4 เหตุผล… ทำไมต้องวางแผนเกษียณ?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หลายคนคิดว่า… การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของคนสูงอายุ ไว้ใกล้ ๆ เกษียณแล้วค่อยคิดกันอีกทีก็ได้ แต่ปัจจุบันมีเหตุผลมากมายที่ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ซึ่งข้อมูลจากสถิติบอกว่า… คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น อัตราการเกิดลดลง นั่นแปลว่าผู้สูงอายุต้องดูแลตนเองมากขึ้น แถมสวัสดิการพื้นฐานของรัฐก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ทำให้ผู้สูงอายุร้อยละ 38.4 ยังคงต้องทำงานหาเงิน
“เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่เราทุกคนหนีไม่พ้น”
แต่รู้หรือไม่ว่า… การวางแผนการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การวางแผนเกษียณ” อาจช่วยผ่อนทุกข์จากการแก่ได้เยอะทีเดียว เพราะหากทำงานเก็บเงินเพียงอย่างเดียว บอกได้เลยว่าต้องลงแรงเหนื่อย กว่าจะมีจำนวนเงินออมเพียงพอไว้ใช้ตลอดอายุขัยหลังเกษียณ แต่ถ้าเราให้ “เงินทำงาน” ช่วยเราอีกแรงอาจทำให้เหนื่อยน้อยลง และบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
วันนี้จึงอยากพาทุกคนมาดู 4 เหตุผล… ทำไมต้องวางแผนเกษียณ?
อาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีเมื่อเกษียณ
สุขภาพกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้แรงกายทำงานได้จนหมดลมหายใจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันจะยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่าดูแลรักษาบ้าน และค่าเดินทางท่องเที่ยวตามที่ฝันมาตลอด
ยิ่งไปกว่านั้นค่าใช้จ่ายบางส่วนกลับเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เบี้ยประกันสุขภาพ การทำบุญ หรือบริจาคสาธารณกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโสดที่สบายตัวสบายกระเป๋า ไม่เคยมีภาระอะไรก่อนเกษียณ หลังเกษียณก็คงไม่มีลูกหลานมาคอยดูแล ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างพยาบาลเพื่อมาดูแลป้อนน้ำป้อนข้าว อาบน้ำตัดเล็บ ตัดผม หรือแม้แต่พาไปส่งโรงพยาบาลในยามที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
อาจไม่มีลูกหลานคอยดูแล
อัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ บ่งบอกว่า… มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตนเองมากขึ้น ใครที่มีลูกหลานแล้วก็อย่าเข้าใจผิดว่าการวางแผนการศึกษาบุตร เป็นการวางแผนเกษียณ เพราะบุตรหลานก็อาจไม่สามารถดูแลเราได้ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเกิดจากการละทิ้งพ่อแม่โดยตั้งใจ หรือโดยไม่ตั้งใจ จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ หรือมีเหตุไม่คาดคิดมาทำให้จากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร
อาจไม่มีคนอื่นมาดูแล
องค์กรภาครัฐหรือองค์กรสาธารณกุศล คงไม่สามารถดูแลเราทุกคนได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าไม่มั่นใจ ลองศึกษาเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม แล้วจะรู้ว่า… คนอื่นก็ไม่สามารถดูแลเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตามที่เราต้องการไปจนชั่วชีวิต
อาจต้องดูแลตัวเองหลังเกษียณยาวนานขึ้น
มีความจริงอยู่ 2 ข้อที่ทำให้ในอนาคต เราอาจต้องดูแลตัวเองหลังเกษียณยาวนานขึ้น
- หลายคนมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ เพราะต้องการทำตามความฝันที่ขาดหายไปในเวลาที่สังขารยังเอื้ออำนวย หรือไม่ตั้งใจ แต่ถูกบีบบังคับทางอ้อมให้สมัครใจออกจากงานก่อนกำหนดด้วยวลีสวยหรูว่า Early Retire
- อายุขัยหลังเกษียณอาจยืนยาวมากขึ้นจนน่าตกใจ
พีระมิดประชากรไทยตั้งแต่อดีตในปี พ.ศ. 2513 และ พ.ศ. 2533 จากการสำมะโนประชากรและเคหะ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จนถึงการคาดการณ์โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2573 ให้เราได้เห็นว่า โครงสร้างพีระมิดประชากรไทยในอนาคตกำลังจะพังทลาย เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง ไม่สามารถดูแลจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นก็ยังเป็นผู้สูงอายุที่อายุยืนมากอีกด้วย
ข้อมูลสนับสนุนมากมายขนาดนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมแล้วว่า “ทำไมใคร ๆ ก็ต้องวางแผนเกษียณ”