มีลูก = มีภาระ? ‘วิกฤตเด็กเกิดน้อย’ คนไทยจะหายไปครึ่ง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
‘วิกฤตเด็กเกิดน้อย’ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายทั่วทั้งโลก เนื่องจากเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในหลายมิติเลยทีเดียว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายนี้อยู่ และในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ‘คนไทย’ จะหายไปกว่าครึ่ง
นับตั้งแต่ ปี 2564-2566 อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงจนน่าตกใจ เหลือเฉลี่ยแค่ปีละ 500,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราการเกิดน้อยที่สุดในรอบ 71 ปี ข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2626 ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น หรือหายไปครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบันที่มีอยู่ราว 70 ล้านคน
โดยประชากรวัยแรงงาน ช่วงอายุ 15-64 ปี จะลดลงเหลือเพียง 14 ล้านคน ส่วนประชากรวัยเด็ก ช่วงอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน และประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย 65 ปีขึ้นไป ถึง 18 ล้านคน และสัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ
อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดน้อย แรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงแค่ไหน ทางออกของปัญหานี้คืออะไร นี่คือมุมมองและข้อเสนอแนะจาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ที่ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษไว้กับ Wealth Me Up
4 สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดวิกฤตเด็กเกิดน้อย
1. Mindset ‘มีลูก = มีภาระ’
หรือการมีลูกมากจะทำให้ยากจน เรื่องนี้ ดร.สมชัย มองว่า การมีลูกมากในปัจจุบันอาจไม่ได้ถึงขั้นทำให้ยากจน แต่ต้องยอมรับว่าทำให้การใช้ชีวิตมีความยากลำบากขึ้นมาระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับพ่อแม่ในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความคาดหวังจะให้ลูกเกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีของเล่นดีๆ ไปเรียนโรงเรียนดีๆ หรือโรงเรียนอินเตอร์ที่แพงๆ เป็นต้น แต่จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้พ่อแม่หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าจะดูแลลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ คำตอบคือ …พวกเขาเริ่มไม่แน่ใจ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูกดีกว่า
2. ไม่คาดหวังให้ลูกมาดูแลตอนแก่
คนสมัยก่อนมักมีความคาดหวังว่าลูกหลานจะมาดูแลตัวเองในตอนแก่เฒ่าจึงทำให้รุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายของเรามีลูกมาก แต่ความคาดหวังนี้กลับ ‘น้อยลง’ อย่างมากในยุคนี้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไปที่มองว่าสามารถดูแลตัวเองได้ และภาครัฐเองก็มีนโยบายเข้ามาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จึงไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีลูก ขณะเดียวกันบางส่วนก็มองว่า หากไม่มีลูกจะทำให้มีเงินเก็บออมมากขึ้น เพื่อไปใช้ดูแลตัวเองในตอนแก่
3. ต้องการ ‘อิสระ’ ในการใช้ชีวิต
เช่น อยากมีเวลาไปเที่ยว อยากทำตามความฝัน ซึ่งการมีลูกจะทำให้อิสระในการใช้ชีวิตหายไปนั่นเอง
4. สังคมไม่น่าอยู่
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี หรือแม้แต่เรื่องของการเมืองในบ้านเราที่ระยะหลังมานี้ค่อนข้างวุ่นวาย ก็ล้วนมีผลทำให้คนรู้สึกว่าสังคมไม่น่าอยู่ ทำให้คนบางกลุ่มคิดว่าถ้ามีลูกแล้วลูกต้องเกิดมาอยู่ในสังคมแบบนี้ ก็ไม่มีลูกซะเลยจะดีกว่า
แม้ว่า 2 สาเหตุหลัง จะไม่ได้สำคัญเท่า 2 สาเหตุแรก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนคิดแบบนั้น!
‘วิกฤตเด็กเกิดน้อย’ แรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ
1. มีแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง
สิ่งที่ตามมาคือประเทศไทยไม่สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตได้ ทำให้ GDP โตน้อยลง และช้าลง ซึ่งอาจกดดัน GDP ของไทยให้โตต่ำกว่า 2% และนั่นจะทำให้คนในวัยหนุ่มสาวไม่สามารถพัฒนา Productivity หรือผลิตภาพของตัวเองได้ดีนัก
2. ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ของสังคมไทย
จากจำนวนประชากรที่น้อยลง + ความสามารถในการพัฒนาผลิตภาพที่น้อยลง ภาพที่จะได้เห็นมากขึ้นในระยะต่อไปก็คือ บริษัทขนาดใหญ่เลิกจ้างคน และหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และ AI มากขึ้น เมื่อเจ้าของบริษัทจ้างคนน้อยลง นั่นหมายถึงว่า เจ้าของบริษัทก็จะรวยขึ้น คนรวยก็จะรวยขึ้น ส่วนคนจนหรือว่าคนที่เป็นแรงงานก็จะยิ่งจนลง
3. รัฐบาลมีรายได้น้อยลง
เพราะมีคนเสียภาษีน้อยลงนั่นเอง ทำให้สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นปัญหาวนลูป รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุและดูแลเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ
‘คน–เงิน–เวลา’ ทางแก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย
‘คน’ รัฐบาลควรกำหนดให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเด็กในช่วง 1,000 วันแรก เพราะถ้าเด็กได้รับการพัฒนาที่ถูกที่ควรในช่วงนี้ก็จะทำให้เด็กมีศักยภาพที่สูงมาก
‘เงิน’ ภาครัฐต้องมีเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการมีลูกมากขึ้น หรือแม้แต่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีกับคนมีลูกมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเช่นกัน เพราะการมีลูกมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่ต้องไปเริ่มกันตั้งแต่เรื่องของ Mindset ด้วย และที่ผ่านมาแม้หลายประเทศจะพยายามให้เงินอุดหนุนการมีบุตรมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จมากนัก
‘เวลา’ เช่น การเพิ่มสิทธิวันลาคลอดให้กับคุณแม่ และเพิ่มสิทธิวันลาให้กับคุณพ่อเพื่อช่วยดูแลเด็กแรกเกิด
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ‘การทำให้ราคาบ้านถูกลง’ อย่างเคสของประเทศเกาหลีใต้ที่ทำให้คนรู้สึกไม่อยากมีลูก เพราะราคาบ้านแพงมาก เมื่อพวกเขายังไม่มีบ้านอยู่ ดังนั้นคงไม่สามารถที่จะสร้างครอบครัวได้นั่นเอง และท้ายสุดก็คือการร่วมกัน ‘สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่’ เพื่อตอบโจทย์พ่อแม่ที่รู้สึกว่าไม่อยากให้ลูกเกิดมาในสังคมที่ไม่ดี
‘เราต้องไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง’ นี่คือสิ่งที่ ดร.สมชัย จิตสุชน บอกเอาไว้ เพราะเด็กเป็นหัวใจและเป็นอนาคตประเทศ ดังนั้นการแก้ปัญหา ‘วิกฤตเด็กเกิดน้อย’ ต้องทำอย่างจริงจังและที่สำคัญต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้!