×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

รู้เท่าทัน เงินเดือนที่หายไป

3,484

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

เหล่ามนุษย์เงินเดือน เคยสงสัยไหมว่า ทำงานมาทั้งเดือนทำไมเงินที่เข้าบัญชีถึงได้ไม่เต็มเหมือนที่ HR เคยบอกตอนเข้าทำงาน นั่นเพราะเงินเดือนที่จ่ายให้พนักงานแต่ละเดือน มีเงินบางส่วนที่ถูกหักไปตามกฎหมายและสวัสดิการ หลักๆ ได้แก่

 

เงินสมทบ ประกันสังคม

 

โดยปกติหักที่อัตรา 5% ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ถูกหักเดือนละ 500 บาท โดยฐานเงินเดือนสูงสุดที่ใช้คำนวณอยู่ที่ 15,000 บาท เช่น คนเงินเดือน 50,000 บาท ถูกหักเดือนละ 750 บาท (5% ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

 

เงินสมทบประกันสังคม ถือเป็นสวัสดิการภาคบังคับของมนุษย์เงินเดือนเอกชนทุกคน โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมี 7 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ซึ่งนอกจากพนักงานแล้วนายจ้างก็ต้องถูกหักเงินเข้าประกันสังคมเพื่อสมทบเป็นสวัสดิการให้พนักงานเช่นกัน

 

ตัวอย่าง สิทธิกรณีชราภาพ สำหรับคนเงินเดือนคงที่ 15,000 บาท ตลอดอายุการทำงาน เงินบำนาญที่จะได้รับแต่ละเดือนหลังเกษียณอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ขึ้นกับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม เช่น

 

  •    จ่าย 15 ปี เงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท

 

  •    จ่าย 30 ปี เงินบำนาญเดือนละ 6,375 บาท

 

 เงินสะสม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เปิดโอกาสให้พนักงานสมัครใจเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หลังผ่านช่วงทดลองงาน โดยอัตราหักเงินสะสมกองทุนฯ อยู่ที่ 2%-15% ของเงินเดือน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละบริษัทว่ากำหนดไว้ที่เท่าไร หรือพนักงานเลือกเพิ่มอัตราเงินสะสมได้หรือไม่

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งเงินออมยามเกษียณ ที่นายจ้างต้องช่วยสมทบเข้ากองทุนฯ 2%-15%ของเงินเดือน โดยบางบริษัทนายจ้างอาจเพิ่มอัตราเงินสมทบสูงขึ้นตามอายุงานของพนักงาน หรือมีทางเลือกนโยบายการลงทุน (Employee’s Choice) ให้พนักงานเลือกตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือตามระยะเวลาลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินลงทุนงอกเงยตลอดชีวิตการทำงานหลายสิบปี

 

ตัวอย่าง คนเงินเดือนคงที่ 15,000 บาท หากตลอดอายุการทำงาน 30 ปี อัตราเงินสะสมพนักงาน 3% ของเงินเดือน และอัตราเงินสมทบนายจ้าง 3% ของเงินเดือน เงินก้อนที่ได้รับ ณ วันที่เกษียณ จะขึ้นกับนโยบายการลงทุน (Employee’s Choice) ที่เลือก เช่น

 

  •  นโยบายลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ สมมติผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ต่อปี จะมีเงินก้อนประมาณ 443,453 บาท

 

  •   นโยบายลงทุนผสมกันทั้งหุ้นและตราสารหนี้ สมมติผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี จะมีเงินก้อนประมาณ 749,033 บาท

 

 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

 

มนุษย์เงินเดือนเอกชนที่รายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 27,000 บาทขึ้นไป หากไม่ใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมจะเริ่มถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องคำนวณเพื่อคาดการณ์ภาษีของพนักงานที่ต้องจ่าย และทำการ เฉลี่ยเป็นรายเดือน เพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินที่พนักงานได้รับในแต่ละครั้งหรือแต่ละเดือน

 

สำหรับผู้ที่มีการวางแผนภาษีแต่เนิ่นๆ หากบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานยื่น “แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน (ล.ย.01)” เพื่อนำค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ลดหย่อนบุตร/บิดา/มารดา ดอกเบี้ยบ้าน เบี้ยประกัน กองทุน SSF/RMF เงินบริจาค ฯลฯ ไปคำนวณร่วมกับรายได้ที่บริษัทจ่ายให้ จะทำให้เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในแต่ละเดือนน้อยลงได้

 

ทำงานหาเงินเป็นสิ่งดี แต่จะดีกว่าหากใส่ใจสักนิด รู้ว่าเงินที่ได้ถูกหักไปกับเรื่องอะไร สามารถจัดการให้ถูกหักน้อยลง หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และงอกเงยมากยิ่งขึ้นอย่างไรได้บ้าง

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats