×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน ‘สิงคโปร์’ ไทยหยิบอะไรมาใช้ได้บ้าง?

237

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่สิงคโปร์ดีทุกอย่าง ไม่ใช่โจทย์ที่ว่าเราจะไปลอกการบ้าน แต่เป็นโจทย์การถอดรหัส ถอดบทเรียน ซึ่งคิดว่าบทเรียนของสิงคโปร์ คือ ‘ก.ไก่ และ ล.ลิง’ หรือ ‘กล’ 4 ตัว คือ กลัว กล้า ไกล และโกลบอล ที่เป็นหัวใจของสิงคโปร์เลย”

 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

เรียนรู้จากชีวิต 13 ปี ในสิงคโปร์

 

ชีวิตของ ดร.สันติธารได้ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญชนิดที่เรียกว่า Twists and Turns มาหลายครั้ง และทางแยกที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิตที่ได้บ่มเพาะและหล่อหลอมประสบการณ์ให้กลายเป็นตัวตนในวันนี้ คือ การตัดสินใจเลือกไปทำงานที่ ‘สิงคโปร์’ หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา และอยู่ยาวถึง 13 ปี ก่อนกลับมาทำงานที่เมืองไทย

 

ดร.สันติธารเล่าว่า ตัดสินใจไปอยู่สิงคโปร์ เพราะเลือกธีมเอเชีย ซึ่งตอนนั้นเป็นยุคปี 2010 หลังเกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ (Hamburger Crisis) และหลายคนมองว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจของโลกจะเบนเข็มไปทางโลกตะวันออก หรืออาจพูดได้ว่าเป็นยุคของการผงาดขึ้นมาของเอเชีย (Rise of Asia หรือ Asian Century)

 

ถ้าเราอยากไปอยู่ในที่ๆ เป็นชีพจรเศรษฐกิจมารวมกัน และตรงนั้นกำลังเป็นขาขึ้น เราก็ควรจะกลับไปที่เอเชีย ไม่ควรอยู่ที่อเมริกาแล้ว ตอนนั้นเพื่อนที่จบปริญญาเอกด้วยกันหลายคนก็ไปทำงาน IMF หรือ World Bank หรืออยู่ทำงานในอเมริกาต่อ ผมก็สมัครงานที่นั่น แต่สุดท้ายรู้สึกว่า เราควรกลับไปเอเชียมากกว่า พอจะกลับไปเอเชีย ก็มี Choice ว่า จะกลับมาเมืองไทยมั้ยแต่ก็ค้นพบว่า ถ้ามาเมืองไทยจะดูตลาดไทยอย่างเดียว ไม่ได้ดูตลาดเอเชีย โดยเฉพาะถ้าอยู่ในภาคการเงิน ถ้าอยากจะเป็น Regional Hub หรือ Global Hub จริงๆ ในตอนนั้น มีแค่ 2 ที่ คือ ฮ่องกง หรือสิงคโปร์”  

 

และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีก ดร.สันติธารก็พบว่า หากต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคก็ควรจะเลือกสิงคโปร์มากกว่าฮ่องกง เพราะในยุคนั้น ฮ่องกงจากที่เคยเป็น Global Financial Center มากๆ ก็เริ่มกลายเป็นประตูสู่จีน ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจว่า ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีน หรือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน เพราะสิงคโปร์มีความเป็นอาเซียนมากกว่า

 

จากวันแรกที่ตัดสินใจไปทำงานที่สิงคโปร์ ดร.สันติธารไม่คิดว่าจะอยู่ยาวมาเกินทศวรรษ แต่เพราะหลายปัจจัยทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมายจากสิงคโปร์ ที่สามารถนำมาต่อยอดเส้นทางอาชีพในประเทศไทยได้ในปัจจุบัน

  

ดร.สันติธารชี้ว่า จุดเด่นของสิงคโปร์คงไม่ใช่ “เสน่ห์” แต่ว่ามีความสะดวกสบายหลายอย่าง เหตุผลหลักๆ คือ เรื่องงาน โดยช่วง 9 ปีแรก ทำงานอยู่ในภาคการเงินกับสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกอย่าง Credit Suisse โดยสิงคโปร์ถือว่ามีโอกาสการทำงานด้านภาคการเงินค่อนข้างเยอะ เพราะธนาคารใหญ่ๆ และโอกาสตลาดใหญ่ๆ ต่างอยู่ที่สิงคโปร์ทั้งสิ้น

