ประกันชีวิต...มีเท่าไหร่ถึงพอ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
วัตถุประสงค์ของประกันชีวิตมีหลายด้าน เช่น เก็บเงิน ลดหย่อนภาษี แนบคู่ประกันสุขภาพ และเป็นหลักประกันให้ครอบครัว ฯลฯ โดยแต่ละวัตถุประสงค์ก็มีความเหมาะสมที่ต่างกัน ได้แก่
เพื่อเก็บเงิน
การเก็บเงินที่ดี ควรเก็บอย่างน้อย 20%ของรายได้ แต่ประกันชีวิตเป็นทางเลือกเก็บเงิน ที่มีข้อจำกัดด้านผลตอบแทน (IRR) และความยืดหยุ่นที่ต่ำ
หากเน้นเก็บเงิน อาจเลือกเก็บด้วยเบี้ยประกันชีวิตไม่เกิน 5%-10%ของรายได้ ที่เหลืออีกอย่างน้อย 10%-15%ของรายได้ ควรเก็บในรูปแบบการลงทุน เช่น กองทุนรวม กองทุน SSF/RMF เป็นต้น เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และยืดหยุ่นมากกว่า
เพื่อลดหย่อนภาษี
เบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/ตลอดชีพ/ชั่วระยะเวลา ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 แสนบาท* ส่วนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี ไม่เกิน 2 แสนบาท**
อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องลดหย่อนภาษีเต็มสิทธิเสมอไป แต่ควรพิจารณาข้อจำกัด เช่น ความสามารถจ่ายเบี้ยประกัน ฯลฯ ด้วย
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/บำนาญ ที่เน้นเก็บเงิน แนะนำจ่ายเบี้ย 5%-10%ของรายได้
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ/ชั่วระยะเวลา ที่เน้นความคุ้มครอง แนะนำพิจารณาวงเงินคุ้มครองชีวิตที่เหมาะสม ประกอบกับค่าเบี้ยประกันที่จ่าย
เพื่อคู่ประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพมีหลายแบบ บางแบบขึ้นกับทุนประกันชีวิต เช่น หากต้องการค่าห้อง 10,000 บาทต่อวัน ต้องแนบทุนประกันชีวิต 5 แสนบาทขึ้นไป หรือหากต้องการทุนประกันโรคร้ายแรง 1 ล้านบาท ต้องแนบทุนประกันชีวิต 2 แสนบาทขึ้นไป เป็นต้น
ประกันสุขภาพควรซื้อแนบกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพที่มีทุนขั้นต่ำตามเงื่อนไข เพื่อให้มั่นใจว่าเบี้ยประกันจะไม่สูงเกินไปและสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ยาวตลอดสัญญา
เพื่อหลักประกันครอบครัว
เพื่อให้วิถีชีวิตสมาชิกครอบครัวไม่เปลี่ยนไปมากนัก หากเสาหลักจากไปอย่างไม่ทันคาดคิด ประกันชีวิตที่ซื้อควรมีวงเงินคุ้มครองชีวิตที่ครอบคลุมอย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่
- ภาระหนี้ที่มี
ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ธุรกิจ และหนี้สินส่วนบุคคล ซึ่งมีภาระที่ต้องผ่อนทุกเดือน หากเสาหลักจากไป รายได้ของคนที่เหลืออาจไม่เพียงพอในการจ่ายหนี้ หรือแม้เพียงพอแต่อาจกระทบกับคุณภาพการใช้ชีวิตได้
- ใช้จ่ายช่วงปรับตัว
ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวประมาณ 5 ปี เพื่อให้สมาชิกครอบครัวมีโอกาสและเวลาในการตั้งหลักใหม่ เช่น หากอีกฝ่ายเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้านจะได้มีเวลาหางานใหม่ หรือมองหาโอกาสทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดไป เป็นต้น
ประกันชีวิตในจำนวนเหมาะสม ต้องดูทั้งค่าเบี้ยประกันที่จ่ายและความคุ้มครองชีวิตที่ได้ อีกทั้งควรเลือกแบบประกันชีวิตให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของตนเองด้วย
*เบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพ ใช้สิทธิรวมกันได้ ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท
**เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กอช. และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ใช้สิทธิรวมกันได้ ไม่เกินปีละ 5 แสนบาท