รายย่อยไปลงทุนต่างประเทศ จ่ายภาษีอะไรบ้าง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ปัจจุบันนักลงทุนไทย ไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้นทั้งทางตรงโดยการซื้อหุ้นรายตัวหรือลงทุนทางอ้อม เช่น ซื้อกองทุน ซึ่งผู้ที่ลงทุนทางตรงอาจไม่ได้วางแผนเรื่องภาษี ทำให้เมื่อนำเงินกลับมาในประเทศจะต้องจ่ายภาษีแบบเต็ม ๆ ทำให้กำไรหดหายไปพอสมควร
ก่อนอื่น ขอยกตัวอย่างประเทศที่นักลงทุนไทยนิยมไปลงทุน เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน (ผ่านตลาดหุ้นฮ่องกง) และเวียดนาม ว่าเมื่อนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนแล้วมีกฎระเบียบเรื่องภาษีอย่างไร
ภาษีในการลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา
- เงินปันผล (Dividends) จะหักภาษี ณ ที่จ่ายกับนักลงทุนไทย 30% ซึ่งถ้าอยากได้ภาษีคืนจะต้องทำเอกสารเรื่องภาษี โดยปัจจุบันโบรกเกอร์ในประเทศไทยจะลดเหลือ 15% (ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมในการจัดทำเอกสาร)
- กำไรจากการขายหุ้น (Capital gain) สหรัฐอเมริกาค่อนข้างสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น จึงไม่มีการเก็บภาษีจากส่วนนี้
- หุ้นปันผล (Stock dividend) นักลงทุนไทยไม่ต้องเสียภาษี
ภาษีในการลงทุนหุ้นฝรั่งเศส
- เงินปันผล (Dividends) หากนักลงทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นฝรั่งเศสแล้วได้เงินปันผลก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30% และถ้าไปลงทุนในนามบริษัทแล้วไม่ได้ทำสนธิสัญญา เมื่อได้เงินปันผลก็จะเสียภาษีสูงถึง 55%
- กำไรจากการขาย (Capital gain) ตลาดหุ้นฝรั่งเศสไม่มีการเก็บภาษีส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย
- หุ้นปันผล (Stock dividend) นักลงทุนต่างชาติ ไม่มีสิทธิได้รับหุ้นปันผล
ภาษีในการลงทุนหุ้นจีน และเวียดนาม
ภาษีในการลงทุนหุ้นในจีน ส่วนใหญ่นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจีนและซื้อผ่านตลาดฮ่องกง ที่เรียกกันว่า H-Share ซึ่งทั้งเงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น และหุ้นปันผล นักลงทุนไทยไม่เสียภาษี และถ้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ก็ไม่เสียภาษีทั้ง 3 กรณีเช่นเดียวกัน
เมื่อเห็นอัตราภาษีกับการออกไปลงทุนในประเทศตัวอย่าง ก็ต้องพิจารณาต่อว่าถ้าลงทุนแล้วมีกำไรจากการซื้อขายหุ้นต่างประเทศ และต้องการโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยจะต้องจ่ายภาษีอย่างไร
- กรณีที่ 1 ถ้านำเงิน 10 ล้านบาทไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนมกราคมปี 2564 ผ่านไป 6 เดือน (มิถุนายน) จนพอร์ตลงทุนโตเป็น 16 ล้านบาท และนำเงินกลับเข้ามาในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำไรจำนวน 6 ล้านบาทจะถูกรวมเป็นเงินได้และก็จะต้องเสียภาษีตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้นจากเงินได้ส่วนนี้ (นำเงิน 6 ล้านบาทมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564)
- กรณีที่ 2 ถ้านำเงิน 10 ล้านบาทไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนมกราคมปี 2564 ผ่านไป 6 เดือน (มิถุนายน) ขาดทุนเหลือเงินในพอร์ต 9.8 ล้านบาท แล้วต้องการนำกลับมาในประเทศไทย กรณีนี้ คือ ขาดทุน ก็จะไม่ถูกคิดภาษีเงินได้ ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี เพราะถือว่าเป็นการโอนเงินตัวเองกลับมา
- กรณีที่ 3 ถ้านำเงิน 10 ล้านบาทไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนมกราคมปี 2564 ผ่านไป 6 เดือน (มิถุนายน) จนพอร์ตลงทุนโตเป็น 16 ล้านบาท แต่ยังไม่โอนเงินกลับเข้ามา จนกระทั่งปี 2565 ถึงตัดสินใจโอนเงินกลับเท่ากับว่าโอนเงินกลับคนละปีถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้ไม่เสียภาษีในประเทศไทยตามกฎหมาย
ในเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลอัตราภาษีของประเทศที่สนใจไปลงทุน เพราะแต่ละประเทศก็จะมีกฎระเบียบแตกต่างกัน จากนั้นต้องดูข้อมูลกฎหมายของประเทศว่าเมื่อต้องการโอนเงินกลับ มีภาษีอะไรบ้างที่ต้องจ่ายและจ่ายด้วยอัตราเท่าไหร่ แปลว่าควรวางแผนการซื้อขายแต่ละตลาดอย่างไร กำไรเท่าไรถึงจะคุ้มค่ากับภาษีที่จะต้องเสียในแต่ละประเทศและควรนำเงินกลับเข้ามาประเทศไทยเมื่อไรจึงจะประหยัดภาษี