 

ส่วนแง่การใช้ชีวิต ดร.สันติธารพูดตรงๆ ว่า สิงคโปร์ไม่ใช่สถานที่สนุกมากสำหรับการอยู่ของนักเรียนหรือหนุ่มโสดสาวโสด แต่ดีมากสำหรับคนที่มีลูกเล็ก

 

ถ้าเป็นช่วงที่มีลูกเล็ก สิงคโปร์ Perfect ดีมาก เพราะว่าการศึกษาดี สะอาด ปลอดภัย ที่พักอยู่ใกล้ที่ทำงาน สามารถวิ่งกลับมากินกลางวันกับลูก กลับมาช่วยดูลูกก็ได้ แต่ข้อเสียใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์คือ ทุกอย่างแพง แต่คุณภาพชีวิตค่อนข้างดี

 

4 กล. ถอดบทเรียนสิงคโปร์

 

ด้วยประสบการณ์ 13 ปี ในสิงคโปร์ ดร.สันติธารได้อธิบายแจกแจงปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศ และมักเป็นประเทศแรกที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ได้เสมอ ไม่ใช่เฉพาะในระดับท้องถิ่นแต่เป็นระดับโลกเลยทีเดียว 

 

ดร.สันติธารบอกว่า เมื่อเข้าไปทำงานกับ Sea ทำให้ต้องดูและเข้าใจ ‘สิงคโปร์’ มากขึ้น และพยายามถอดรหัสว่า สิงคโปร์มีสูตรหรือพลังพิเศษอะไรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

 

“ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่สิงคโปร์ดีทุกอย่าง ไม่ใช่โจทย์ที่ว่าเราจะไปลอกการบ้าน แต่เป็นโจทย์การถอดรหัส ถอดบทเรียน ซึ่งคิดว่าบทเรียนของสิงคโปร์ คือ ‘ก.ไก่ และ ล.ลิง’ หรือ ‘กล’ 4 ตัว คือ กลัว กล้า ไกล และโกลบอล ที่เป็นหัวใจของสิงคโปร์เลย”

 

  • ‘กลัว’ ตกขบวน

 

ดร.สันติธารบอกว่า ความกลัว คือ หนึ่งในพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสิงคโปร์ โดยในสิงคโปร์จะมีคำหนึ่งที่คาดว่ามาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน คำว่า Kiasu คือ ขี้กลัว ขี้กังวล ว่าจะตกขบวน จะตามโลกไม่ทัน จะแพ้พ่าย ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับคุณ Tharman Shanmugaratham สมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานาธิบดี ก็ยืนยันว่า ความกลัวและกังวล คือ พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสิงคโปร์อย่างแท้จริง 

 

“ผมเคยถามคุณ Tharman ว่า ยูคิดว่าคิดว่าอะไรคือ Secret Source ของสิงคโปร์ เค้าบอกว่า Secret Source ของสิงคโปร์ คือ ความที่กังวลตลอดเวลา กังวลเกี่ยวกับอนาคต เพราะว่าเราไม่มีอะไรเลย เราไม่มีเกษตร เราไม่เหมือนเมืองไทยที่โชคดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่สิงคโปร์ น้ำยังไม่มีเองเลย สิ่งที่สิงคโปร์มีอย่างเดียวคือ คน สิ่งที่มีอย่างเดียวคือ การที่ปรับตัวเร็ว เป็นปลาไว ที่ปรับตัวตามกระแสน้ำได้ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ไว เราตาย ต่อให้ตอนนี้เราเก่งขนาดนี้ ถ้าเราพลาดไปซักปีสองปี อาจไม่มีสิงคโปร์แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น เราต้อง Alert (ตื่นตัว) ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่คุณ Tharman บอก

 

ดร.สันติธาร บอกว่า จากคำตอบดังกล่าวทำให้เห็นชัดว่า Kiasu อยู่ในสายเลือดของชาวสิงคโปร์อย่างแท้จริง และความกลัวคือจุดเริ่มต้นให้คนสิงคโปร์ต้องตะเกียกตะกาย ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า ความกลัวของคนสิงคโปร์ ไม่ได้แค่กลัวแพ้ แต่กลัว Irrelevance คือ กลัวว่า เขาจะไปเล่นเกมที่โลกมันเปลี่ยน ที่ไม่มีใครเล่นแล้ว กลัวตกขบวน 

