ว่าด้วยการ “ใช้เวลา”
ทุกคนต่างมีเวลา 24 ชม. เท่ากัน
แต่สร้างผลลัพธ์ของการใช้เวลาได้แตกต่างกันเหลือเกิน ลองย้อนกลับไปนึกถึงเพื่อนร่วมรุ่นสมัยประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย เราพอจะเห็นกันใช่ไหม…เห็นความแตกต่างของหน้าที่การงาน ฐานะ และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและเรา
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? อะไรเป็นตัวสร้างความห่างเหล่านี้ขึ้น ทำไมอัตราเร่งของพวกเขาและเราถึงไม่เท่ากัน…คำตอบอย่างหนึ่งก็คือ “ตัวคูณ” ตัวคูณที่ทำให้ระยะของเขาและเรามันไม่เท่ากัน แล้วตัวคูณนั้น ก็คือ “การใช้เวลา”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ถามผู้ร่วมในงานเสวนา “เก(ล)า นิสัยอันตราย” ของกลุ่ม PIPO CLUB ว่า พวกเราใช้เวลากันอย่างไร? เพราะทุกคนต่างรู้ว่า เวลาเมื่อมันผ่านไปแล้ว เราย้อนกลับมาไม่ได้ เวลาฆ่าทุกสิ่งอย่างไม่เลือกหน้า แล้วเราปล่อยเวลาให้ฆ่าความเป็นตัวเราไปมากเท่าไรแล้ว? เราจำเป็นต้องจัดการกับเวลา!
การจัดลำดับความสำคัญ คือ ปมแรก
รูปธรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาพของการจัดการกับเวลา คือ ภาพของโถแก้ว ถ้า “โถแก้ว” เปรียบเสมือน “เวลาของชีวิต” จากนั้นแบ่งสิ่งต่างๆในชีวิตเป็น
- หิน: สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (ครอบครัว, สุขภาพ, มิตรภาพ, ความฝัน ฯลฯ)
- กรวด: สิ่งสำคัญรองลงมาในชีวิต (บ้าน, รถ, งาน ฯลฯ)
- ทราย: สิ่งไม่สำคัญในชีวิต
หากเราเริ่มโดยใช้เวลาไปกับทราย คือ การเล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก ดูยูทูป พื้นที่ของโถแก้วของเราอาจไม่เพียงพอให้ใส่หินของเราทั้งหมด แต่หากเราจัดลำดับโดยใส่ หิน คือ เรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว
ตามมาด้วย กรวด คือ เรื่องงาน แล้วตามมาด้วยการใช้เวลาว่างๆระหว่างการเดินทางไปกับ ทราย มันก็จะสามารถแทรกลงไปในช่องว่างของโถแก้วได้
เราต้องมี “เหตุผล” อธิบายได้ว่าอะไรคือ “สิ่งสำคัญ”
อดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ให้ความสำคัญกับ “สุขภาพ” เป็นอันดับแรกด้วยเหตุผลที่ว่า หากไม่สบาย จะดูแลครอบครัวได้อย่างไร? จะดูแลหรือบริหารบริษัทได้ดีไหม “สุขภาพ” จึงต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และทำให้เขาออกไปวิ่งช่วงเช้ามืดทุกวันละ 10 กิโล เป็นเวลากว่า 30ปีแล้ว
เราต้อง “ฉลาดใช้เวลา”
ประโยคอมตะนี้ถูกยกขึ้นมาเตือนสติว่า “อย่ารีบร้อนในการจัดการกับสิ่งใดๆ แต่ให้ใช้เวลาไปกับการเรียนรู้ ฝึกฝนตัวเอง ในทุกๆ ด้าน” เพราะปัญหาในปัจจุบันอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการเดิมๆ
วันที่ “ขวาน” ที่ลับไว้ แสดงคุณค่า
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การรักษาอาการหูหนวกตั้งแต่เกิดของลูกชาย โดยมีเงื่อนเวลาที่ต้องรีบรักษา เพราะเด็กจะมีกรอบอายุเพียง 2–3 ปีแรกในการพัฒนาทักษะการพูดได้อย่างคนปกติ คุณพ่อคนแกร่งยอมรับว่าเขาสติแตกมากในช่วงแรก เพราะไม่รู้ว่าเด็กหูหนวกเป็นอย่างไร และจะรักษาลูกชายของตนด้วยวิธีไหน
แต่พอตั้งสติได้ก็เริ่มหาความรู้ หาข้อมูล แล้วพบว่า หมอที่เก่งที่สุดทางด้านการผ่าตัดระบบประสาทหูเทียมอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงตัดสินใจสอบชิงทุนทำวิจัยที่ประเทศนั้นเพื่อจะได้พาลูกชายไปรักษาตัวในช่วงเวลาเดียวกัน “เราจะสอบทุนนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวด้านการเรียนและความรู้ไว้ก่อนหน้านั้น ถ้าถามว่าทำไมถึงสอบทุนได้ คำตอบก็คือเพราะตลอดวัยเรียนผมลับขวานอยู่ตลอด”
เมื่อ “เวลา” ถูกวิวัฒนาการสู่ “นิสัย”
เมื่อเราใช้เวลากับ “กิจกรรม” ใดไปนานๆ กิจกรรมนั้นก็จะกลายเป็น “กิจวัตร” และต่อยอดไปกระทั่งเป็น “นิสัย” ติดตัว และนิสัยเหล่านั้นก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปในทางที่ดีขึ้นได้ ดังเช่นเรื่องราว 6 ด้านนี้ (การตรงต่อเวลา | การอยู่ในโลกของความจริง | เ ผื่อเวลาในการทำงาน | มีการบริหารจัดการที่ดี | รับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี | ให้ความสำคัญกับคนอื่น) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ เสมือนน้ำที่เอ่อล้นออกจากแก้วสู่แก้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “การตรงต่อเวลา” เพราะการมาสายหมายถึง เราให้ความสำคัญกับเวลาของตัวเองมากกว่าเวลาของคนอื่น เราจึงตัดสินใจมาสาย
อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนชอบ คือ “การทำตัวเป็นตัวอย่าง” และประโยชน์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นก็คือ
หากไม่ “ลงมือทำ” ด้วยตัวเองก็ไม่อาจเข้าใจในรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น อย่าลืมว่า “เวลา” ของเราทุกคนกำลังนับถอยหลัง…อย่าลืมจัดลำดับความสำคัญของเวลา เพราะแม้ 24 ชั่วโมงที่มีเท่ากัน อาจสร้างคุณค่าจากเวลาที่ใช้ในมุมที่ต่างไป
กด Subscribe รอเลย…