จัดพอร์ตลงทุน สำหรับคนวัยเกษียณ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ถ้าเชื่อว่าคนวัยเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคนวัยทำงาน อาจต้องคิดใหม่ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าคนวัยไหนก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นพอสมควร ยิ่งเป็นยุคเงินเฟ้อเป็นขาขึ้น ค่าน้ำมันแพง ราคาอาหารขยับขึ้น ยิ่งต้องประหยัดมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยเกษียณที่ต้องบริหารเงินเก็บก้อนสุดท้ายให้ดี เพื่อจะได้มีใช้ไปตลอด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายหยุมหยิมพอสมควร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรืองานสังคมมากขึ้น ซึ่งก็ตามมาด้วยค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ผู้ที่เตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณมาดีอาจมั่นใจว่ามีเงินใช้เพียงพอ แต่คำถามคือ ถ้าใช้จ่ายแบบมือเติบอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
ดังนั้น ถึงแม้จะเตรียมเงินมาดีแต่หลังเกษียณก็ต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพียงแต่ละรูปแบบการวางแผนจะแตกต่างกันเพราะแต่ละคนจะมีรูปแบบการออมเงิน การใช้จ่ายเงินไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ที่เตรียมเงินมาดีก็เจอปัญหาไม่มาก แต่ผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาดีจะเจอปัญหาด้านการเงิน
โดยส่วนใหญ่แล้วหลังวัยเกษียณมักจะเก็บออมในรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งทุกวันนี้ดอกเบี้ยที่ได้รับคงไม่พอกับการใช้ดำรงชีวิต ดังนั้น หลังวัยเกษียณจึงควรมองหาช่องทางการออมเงิน การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นแต่มีความปลอดภัยของเงินต้นด้วย
โดยพอร์ตลงทุนเหมาะกับวัยเกษียณ คือ พอร์ตสายกลาง ๆ
- 30% แบ่งเงินไปในรูปของเงินฝาก ซึ่งเบิกถอนได้ทุกวันหรือลงทุนในตราสารทางการเงิน เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน โดยเงินส่วนนี้จะเน้นในเรื่องการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนการฝากเงินของผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ควรฝากเงินออมไว้กับผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ต้องเสียภาษี แถมยังได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าปกติด้วย
- 40% แบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มผลตอบแทน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ รวมทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ
- 10% แบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ทองคำ วัยก่อน 70 ปี ก็สามารถลงทุนในหุ้นได้ แต่ต้องมองหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ส่วนทองคำนั้นถือเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อ
- 20% แบ่งไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพราะให้ผลตอบแทนต่อปีในระดับที่น่าประทับใจ แต่ควรเลือกกองที่จ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ เช่น จ่ายปันผลรายไตรมาส
อย่าปรับพอร์ตบ่อย
แน่นอนว่าการปรับพอร์ตเป็นประเด็นสำคัญของการลงทุน แต่สำหรับหลังวัยเกษียณอาจจะไม่ใช่เรื่องแรกที่ต้องนึกถึง เพราะการปรับพอร์ตลงทุนของวัยเกษียณจะไม่มีผลมากนัก เพราะสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีไม่มาก ขณะที่ในส่วนการลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs ก็เป็นการลงทุนระยะยาว จึงไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตมากนัก
อย่างไรก็ตาม หากคิดจะปรับเปลี่ยนพอร์ตต้องดูเรื่องสภาพคล่องเป็นหลัก เช่น ถ้าสภาพคล่องลดลงเพราะเกิดจากการใช้จ่าย ก็สามารถขายเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ แล้วย้ายไปในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมาก แต่ต้องรักษาน้ำหนักของพอร์ตลงทุนให้เหมือนเดิม
ดังนั้น การปรับพอร์ตลงทุนของวัยเกษียณต้องมีวินัย เช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส ผลตอบแทนจากฝั่งหุ้นจะขยับขึ้นเร็ว จนทำให้น้ำหนักการลงทุนฝั่งหุ้นขยับสูงขึ้น ถ้ามีวินัยในการลงทุนก็จะปรับพอร์ตด้วยการขายทำกำไรในส่วนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาออกไป แล้วนำกำไรที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนในฝั่งตราสารหนี้ เพื่อให้น้ำหนักของพอร์ตกลับไปในสัดส่วนเหมือนเดิม