 

  • ‘กล้า’ ที่จะเปลี่ยน

 

ดร.สันติธารอธิบายต่อว่า ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ กล้าเปลี่ยน ซึ่งจากมุมคนภายนอกอาจคิดว่า สิงคโปร์มีการวางแผนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง การวางแผนพัฒนาคนให้มีทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต การวางแผนเรื่อง Green Finance (การเงินสีเขียว) และเรื่องดิจิทัล

 

“กว่าจะมาเจอสูตรที่ใช่ เขา (สิงคโปร์) ปรับตลอดเวลา Key (หลัก) คือ พอเขาลองอะไรแล้วมันไม่ Work เขาเปลี่ยน แม้แต่เรื่องที่เราคิดว่าเขาเปลี่ยนไม่ได้ก็เปลี่ยนได้ เช่น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน”

 

ดร.สันติธารเล่าต่อว่า เดิมที Lawrence Wong ไม่ใช่คนที่จะมาสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจาก Lee Hsien Loong แต่เนื่องจากเขามีบทบาทโดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะช่วง Covid และสามารถแก้ปัญหาได้ดีมาก สิงคโปร์จึงตัดสินใจปรับแผนผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

“ขนาดผู้นำยังเปลี่ยนเลย เค้ามีการปรับ ดูข้อมูล และเป็น Data Driven ค่อยข้างเยอะ กล้าเปลี่ยน กล้าปรับ”

 

  • มอง ‘ไกล’

 

ปัจจัยสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสิงคโปร์มาตลอด คือ การมอง ‘ไกล’ หรือมองทะลุไปอนาคต ไม่ได้มองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่สิงคโปร์มักจะมองข้ามช็อต จึงสามารถสร้างโอกาสใหม่ได้เสมอ แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตหนักหน่วงก็ตาม อย่างเช่น การแก้ปัญหาการระบาดของ Covid 

 

จริงๆ แล้ว ปีแรก ไทยรับมือ Covid ได้ดีกว่าสิงคโปร์ ไทยมี อสม. (อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ช่วยกดเคสลงไปต่ำ และช่วงนั้นสิงคโปร์เจอปัญหาหนักมาก หอพักคนงานต่างชาติติดเชื้อกันเละเทะไปหมด ระบาดค่อนข้างเยอะมาก และดูจะแย่ แต่สุดท้ายก็ลดลงมาได้

 

ดร.สันติธารอธิบายว่า แม้ในยกแรกของศึก Covid ไทยจะชนะสิงคโปร์ แต่ด้วยการมอง ‘ไกล’ ของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong ทำให้สิงคโปร์พลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นมาได้สำเร็จ โดยผู้นำสิงคโปร์มองว่า ศึก Covid ไม่ใช่ยกเดียวจบ แต่มีหลายยก จะมีการติดเชื้อหลาย Wave มียอดพุ่งขึ้นลงตลอดเวลา หนทางเดียวที่จะรับมือได้อยู่หมัด คือ ต้องมีวัคซีน ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยพูดเรื่องวัคซีน สิงคโปร์บอกว่า เค้าจะไปหาวัคซีนมาให้ได้ และนั่นคือจุดที่สิงคโปร์ดึงทุกทาง ใช้ Temasek ใช้สารพัด ดึงวัคซีนมาเพื่อให้สิงคโปร์มีความมั่นคงด้านวัคซีน และปีต่อมา ปรากฏว่าเป็นเกมของวัคซีนจริงๆ ใครมีวัคซีน คนนั้นได้เปรียบ

 

ดร.สันติธาร ชี้ว่า สิงคโปร์มองทะลุช็อตไม่ใช่เฉพาะตอน Covid แต่ยังมองทะลุในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ดิจิทัล ที่มีการสร้าง Digital Economy และ Startup Economy ได้สำเร็จ

 

ตอนที่สิงคโปร์บอกว่าจะทำ Startup Ecosystem หลายคนหัวเราะ รวมทั้งผมเองด้วย เพราะว่าคนสิงคโปร์ชอบเป็นพนักงาน ชอบทำงานภาครัฐ คนเก่งๆ ชอบทำงานภาครัฐ ถ้าไม่ทำภาครัฐ ก็จะทำ Corporate จะไม่เป็น Entrepreneur เพราะไม่ชอบออกมาทำเสี่ยง มาทำธุรกิจ ไม่ใช่แนวสิงคโปร์เลย เราก็เลยบอกว่า คุณจะทำ Startup คุณจะเอาคนที่เป็น Entrepreneur ที่ Take Risk แบบนี้จากไหน ไม่มีทาง

