เช็กก่อนใช้ “มาตรการช่วยลูกหนี้”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เมื่อวิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นหนี้ ธนาคารต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ก็พร้อมใจกันออกมาตรการมากมายเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้ทั้งหลายในช่วงสั้นๆ ประมาณ 3-12 เดือนนี้
โดยมาตรการที่ว่าเหมาะกับผู้ที่ต้องการบรรเทา “ภาระค่าใช้จ่าย” เนื่องจากรายได้ที่ลดลงเท่านั้น หากใครที่ยังคงได้รับเงินเดือนปกติหรือไม่ได้รับผลกระทบต่อรายได้ ที่สำคัญยังสามารถชำระหนี้สินได้ตามปกติอยู่ ก็ไม่ควรขอรับการช่วยเหลือจากมาตรเหล่านี้
เหตุผลที่หากยังสามารถผ่อนหนี้ได้ตามปกติ ไม่ควรขอรับมาตรการช่วยเหลือนั้นก็เพราะ มาตรการส่วนใหญ่จะเป็นการลดยอดชำระหนี้ “แต่ละเดือน” แต่ด้วยหลักการของการคำนวณดอกเบี้ยแบบทบต้นแล้ว จะส่งผลให้ยอดชำระดอกเบี้ย “รวมตลอดสัญญา” สูงขึ้น
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขอยกตัวอย่าง กรณีปัจจุบันมียอดหนี้คงเหลือ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 28%ต่อปี เดิมผ่อนเดือนละ 3,114 บาท หากเลือกเข้ารับมาตรการช่วยเหลือ 1 ใน 3 มาตรการต่อไปนี้ เป็นระยะเวลา 12 เดือน จะส่งผลดังนี้
พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
โดยไม่ต้องชำระหนี้ใดๆ ให้กับธนาคาร แต่ในระหว่างนั้นดอกเบี้ยยังคงถูกคำนวณทบต้นบนหนี้คงค้างไปเรื่อยๆ ซึ่งโดยปกติมักทบต้นเดือนละ 1 ครั้ง ส่งผลให้หลังสิ้นเดือนที่ 12 หนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แสนบาท เป็น 131,888 บาท ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้น 31,888 บาท นี้ก็คือดอกเบี้ยส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในช่วง 12 เดือน ที่เข้ามาตรการ
พักชำระเงินต้น
โดยต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ย เดือนละ 2,333 บาท ให้กับธนาคาร ส่งผลให้หลังสิ้นเดือนที่ 12 หนี้คงค้างยังคงเท่าเดิมที่ 1 แสนบาท แสดงว่ามีดอกเบี้ยส่วนเพิ่มระหว่าง 12 เดือนนี้ จากเงินที่ต้องชำระให้ธนาคารรวม 28,000 บาท (= 2,333 บาท x 12 เดือน)
ลดยอดผ่อนต่องวด
เช่น หากลดยอดผ่อนต่องวดลง 50%ของยอดปกติ แสดงว่าต้องชำระให้ธนาคารเดือนละ 1,557 บาท (50% x 3,114 บาท)
ส่งผลให้หลังสิ้นเดือนที่ 12 หนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แสนบาท เป็น 110,610 บาท ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้น 10,610 บาท และเมื่อรวมกับยอดที่ต้องชำระในระหว่างมาตรการ 12 เดือน อีก 18,684 บาท (=1,557 x 12 เดือน) แสดงว่าจะมีดอกเบี้ยส่วนเพิ่มระหว่าง 12 เดือนนี้ รวม 29,294 บาท (10,610 บาท + 18,684 บาท)
มาถึงตรงนี้ คงทราบกันแล้วว่า เหตุใดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินถึงควรถูกเมิน จากคนไม่จำเป็น เพราะแม้ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในช่วงสั้นๆ แต่ต้องแลกกับต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การคำนวณข้างต้นที่ใช้อธิบายนี้ อาจต่างไปจากมาตรการที่ใช้จริงของธนาคารทั่วไปสำหรับสินเชื่อแต่ละประเภท เช่น (1) ระยะวลาการพักชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย อาจเป็นเพียงช่วงสั้นๆ 3 เดือน (2) อัตราดอกเบี้ยอาจต่ำกว่าตัวอย่าง เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคลบางธนาคาร และ (3) ยอดผ่อนต่องวดอาจลดลงเพียง 30% ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต่ำกว่าตัวอย่างที่แสดง
มาตรการช่วยเหลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบต่อรายได้และเงินในกระเป๋า จนจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยเพื่อให้ดำรงชีวิตจนกว่าผ่านวิกฤตินี้ไปได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้เลยสำหรับคนที่ไม่จำเป็นหรือไม่เดือดร้อนจากวิกฤตินี้