เปิดพอร์ต 5 กองทุนหุ้นไทย “ใหญ่ที่สุด”
ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนแบบนี้ คำถามที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ ช่วงนี้ลงทุนได้หรือยัง?
คำถามที่ตอบไม่ได้ง่ายนัก แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือหากคิดจะลงทุนในตลาดหุ้นแล้วต้อง “ลงทุนระยะยาว” เพราะสถิติในอดีต สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจะช่วยลดความผันผวน และทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วย
และสำหรับใครที่กำลังมองหากองทุนหุ้นไทย ที่ไม่ใช่ LTF และ RMF เพื่อลงทุนอยู่ วันนี้ WealthMeUp เราจะพาดูกองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ที่มีผู้ลงทุนนิยมลงทุนมากที่สุด โดยวัดได้จากขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
5 อันดับกองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
1.กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) บลจ. กรุงศรี
มีขนาดมูลค่าทรัพยสินสุทธิอยู่ที่ 17,803.96 ล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้ถือเป็นกองทุน Flagship ของ บลจ. กรุงศรี เลยก็ว่าได้ ซึ่งในอดีตจะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก แต่ด้วยขนาดของกองทุนที่ใหญ่มากขึ้นทุกวันทำให้สไตล์การลงทุน ณ ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่แทน
“ปันผลสม่ำเสมอ” จุดเด่น KFSDIV
สำหรับความโดดเด่นของกองทุนนี้คือ ความสม่ำเสมอในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งในอดีตตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้กองทุนมีการจ่ายเงินปันผลไปแล้วทั้งสิ้น 33 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 15.15 บาท หรือ เฉลี่ยแล้วจ่ายปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง
“ค่าใช้จ่ายสูง” จุดอ่อน KFSDIV
ข้อด้อยอย่างหนึ่งของกองทุนนี้นั้นก็คือ อัตราค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บนั้นค่อนข้างสูงอยู่ที่ปีละ 2.35% ซึ่งนั้นก็หมายความว่านักลงทุนมีต้นทุนในการลงทุนที่สูงนั่นเอง
2.กองทุนเปิดอเบอร์ดีนโกรท (ABG) บลจ. อเบอร์ดีน
ขนาดมูลค่าทรัพยสินสุทธิอยู่ที่ 10,323.74 ล้านบาท กองทุนนี้ถ้านักลงทุนหน้าใหม่มาเห็นราคา NAV ต่อหน่วยล่าสุดของกองทุนนี้ก็คงตกใจเพราะปัจจุบันมี ราคา NAV ต่อหน่วยอยู่ที่ 118.1786 บาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรดากองทุนเปิดในประเทศไทย แต่นักลงทุนก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะกองทุนนี้เปิดดำเนินการมานานกว่า 20 ปี และกองทุนนี้ไม่มีนโนบายการจ่ายเงินปันผลซึ่งก็ทำให้ผลกำไรนั้นถูกสะสมเข้ามาเรื่อยๆเป็นเหตุผลให้ราคา NAV นั้นเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
“กระจายการลงทุน” จุดเด่น ABG
จุดเด่นของกองทุนดังกล่าวนี้ก็คือ การกระจายการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมและหุ้นอย่างเหมาะสม โดยที่ 10 อันดับหลักทรัพย์สูงสุดนั้นมีมูลค่ารวมกันเพียง 47.2% เท่านั้น ซึ่งตรงจุดนี้ก็จะช่วยลดความผันผวนแทนได้อีกด้วย
“ค่าใช้จ่ายสูง” จุดอ่อน ABG
ในขณะที่กองทุนมีการเก็บค่าใช้จ่ายรวมในระดับที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกันที่ 2.01% ต่อปี
3.กองทุนเปิดทหารไทย SET50 (TMB50) บลจ. ทหารไทย
โดยกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 7,992.02 ล้านบาท กองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรับ (Passive management) ซึ่งเน้นสร้างผลตอบแทนเกาะไปกับดัชนี SET50