 

แม้อาจไม่มีคนในที่มีศักยภาพเหมาะสม แต่สิงคโปร์ก็ไม่ยอมพับแผน แต่ตัดสินใจเดินหน้าด้วยการดึงคนนอก คือ  Startup จากทั่วโลก รวมถึงกองทุนใหญ่ๆ VC (Venture Capital) Funder และ Curator พี่เลี้ยงเก่งๆ มาสร้างคน ขณะที่มหาวิทยาลัยก็พัฒนาหลักสูตรและคอร์สต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนเช่นกัน  

 

ด้วยเหตุนี้ Startup รุ่นแรกๆ ของสิงคโปร์ไม่ใช่คนสิงคโปร์ แต่เป็นคนต่างชาติที่มาทำธุรกิจ Startup ในสิงคโปร์

 

“นี่คือตัวอย่างที่เค้ามองข้ามช็อตว่าต่อไปจะเป็น Digital Economy”

 

  • ‘โกลบอล’ ตัวจริง

 

ดร.สันติธารพูดถึงอีกปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสิงคโปร์ ว่าคือความเป็น ‘โกลบอล’ (Global) ซึ่งมาจากการเปลี่ยน ‘ข้อเสีย’ ให้เป็น ‘จุดแข็ง’

 

ข้อเสียของเค้าคือ เค้าเล็กมาก ไม่มีตลาดของตัวเองเลย ไม่มีธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ถ้าอยู่แต่ในสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น เค้าต้องคิด Global ตั้งแต่ Day 1 ทุกอย่างว่าจะทำยังไงให้มีธุรกิจออกไปทั่วโลกได้ ในขณะเดียวกันก็ดึงทั่วโลกมาอยู่ที่นี่ (สิงคโปร์)”

 

ดร.สันติธาร เล่าว่า Ho Kwon Ping ผู้ก่อตั้งโรงแรม Banyan Tree เขียนหนังสือเรื่อง ‘The Ocean in A Drop’ โดยพูดถึงสิงคโปร์ว่า ต้องเป็น Global ต้องเป็น Ocean in a Drop คือ เหมือนน้ำจากทั่วโลกที่มารวมอยู่ในหยดน้ำเดียว หรือหมายความว่า การดึงข้อดีจากทั่วโลกมาอยู่ในสิงคโปร์ และสิงคโปร์ก็ต้องส่งคนออกไปทั่วโลกด้วย

 

ผมว่าคำนี้เป็นคำที่ดีมาก และคิดว่านี่คือ Mentality ของเค้า (สิงคโปร์) ในหลายๆ เรื่อง เค้าดูก่อนเลยว่า ทำยังไงสิงคโปร์จึงไปเป็นศูนย์กลาง เวลาเราพูดว่า Hub จริงๆ เมืองไทยเราก็พูดเยอะ Hub เราต้องเริ่มจากดูข้างนอกว่า Trend เค้าไปทางไหน จึงจะไปเป็น Hub ของเค้า ไม่ได้เริ่มจากการตั้ง Standard ของตัวเอง ถ้าเราไปตั้ง Standard ว่าเราอยากจะเป็นอย่างงี้ อย่างงี้ นี่คือเรา Inward Looking แล้ว (การมองจากข้างใน) คนที่จะเป็น Hub ได้จริงๆ ต้อง Outward Looking ดูว่าโลกเค้ากำลังไปทางไหน Standard อะไรที่กำลังเป็นสิ่งที่ต้องการ แล้วเราจะ Add Value (เพิ่มคุณค่า) ตรงนั้นได้อย่างไร เป็นจุดสำคัญ จุดยุทธศาสตร์ตรงนั้นได้อย่างไร ตรงนี้คือการวางตัว ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เค้า (สิงคโปร์) ทำตลอด

——————————

“Hub ต้องดูจากเทรนด์ข้างนอก ไม่ใช่ตั้งตามมาตรฐานตัวเอง”

——————————

ดร.สันติธารย้ำด้วยว่า 4 ประเด็นสำคัญ คือ กลัว กล้า ไกล และโกลบอล มีความเชื่อมโยงกัน และทำให้สิงคโปร์มายืนอยู่แถวหน้าของโลกได้

