‘กินหรู ดูดี ไม่มีเงินเก็บ’ ทำแดนกิมจิ แก้ ‘เด็กเกิดน้อย’ ยาก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค. 67 รัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ประกาศแผนจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อมุ่งแก้ปัญหาประชากร หลังจากที่มาตรการนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวในการพลิกฟื้นอัตราการเกิดที่ดิ่งลง ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนสำหรับการแก้หมันชาย (Vasectomy Reversal) เงินช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกแรกเกิด บริการแท็กซีฟรี และการขยายระยะเวลาลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง
โดยผลสำรวจของบริษัทวิจัย PMI Co. เมื่อเดือน พ.ค. 67 ชี้ชัดว่า ปัญหาทางการเงินยังคงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้เลือกที่จะไม่มีลูก โดยประมาณ 46% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,800 คน ระบุว่าความไม่มั่นคงในอาชีพการงานหรือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น
สถานการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ที่ระบุว่าในปีที่ผ่านมา รายได้ต่อปีของคนในวัย 20-30 ปี เพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนโดยรวมที่ 4.5% อย่างเห็นได้ชัด
ศาสตราจารย์จอง แจ-ฮุน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสตรีโซลเสริมว่า การที่คนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับความสุขเฉพาะหน้ามากขึ้น ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่ตอบสนองต่อนโยบายกระตุ้นการมีบุตรของรัฐบาลที่เน้นการให้เงินอุดหนุน
‘คนรุ่นใหม่กำลังไล่ล่าหาสถานะทางสังคม ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวมุ่งสร้างภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของตนในโลกออนไลน์ มากกว่าการตั้งเป้าหมายที่เกินเอื้อมอย่างการสร้างครอบครัวและมีลูก’ ศาสตราจารย์จอง แจ-ฮุน ได้กล่าวเอาไว้
ข้อมูลจาก Hyundai Card ยังแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนการใช้จ่ายของคนวัย 20 ปีในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 12% ในช่วง 3 ปีจนถึงเดือน พ.ค. 67 ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มอายุอื่นๆ ทั้งหมดกลับลดลง และวิจัยจาก Euromonitor รายงานว่า เฉพาะปีที่แล้ว รายได้ของร้านอาหารบุฟเฟต์ราคาแพงพุ่งสูงขึ้นถึง 30.3% ในขณะที่ร้านอาหารจานด่วนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 10.5% และธุรกิจร้านอาหารโดยรวมเติบโตเพียง 9%
นอกจากนี้ ผลการวิจัยของมอร์แกน สแตนลีย์ เมื่อปีที่แล้วชี้ว่า รสนิยมหรูหราของชาวเกาหลีทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บริโภคที่ใช้จ่ายเงินกับสินค้าแบรนด์หรูมากที่สุดในโลกเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัว ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นตลาดเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับแบรนด์สินค้าหรูชั้นนำ และมีการเซ็นสัญญากับวงเคป็อปที่มีกลุ่มแฟนคลับวัยรุ่นอย่างแบล็กพิงก์และนิวจีนส์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก