สรรพากรรู้ "รายได้" ของเราได้อย่างไร?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากภาษีและความตาย” ถ้าจะเป็นจริง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ กรมสรรพากรได้ทำหนังสือแจ้งให้บุคคลที่ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2561 และปีภาษี 2562 ให้นำหนังสือที่ได้รับแจ้งพร้อมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย บัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานการหักลดหย่อนภาษีต่าง ๆ สำหรับปีภาษี 2561 และปีภาษี 2562 ไปติดต่อยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่มีภูมิลำเนาอยู่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาใดก็ได้ตามที่สะดวก เพื่อยื่นแบบแสดงรายการ พร้อมทั้งชำระภาษี (ถ้ามี) ให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 หากพ้นกำหนดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผู้ที่ได้รับหนังสือ เมื่อนำหนังสือไปติดต่อตามที่สรรพากรแจ้ง จะเสียค่าปรับปีละ 200 บาท หากไม่ได้ยื่น 2 ปีจะเสียค่าปรับ 400 บาท การปรับดังกล่าว เฉพาะปรับอาญา ซึ่งไม่ได้รวมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และเบี้ยปรับอีกไม่เกิน 2 เท่า ตามประมวลรัษฎากร โดยหากบุคคลใดไม่ยื่นแบบฯ แล้วตรวจสอบพบว่า มีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าว แต่ถ้ายื่นแบบฯ แล้ว ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็จะไม่ต้องจ่ายอะไร
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สรรพากรรู้เงินได้ของพวกเราได้อย่างไร สรรพากรมีวิธีการตรวจสอบเงินได้ของพวกเราได้หลายวิธี ดังนี้
สถาบันการเงิน หรือ ธนาคาร
ข้อมูลธุรกรรมเฉพาะที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมการเงินของเราให้กรมสรรพากรทราบ หากเรามีธุรกรรมการเงินต่อเลขบัตรประชาชนต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของ ธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
จากข้อนี้ทำให้หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าไม่ทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน สรรพากรก็ไม่น่าจะรู้รายได้เรา ถึงแม้สถาบันการจะไม่ส่งข้อมูลเราให้สรรพากรเพราะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องส่ง แต่สรรพากรก็ยังมีวิธีอื่นๆอีกมากมายในการตรวจสอบรายได้เรา
ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
สรรพากรใช้ระบบ Big Data & Data Analytics เพื่อคัดกรองว่า ผู้ประกอบการใดบ้างจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงภาษี และกลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี อย่างกรณีสรรพากรส่งจดหมายตามคนที่ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2561 และปีภาษี 2562 ให้มาเสียภาษีก็จากการใช้ระบบนี้ ตัวอย่างของการใช้ระบบ Data Analytic ก็เช่น สรรพากรเชื่อมข้อมูลกับการไฟฟ้า การประปา ฯลฯ หากพบว่าการใช้ไฟฟ้ากับการใช้น้ำประปาของเราใกล้เคียงกับคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรา แต่เขาแจ้งรายได้สูงกว่าเรา สรรพากรก็อาจสงสัยว่าเราแจ้งรายได้ไม่ครบถ้วนได้
www.rd.go.th
สรรพากรได้พัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่าง ๆ ได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากร rd.go.th ที่เมนู “การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี” ซึ่งช่องทางนี้เป็นช่องทางที่สรรพากรได้ข้อมูลคนที่เสียภาษีไม่ถูกต้องมากที่สุด
สุ่มตรวจ
เราคงเคยได้ข่าว สรรพากรไปนั่งนับจานตามร้านอาหารเพื่อประเมินภาษี แต่ในภาวะโควิด สรรพากรก็คงเลือกที่จะไม่เสี่ยงไปนั่งนับจานอีกเหมือนเดิม แต่สรรพากรก็ยังสามารถรู้รายได้เราได้ ก็โดยการสุ่มตรวจจากหน้าเว็บต่าง ๆ เช่น facebook ฯลฯ ดังนั้น ก่อนจะโพสต์อะไรคิดให้ดีก่อนโพสต์ เพราะคนอ่านไม่ได้มีแค่เพื่อนเรา อาจมีสรรพากรด้วย
ดึงข้อมูลจากเว็บต่างๆ หรือ Web Scraping
สรรพากรนำเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น สรรพากรจะดึงข้อมูล ราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้ตามเว็บ e commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada ฯลฯ แค่เอาราคาคูณจำนวนสินค้าที่ขายได้ สรรพากรก็สามารถรู้รายได้เราได้เลย
สรรพากรรู้รายได้เราจากข้อมูลของผู้จ่ายเงินได้ให้เรา อย่างเช่น เราขายของผ่านเว็บ e commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada ฯลฯ ทางเว็บ e commerce ก็จะหักค่าบริการในอัตราที่กำหนดจากยอดขายของเรา เช่น 20% หรือ 30% ของยอดขาย พร้อมกันนั้นทางเว็บ e commerce ก็จะส่งใบกำกับภาษีให้เราและส่งให้สรรพากรด้วย ดังนั้นเรามีรายได้เท่าไหร่ สรรพากรก็จะรู้ได้ไม่ยาก
หมายเหตุ ใบกำกับภาษี คือ เอกสารสำคัญที่คนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า และภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้านั้น
ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ การหลบรายได้ไม่ให้สรรพากรรู้จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก วิธีที่ดีที่สุด คือ เสียภาษีให้ถูกต้อง และวางแผนภาษีอย่างถูกกฎหมาย