 

‘มนุษย์’ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์

 

ดร.สันติธาร ระบุชัดว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์ และสิงคโปร์บรรจุเรื่อง ‘คน’ อยู่ในทุกอย่างและทุกนโยบายที่สิงคโปร์ดำเนินการ โดย ดร.สันติธาร ได้แจกแจงให้เห็นภาพชัดผ่าน 3 ด้านหลัก คือ 1. การศึกษาขั้น 2. การดึงดูด Talent จากต่างประเทศ และ 3. การ Reskill และ Upskill

 

การศึกษาประถม มัธยม ทั้งโลกรู้ว่าสิงคโปร์เรียนเก่ง คะแนนสุดยอด PISA ทุกอย่าง Score Top และความ Kiasu (กลัว) ที่ว่าก็อยู่ตรงนี้ด้วย ลงไปถึงพ่อแม่ด้วย ขึ้นชื่อว่า พ่อแม่สิงคโปร์กวดขันนักเรียนและลูกมหาศาล มาเต็มที่มาก เครียดมาก เรามองจากข้างนอก เค้าคือสุดยอด

 

อย่างไรก็ตาม ภายในสิงคโปร์เอง คนก็ตั้งคำถามว่า ระบบการศึกษาดีจริงหรือเปล่า? โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนสิงคโปร์ตั้งคำถามว่า ‘เครียดไปมั้ย’ ปัญหาสุขภาวะทางจิต มีการครอบเด็กมากเกินไปหรือไม่?

 

“(ในระบบการศึกษา) การมองว่าคุณต้องเป็นปลาเท่านั้น ในขณะที่บางคนบอกว่า จริงๆ เค้าเป็นลิง เค้าอยากปีนต้นไม้ จะจับให้เค้าเป็นปลาทำไม ตอนเรียนมีระบบ Streaming คล้ายๆ เลือกสาย แต่ไม่ถึงขนาดสายวิทย์ สายศิลป์ แต่จะชี้ว่า ใครจะไปเรียนมหาวิทยาลัย ใครจะไปเรียน Polytechnic เป็นสายวิชาชีพ จะมีการแบ่งคะแนนเลย และจะแบ่งค่อนข้างเร็ว ถ้าจำไม่ผิดจะแบ่งตั้งแต่ ม.ต้น เพราะฉะนั้น แบ่งสายแล้วแบ่งเลย รู้ตัวเร็วมาก จึงลากความเครียดมาระดับประถม เพราะถ้าระดับประถมคะแนนไม่ดี คุณไม่อยากไปสายวิชาชีพ คุณไปอันนี้ แล้วไปอันนี้ไม่ได้แล้วนะ แต่เขายกเลิกอันนี้มาหลายปีแล้วเหมือนกัน

 

ตอนนี้ สิงคโปร์มีการทดลองระบบการเรียนแบบใหม่ ต้องการให้นักเรียนมีอิสระมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับคะแนนน้อยลง มีการปรับเปลี่ยนมากขึ้น

 

ด้านที่ 2 คือ การดึงดูด Talent คนมีความสามารถจากนอกประเทศ หากสิงคโปร์ขาดแคลนหรือไม่มีบุคลากรด้านไหนก็จะใช้วิธีดึงดูดคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศ  

 

อันนี้อยู่ใน DNA จะทำอะไรก็ได้เพื่อดึงดูด Talent เข้ามาให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์เป็นเจ้าแรกในอาเซียนที่ประกาศ Virtual Banking ซึ่งมี Criteria มากมาย และมีบาง Criteria ที่คนไม่รู้…  สิงคโปร์จะพูดเลยว่า คุณจะสร้าง Talent เรื่อง Fintech ให้กับ Virtual Bank ยังไง ถ้าคุณได้ License (ใบอนุญาต) อันนี้คือสิ่งที่เค้าถามทุกคน คุณจะสร้าง AI Specialist ด้าน AI กี่คน ด้าน Finance คุณจะสร้าง Research Center มั้ย คุณจะพัฒนาคนกี่คนที่เป็นสายนี้

 

ดร.สันติธารอธิบายว่า สิงคโปร์ใส่เรื่องการสร้างคนในทุกมิติ หากจะรับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ โดยเฉพาะเรื่องคน “ถ้าไม่มีเรื่องคน ก็ไม่ผ่าน”

