4 เรื่องที่ Freelance มักทำพลาด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ไม่ว่าจะอาชีพ Freelance หรือเจ้าของธุรกิจ ก็ล้วนเป็นที่ใฝ่ฝันของหลายคน เพราะมีอิสระในการทำงาน รายได้ขึ้นอยู่กับความสามารถโดยไม่มีกฎเกณฑ์จากนายจ้างมากำกับ อย่างไรก็ตามความอิสระนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่วินัยทางการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่เคยชินกับการทำงานประจำมาก่อน ซึ่งเรื่องที่หลายคนมักทำพลาดกันนั้น ได้แก่
ไม่จดบันทึกและแยกบัญชี
ในแต่ละครั้งที่รับงานอาจมีต้นทุนและรายได้ที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นหากไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และแยกบัญชีเรื่องงาน กับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน สุดท้ายแล้วจะไม่มีทางประเมินได้ เลยว่าในแต่ละงานหรือแต่ละเดือนนั้น มีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร ซึ่งกว่าจตัวอีกทีเงินเก็บที่มีอยู่อาจจะหมดไปแล้ว หรือในบางคนที่มีการใช้สินเชื่ออย่าง บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดด้วยแล้วก็จะมีภาระหนี้สินตามมาได้
ไม่เดิน Statement ผ่านธนาคาร
หลายครั้งที่มีการรับรายได้เป็นเงินสดแล้วนำเงินนั้นไปใช้จ่ายทันที ทำให้ความน่าเชื่อถือของรายได้นั้นลดน้อยลง เพราะธนาคารจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการรับรายได้จริงตามที่ได้แถลงในใบคำขอสินเชื่อหรือไม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้นควรมีการรับเงินจากผู้ว่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารเป็นหลัก หรือหากจำเป็นต้องรับรายได้เป็นเงินสด ก็ควรนำเงินนั้นฝากเข้าบัญชีธนาคารก่อนที่จะนำออกมาใช้จ่าย ซึ่งการเดิน Statement นี้ นอกจากจะส่งผลดีต่อการขอสินเชื่อในอนาคตแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการจดบันทึกและแยกบัญชีตามข้อแรกที่ได้กล่าวไว้ด้วย
ไม่จัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ทุกครั้งที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ นอกจากต้องนำเงินส่วนตัวไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว ในระหว่างการรักษาตัวประสิทธิผลในการทำงานก็จะลดลง หรือบางครั้งอาจถึงขั้นต้องหยุดรับงาน ส่งผลให้รายได้ในช่วงนั้นลดลง ดังนั้นการมีประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหรือมีเงินชดเชยรายวัน ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงด้านนี้ลงได้
ไม่เตรียมพร้อมเพื่ออนาคต
เมื่ออายุมากขึ้นจนส่งผลให้ทำงานได้น้อยลง ความสามารถ ในการหารายได้ก็จะลดลงตามไปด้วย การวางแผนเพื่อเก็บเงินและนำเงินไปลงทุนเพื่อให้มีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยหุ้นและกองทุนรวม เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หอการลงทุนในกองทุน RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
หวังเป็นย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคนทำอาชีพ Freelance หรือเจ้าของธุรกิจเพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดทางการเงินลงได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการเงินส่วนบุคคลนั้นยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ จึงอยากแนะนำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน ได้ลองแบ่งเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานมาศึกษาเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพื่อให้มีสุขภาพการเงินที่ดีในระยะยาว
ที่มาข้อมูล : http://www.tfpa.or.th/datasource.php?topic=document&sub=article&tab=personal&pageNumber=21&id=322