป่วยจ่าย ตายได้ สบายคืน อายุยืนเลี้ยงดู” และส่วนที่จะขยายความในบทความนี้ก็คือเรื่อง “เจ็บช่วย”
ประกันที่ตอบโจทย์ “เจ็บช่วย” ได้ตรงที่สุด ก็คือ “ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล: Personal Accident Insurance” หรือที่เรียกกันว่า “PA”
“PA จะให้ความคุ้มครองต่อการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพและค่ารักษาพยาบาลอันเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ณ ที่ใดๆ ในโลก ณ เวลาใดๆ ในระยะเวลาเอาประกันภัย จากอุบัติเหตุใดๆ ที่ไม่ได้ระบุยกเว้นในกรมธรรม์”
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เรามาเริ่มกันที่นิยามของคำว่า “อุบัติเหตุ” กันก่อน
“อุบัติเหตุ”
หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่เรามิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับทุกคน ประกันอุบัติเหตุจึงเป็นประกันที่ทุกคนควรจะมี เหตุเพราะเป็นประกันที่เบี้ยประกันถูก แต่ให้ความคุ้มครองสูง ซึ่งโดยทั่วไปจะจ่ายเงินชดเชยให้กับการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุทั้ง 7 ประเภท ดังนี้
- เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและสายตา (Accidental Death and Dismemberment: ADD)
- ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง (Permanent Disability: PD)
- ค่ารักษาพยาบาล (Medical Expense: ME)
- เงินชดเชยกรณีกระดูกแตกหัก (Broken Bone: BB)
- ค่าเลี้ยงดูสำหรับบุคคลในครอบครัวเป็นรายเดือน (Family Care Giver: FCG)
- ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (Hospital Income + I.C.U.: HU)
- ค่าเลี้ยงดูรายเดือนสำหรับการดำรงชีพ (Monthly Living Benefit: MLB)
จะเห็นได้ว่าประกัน PA ครอบคลุมกว้างมาก สามารถรักษาได้ทั้งคนไข้นอก และคนไข้ใน (แต่ต้องเป็นการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุเท่านั้น) ซึ่งต่างจากประกันสุขภาพทั่วไปที่มักชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้เฉพาะตอนเราเป็นคนไข้ใน
“ข้อดี”
ของประกัน PA นอกจากเบี้ยถูกแล้ว เบี้ยยังคงที่ ไม่สนใจอายุ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ เบี้ยก็ยังคงเท่าเดิม (กระทั่งอายุ 61 ปีขึ้นไป) แต่จะคิดเบี้ยตามความเสี่ยงของขั้นอาชีพ โดยอาชีพที่เสี่ยงเจออุบัติเหตุสูง เบี้ยก็จะแพงขึ้น นอกจากนั้นการทำประกัน PA ยังไม่ต้องตรวจร่างกายอีกด้วย (แต่ต้องตอบคำถามสุขภาพนะ)
ประกันอุบัติเหตุจะซื้อแบบเดี่ยวๆ อย่างเดียวก็ได้ หรือ จะซื้อเป็นสัญญาเพิ่มเติมควบกับกรมธรรม์ประกันชีวิตหลักแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ โดยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดของทางบริษัทฯ ซึ่งเรียกกันว่า
- สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์อันพึงได้รับเนื่องจากอุบัติเหตุ (ACCIDENT INDEMNITY RIDER: AI หรือ อ.1)
- สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์มรณกรรม และสูญเสียอวัยวะโดยอุบัติเหตุ (ACCIDENT DEATH AND DISMEMBERMENT:ADD หรือ อ.2)
- สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์มรณกรรมโดยอุบัติเหตุ (ACCIDENT DEATH BENEFIT:ADB หรือ อ.3)
โดยมีความคุ้มครองแตกต่างกันคือ…
นอกจากนี้อนุสัญญาคุ้มครองอุบัติเหตุยังให้เราสามารถซื้อบันทึกเพิ่มเติมการจลาจลสงครามกลางเมือง (RIOT AND CIVIL COMMOTION:RCC) ที่ให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากการถูกลอบทำร้าย ฆาตกรรม จากการจลาจล / สงครามกลางเมือง หรือการปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย จะได้รับวงเงินชดเชยตามทุนประกันของ RCC อีกด้วย
PA เดี่ยว จึงคล้ายกับ AI มากที่สุดที่คุ้มครองทั้งเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และรักษาพยาบาล แต่ต่างกันที่ PA เดี่ยวชดเชยค่ารักษาพยาบาลทั้งคนไข้นอก และคนไข้ใน ส่วน AI ชดเชยเฉพาะคนไข้ในเท่านั้น
สำหรับใครที่สนใจก็สามารถซื้อประกัน PA เดี่ยวๆ หรือ จะซื้อเป็นอนุสัญญาคุ้มครองอุบัติเหตุร่วมกับกรมธรรม์ประกันชีวิตหลัก หรือ จะเลือกทำทั้ง 2 อย่างก็ได้เช่นกัน (ในกรณีที่จ่ายเบี้ยไหว) เพราะสามารถเบิกได้ทั้งจากอนุสัญญาคุ้มครองอุบัติเหตุ และ PA พร้อมๆ กัน โดยไม่ถือว่าเป็นการเบิกซ้อน
กด Subscribe รอเลย…