×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

มีเงินเหลือออม... จะเอาไปทำอะไรดี?

5,053

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท  อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์  มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง  อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน  บทกลอนจากสุนทรภู่ กวีเอกของไทย

 

บทกลอนสุภาษิตที่คอยย้ำเตือนสติในเรื่องการมีวินัยเก็บออม และการใช้จ่ายอย่างประหยัดได้เป็นอย่างดีของคนไทย สำหรับวิธีการง่ายๆ ให้มีเงินเหลือออม คือ ทุกคนควรจะมีการเก็บเงินออมก่อนใช้จ่าย โดยแบ่งเก็บเงิน 10 -30% ของรายได้ทุกเดือน อาจจะเริ่มต้นการออมเงินผ่านการแบ่งเงินออมแยกออกจากบัญชีใช้จ่ายปกติ และทำการตั้งเป้าหมายการออมเงินว่าเรามีความต้องการออมเพื่ออะไรบ้าง ตามเป้าหมายการเงินระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) ระยะกลาง (2-5 ปี) และระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) หลังจากนั้นทำการประเมินในแต่ละเป้าหมายของเรา ว่าได้เก็บเงินและลงทุนตามเป้าหมายที่ต้องการได้หรือไม่?

 

เงินออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้น (1ปี)

 

เช่น เก็บไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน โดยคิดจากค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือนคูณด้วยจำนวนเดือนที่คาดว่าจะเป็นเวลาในการได้งานใหม่หลังจากว่างงาน (ในปัจจุบันผลกระทบจากวิกฤติ COVID- 19 ทำให้บางคนต้องตกงาน ขาดรายได้ อาจจะใช้เวลาในการหางานใหม่ประมาณ 6-12 เดือน) สำหรับหลักการเก็บเงินออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้น ควรเก็บเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ณ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะให้ผลตอบแทนเพียง 0.20-0.30%) หรืออาจจะเลือกวิธีเก็บเงินผ่านการลงทุนกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น รวมถึงเงินฝากออมทรัพย์ในรูป E-Book ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากออมทรัพย์ เหมาะกับการเก็บเงินออมสำหรับเป้าหมายระยะสั้น มีสภาพคล่องสูง

 

เงินออมเพื่อเป้าหมายระยะกลาง (2-5ปี)

 

เช่น เก็บเงินไว้ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน ทุนการศึกษา ทุนทำธุรกิจส่วนตัว โดยส่วนใหญ่เงินออมสำหรับเป้าหมายระยะกลาง ใช้เพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ดังนั้น เราจะต้องเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมายจากสำคัญมากไปหาความสำคัญน้อยสุด แล้วจากนั้นเลือกที่จะแบ่งเงินเก็บให้ได้ตามเป้าหมายที่สำคัญก่อน สำหรับเงินออมเพื่อเป้าหมายระยะกลาง ควรนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น บัญชีเงินฝากประจำระยะยาว หุ้นกู้ (Credit rating ที่เป็น Investment grade (BBB) ขึ้นไป) กองทุนตราสารหนี้ หรือ กองทุนผสม โดยมีนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เป็นต้น

 

สำหรับตัวอย่างของการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะกลาง เช่น ตั้งเป้าหมายเก็บเงินไว้สำหรับดาวน์บ้านเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีความตั้งใจเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท ดังนั้น ต้องออมเงิน 27,500 บาทต่อเดือน โดยทำการแบ่งเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากประจำทุกเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี (ผลตอบแทนคาดหวัง 0.5-0.7% ต่อปี)

 

เงินออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว (5ปีขึ้นไป)

 

เช่น เงินทุนใช้เพื่อการเกษียณ ถือได้ว่าเป็นเงินทุนที่สำคัญในอนาคตของชีวิต เพราะเป็นเงินก้อนที่เก็บไว้ใช้ในการดำรงชีพหลังเกษียณซึ่งไม่มีรายได้แล้ว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินก้อนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะทำการวางแผนเก็บเงินไว้ก่อน เพื่อจะได้มีเวลาทยอยเก็บเงินและทยอยลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ลงทุนในกองทุนผสม (มีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 50-75%) หุ้นสามัญ กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยหลักการลงทุนที่ดี ควรมีการจัดสรรพอร์ตลงทุนให้มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ (Asset Allocation) เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนโดยอัตโนมัติ

 

สำหรับตัวอย่างของเงินออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น ณ ปัจจุบัน นาย ก มีอายุ 30 ปี ตั้งเป้าเกษียณอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุขัย 90 ปี หมายความว่า นาย ก ได้ตั้งเป้าใช้เงินเพื่อการดำรงชีพในวัยเกษียณเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท (ตามมูลค่าปัจจุบันไม่รวมเงินเฟ้อ) ณ ปัจจุบัน นาย ก มีเวลาทำงานหาเงินออมได้อีก 30 ปี จึงทำการเริ่มเก็บเงินออมเพื่อการเกษียณเดือนละ 12,200 บาท และออมเพิ่มปีละ 5% ในทุกปี โดยนำเงินไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังโดยเฉลี่ย 6% ต่อปี โดย นาย ก สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูงและต้องการให้ได้ผลตอบแทนที่สูงเพื่อเป็นการชนะเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อทั่วไป โดยเฉลี่ย เท่ากับ 3% ต่อปี)

 

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายโดยมีการแบ่งตามช่วงระยะเวลาตามที่ได้ตั้งเป้าไว้อย่างชัดเจน จะสามารถช่วยให้การวางแผนการออมเงินทำได้ง่ายขึ้น และเราจะสามารถตอบคำถามตนเองได้ ว่าจะออมเงินไปเพื่ออะไร ต้องออมเงินเท่าไร จึงจะเพียงพอ และลงทุนในสินทรัพย์ใดเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม เราควรเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมาย กล่าวคือ เป้าหมายที่จำเป็นต้องมาก่อนเป้าหมายที่ต้องการ เช่น เป้าหมายเก็บเงินออมเพื่อทุนการศึกษาปริญญาโทมีความจำเป็นมากกว่าเป้าหมายท่องเที่ยวต่างประเทศ

 

 

#WealthMeUp

 

ที่มาข้อมูล: https://www.tfpa.or.th/datasource.php?topic=document&sub=article&tab=personal&pageNumber=2&id=735

Related Stories

amazon anti fatigue mats