 

ดร.สันติธารบอกต่อว่า ผมชอบเปรียบเทียบกับแม่เหล็ก คือ ผมว่าคนเก่งมันดึงดูดคนเก่ง คือ ดึงดูดกันเหมือนแม่เหล็ก คนเก่งเวลาอยู่กับคนธรรมดาที่ไม่ใช่แม่เหล็ก ถ้าแม่เหล็กถูเหล็กไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นแม่เหล็กไปด้วย ได้เรียนรู้จากคนเก่ง

 

สำหรับด้านที่ 3 ที่เชื่อมโยงกับ ‘คน’ เช่นกัน คือ การ Reskill และ Upskill ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสิงคโปร์

 

ประธานาธิบดีสิงคโปร์คนปัจจุบัน ซึ่งอดีตเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีเป็นคนเริ่มต้นเป็นประธานทำโครงการ SkillsFuture Singapore มีโจทย์ง่ายๆ ว่า โลกกำลังเปลี่ยนเร็ว เราจะเปลี่ยนทักษะแรงงานจากอุตสาหกรรมเก่า เศรษฐกิจเก่าเป็นเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร ในปริมาณมาก เพราะว่ามันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเจอตอนนี้ ตรงๆ เลยด้วย อันนี้สิงคโปร์เริ่มทำเกิน 10 กว่าปีแล้ว

 

ดร.สันติธารอธิบายว่า โครงการ SkillsFuture Singapore คือ การให้เงินรายปีแก่ชาวสิงคโปร์ในลักษณะคล้ายกับคูปองดิจิทัล โดยจะต้องไปใช้สิทธิ์ภายในปีนั้นๆ เพื่อเรียนรู้ทักษะใดก็ได้ ถ้าใช้ไม่หมดภายในปี ก็จะหมดอายุไป 

 

“หากวิเคราะห์ดีๆ SkillsFuture ไม่ใช่นโยบาย มันคือ Movement มันคือการสร้างการตื่นตัว ทำให้ทุกคนเข้าใจว่า สิ่งที่คุณเรียนมา มันใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะซีเนียร์แค่ไหน คุณต้องกลับไปเรียนใหม่ คุณต้อง Unlearn และกลับไป Relearn ซึ่ง Movement นี้ใช้คนที่เป็นรองนายกฯ เศรษฐกิจ ที่คน Respect เป็นประธานและขับเคลื่อน”

 

นอกจากนี้ สิงคโปร์มีการสร้างความตื่นตัว ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะคน 

 

ทำไม? สิงคโปร์เกิด Corruption ‘ต่ำ’

 

ดร.สันติธาร กล่าวว่า สิงคโปร์แทบจะไม่มีกรณี Corruption ในรัฐบาลเลย และเมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เช่น เมื่อปี 2024 S.Iswaran รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมถูกตัดสินจำคุก 1 ปี หลังจากเขายอมรับว่า ได้รับของขวัญจากเอกชนโดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นคดีอาชญากรรมในระดับรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นน้อยมากในสิงคโปร์ และเขาเป็นรัฐมนตรีคนแรกในรอบเกือบ 50 ปี ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดและต้องโทษจำคุก

 

ผมเชื่อว่า หลายคนถ้าไปดูปริมาณที่เค้ารับมา จะรู้สึกว่า แค่นี้เองเหรอ เคสนี้ถ้าจะเงียบไปก็เงียบได้ ไม่มีใครรู้เรื่องเลย แต่ว่าเคสที่เป็นปลาใหญ่ขนาดนี้ เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งที่อยู่มานาน ในเคสที่ดูระดับ International Standard ไม่ได้ดูเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น เขาจับให้เป็นเรื่องใหญ่ และจับคนนี้เข้าคุก ปลดจากตำแหน่งและต้องเข้าคุกด้วย แสดงให้เห็นว่า เฮี้ยบขนาดไหน จริงจังมาก

 

เรื่องนี้ทำให้ ดร.สันติธารนึกถึงสมัยเรียนที่มีคำภาษาอังกฤษว่า เรื่อง Corruption บางทีต้อง Fry the big fish คือ ต้องทอดปลาตัวใหญ่ หรือเปรียบได้กับสำนวนไทยที่ว่า เชือดไก่ให้ลิงดู

 

