6 เทคนิคนอนหลับแบบ “นักบินอวกาศ NASA”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
นักบินอวกาศของ NASA ที่ทำงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินั้น ต้องเจอกับพระอาทิตย์ขึ้นถึง 16 ครั้งต่อวัน อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน แล้วพวกเขาจะสามารถนอนหลับกันได้อย่างไร และถ้านอนไม่พออาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดในการทำงานได้แน่
วันนี้จึงอยากชวนมาดูเทคนิคการนอนหลับอย่างมีคุณภาพที่นักบินอวกาศ NASA ใช้กัน และยังเป็นวิธีที่ใครนอนหลับยากสามารถใช้ได้อีกด้วย
กำหนดเวลานอน–ตื่นให้ชัดเจน
ร่างกายของเรามีระบบที่เรียกว่า ‘นาฬิกาชีวิต’ ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการนอน การตื่น หรือการหลั่งฮอร์โมน ดังนั้นหากเรานอนไม่เป็นเวลา นอนน้อย หรือไม่ได้นอน นาฬิกาชีวิตของเราอาจผิดปกติได้ และอาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับและมีความเหนื่อยล้าได้
การกำหนดเวลาเวลานอนและตื่น จึงเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาการนอนได้ดีที่สุด โดยจะช่วยให้เรานอนเป็นเวลามากขึ้น และป้องกันไม่ให้นาฬิกาชีวิตของเราผิดปกติ
เราจึงควรกำหนดเวลาการนอนและตื่นในแต่ละวัน โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันและพฤติกรรมการนอนของแต่ละคน อีกทั้งตารางเวลานี้ ยังรวมถึงการกินอาหาร การออกกำลังกาย และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการนอนของเราด้วย
หาความรู้เรื่องการนอนหลับ
รับรู้ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลดี–ไม่ดีต่อคุณภาพและปริมาณการนอนของเรา เช่น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การงดเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน และการเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งจะช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น และนาฬิกาชีวิตไม่ผิดเพี้ยนไป
สภาพแวดล้อมของห้องนอน
NASA เผยว่า ห้องนอนส่วนตัวบนสถานีอวกาศนั้นถูกออกแบบมาให้ส่งเสริมกับการนอนที่ดีต่อสุขภาพและไม่ถูกรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ พวกเขาจึงต้องใส่ใจกับปัจจัยต่าง ๆ อย่างมาก เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง คาร์บอนไดออกไซด์ และที่สำคัญคืออุปกรณ์พิเศษที่ช่วยไม่ให้นักบินอวกาศลอยไปมาขณะนอนหลับ
ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจกับสภาพแวดล้อมของห้องนอน ทั้งแสง เสียง และบรรยากาศ โดยบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับห้องนอนก็คือ บรรยากาศเหมือนถ้ำ คือทั้งมืดและเย็นนั่นเอง
แสงไฟในห้อง
สถานีอวกาศนั้นโคจรรอบโลกทุก ๆ 90 นาที ซึ่งหมายความว่านักบินอวกาศจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้น 16 ครั้งในแต่ละวัน การเปลี่ยนแปลงจากความมืดไปยังความสว่างบ่อยครั้งนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปรับตัวของร่างกาย วงจรการหลับและตื่น และทำลายนาฬิกาชีวิต
NASA จึงมีระบบแสงแบบ Solid-State Light Assemblies (SSLA) ช่วยให้นักบินอวกาศสามารถปรับสเปกตรัมสีและความเข้มของแสงได้อิสระ เพื่อให้นอนหลับได้อย่างปกติ
ดังนั้นแสงไฟในห้องนอนจึงสำคัญต่อการนอนหลับ การที่ไฟในห้องถูกเปิด–ปิดไฟบ่อยครั้งระหว่างเรานอนหลับ จะรบกวนการนอนของเราได้
ใส่ใจกับเรื่องการกินก่อนนอน
อาหารเสริมบางประเภทจะส่งผลดีต่อการนอนหลับ เช่น ประเภทที่มี Melatonin (ฮอร์โมนเพื่อการนอนหลับ) โดยปกติแล้วฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาตอนกลางคืนและทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงและนอนหลับไป ปัจจุบันมีการนำเมลาโทนินไปใช้ในการรักษาโรคนอนไม่หลับอีกด้วย
ส่วนอาหารบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อการนอน เช่น คาเฟอีน ควรเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชาและกาแฟ ในช่วงเวลาใกล้เข้านอน
บำบัดการนอน
นักบินอวกาศทุกคนจะมีการบำบัดการนอน หรือ Sleep Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการคิดมาก คิดฟุ้งซ่าน เพื่อให้พวกเขานอนหลับได้ดีขึ้น และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นหากใครที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และลองทำตามเทคนิคทั้ง 6 ข้อ แล้วยังไม่ได้ผล ควรจะไปพบนักบำบัด เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการนอนของเราได้
และนี่เป็น 6 เทคนิค ที่ NASA ได้แนะนำ ที่จะช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับอยู่บนโลกหรือนอนอยู่บนสถานีอวกาศที่โคจรรอบโลกก็ตาม