“ค่าใช้จ่ายต่ำ-เข้าใจง่าย” จุดเด่น TMB50
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของกองทุนนี้นั้นก็คือ ค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บนั้นก็จะถูกกว่ากองทุนประเภท Active Fund อื่นๆ ซึ่งกองทุนนี้เรียกเก็บอยู่ที่ 0.59% ต่อปีเท่านั้นเอง และสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนนี้ก็สามารถลงทุนและเข้าใจที่มาที่ไปของผลตอบแทนได้อย่างง่ายเพราะมันจะเกาะไปตาม ดัชนี SET50 และนักลงทุนก็สามารถติดตาม Portfolio กองทุนรวมแบบเต็มทุกหลักทรัพย์ได้เป็นรายเดือน ซึ่ง บลจ. ทหารไทย เปิดเผยให้เราทราบผ่านทางเว็ปไซต์ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งข้อดีในเรื่องของความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
“ผันผวนตามภาวะตลาด” จุดอ่อน TMB50
ส่วนข้อเสียนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงในยามที่ตลาดเกิดความผันผวนเนื่องจากกองทุนไม่สามารถลดน้ำหนักในการลงทุนหุ้นได้
4.กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) บลจ. บัวหลวง
ด้วยขนาดกองทุนกว่า 7,265.56 ล้านบาท และแน่นอนที่สุดกองทุนนี้คือ กองทุนหุ้นไทยที่เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดของ บลจ. บัวหลวง โดยที่กองทุนนี้มีการบริหารแบบเชิงรุก (Active management)
“หุ้นเด่น 10 ตัว-ค่าใช้จ่ายไม่สูง” จุดเด่น BTP
ซึ่งจุดเด่นของกองทุนนี้ก็คือ การที่ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหุ้นที่มั่นใจ (high conviction) มาลงทุนในพอร์ตเพียงแค่ 10 ตัวเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นการสะท้อนถึงความมั่นใจในการลงทุนของผู้จัดการกองทุนเป็นอย่างดี นอกจากนี้กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลนี้ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ในขณะที่กองทุนมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในระดับกลางๆประมาณ 1.71% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี
“กระจุกตัว-อาจซื้อขายถี่” จุดอ่อน BTP
แต่การมีหุ้นเพียง 10 ตัวก็อาจจะเป็นข้อด้อยของกองทุนด้วยเช่นกันเนื่องจากกองทุนมีการกระจายการลงทุนต่ำกว่าปกติ ทั้งในส่วนของหลักทรัพย์และหมวดอุตสาหกรรมจึงเป็นที่มาของความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้กองทุนยังอาจซื้อขายหน่วยลงทุนที่ถี่มากขึ้นอีกด้วย
5.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ (SCBSET) บลจ. ไทยพาณิชย์
โดยกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 7,111.65 ล้านบาท กองทุนนี้มุ่งเน้นการบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET Index โดยที่กองทุนจะมีการลงทุนในหุ้นเฉลี่ยแล้วมากกว่า 100 หลักทรัพย์ แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
“กระจายความเสี่ยง-ค่าใช้จ่ายต่ำ” จุดเด่น SCBSET
จุดเด่นที่สำคัญของกองทุนนี้คือ เรื่องของการกระจายความเสี่ยง โดยที่ 5 อันดับหลักทรัพย์สูงสุดนั้นมีมูลค่ารวมประมาณ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของกองทุนนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บนั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9585% เท่านั้น โดยกองทุนนี้ไม่มีนโนบายจ่ายเงินปันผล
“ผันผวนตามภาวะตลาด” จุดอ่อน SCBSET
ส่วนข้อเสียก็เฉกเช่นกองทุนที่ล้อไปกับดัชนีอื่นๆ นั่นคือการบริหารความเสี่ยงในยามที่ตลาดเกิดความผันผวน
กด Subscribe รอเลย…