ขณะเดียวกัน สิงคโปร์มีกฎหมายที่เข้มงวดมาก ดูได้จากตัวอย่างที่ว่า ไม่ว่าคนจะมีตำแหน่งใหญ่แค่ไหนก็ใช้กฎหมายลงโทษได้ 

 

ผมว่าอันนี้เป็นตัวสำคัญ บางทีเวลาคุยเรื่องนี้ คนจะชอบพูดว่า มันเป็นนิสัยคนกับวัฒนธรรมของคน เช่น คนสิงคโปร์มีวินัย มีระเบียบ คนไทยไม่มีวินัย อะไรต่างๆ มันยาก ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า มันเป็นเรื่องวัฒนธรรม วินัย นิสัย หรือเปล่า เพราะว่าคนไทย คนอินโดนีเซีย หรือคนอะไรต่างๆ ที่บอกว่า ไม่มีวินัย เวลาไปอยู่สิงคโปร์ก็ต้องมีวินัย ในขณะเดียวกัน คนสิงคโปร์ไปอยู่นอกประเทศนานๆ ก็เริ่มวินัยเสียเหมือนกัน ถ้าเป็นอะไรที่มันอยู่ใน DNA ขนาดนั้น มันก็ไม่เปลี่ยนหรอก แสดงว่า Institution หรือกฎ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายตรงนั้นมีความสำคัญ

 

ดังนั้น ดร.สันติธารกล่าวว่า หากมองในแง่ดี แสดงว่าเปลี่ยนได้ เป็นสิ่งที่สร้างได้ ไม่ใช่ Nature (ธรรมชาติ) แต่เป็น Nurture หรือ สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้

 

[Next] ‘ไทย’ ต้องมี Growth Mindset

 

หลายคนมองตรงกันว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีดีโดดเด่นหลายด้าน ทั้งในเชิงนโยบาย สถาบัน และผู้คน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย คนก็มักจะบอกว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มีประชากรน้อย ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ ดังนั้นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า จะสามารถนำบทเรียนจากสิงคโปร์มาปรับใช้กับ ‘ไทย’ ได้มากน้อยแค่ไหน และนำมาปฏิบัติจริงได้หรือไม่?

 

ดร.สันติธารยกเคสของประเทศจีนที่มาเรียนรู้จากสิงคโปร์ และสามารถนำไปปรับใช้กับประเทศที่มีประชากรมากระดับพันล้านคนได้สำเร็จ ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายไว้สูง โดยระบุว่า จะเลียนแบบสิงคโปร์ แต่จะไปให้ไกลกว่า ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของขนาด แต่เป็นเรื่องของการถอดบทเรียนมากกว่า

 

เราไม่ได้บอกให้ลอกการบ้าน เราบอกให้ถอดบทเรียน ถอดรหัส และนำมาปรับใช้กับตัวเอง

 

ดร.สันติธารมองว่า บางคนอาจบอกว่า สิงคโปร์เล็กจึงทำได้ แต่พอไปดูจีน ซึ่งใหญ่แต่ก็ทำได้เหมือนกัน ดังนั้น หากคนพูดแบบนี้ ถือ Fixed Mindset คือ ฉันเป็นแบบนี้ ฉันเปลี่ยนไม่ได้ 

 

ดังนั้นอันดับแรกคือ ต้องเปิดก่อน ต้องมี Growth Mindset ก่อน สิ่งที่เค้ามี เรามีได้ คือ กลัว กล้า ไกล และโกลบอล ไม่มีอันไหนเลยที่เมืองไทยทำไม่ได้ ใน Version ของเราเอง

 

ดร.สันติธารมองว่า ในแง่ของการ ‘กลัว’ ไทยต้องกลัวให้มากขึ้น ซึ่งปีนี้ (2024) สัมผัสได้ว่าคนเริ่มกลัวมากขึ้น เพราะสถานการณ์หลายๆ อย่างที่เป็นจุดแข็งของไทยเริ่ม Flip (พลิกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว) เช่น ประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะกระทบอุตสาหกรรมหลักอย่างท่องเที่ยวและเกษตรอย่างมาก

 

ของที่เคยเป็นจุดแข็งของเราเริ่มกลายเป็นจุดอ่อนเพราะฉะนั้นเราควรจะกลัวมากขึ้น เราจะต้องเปลี่ยนจาก Mindset ที่เรียกว่าเป็น Champion Mindset หรือเราสบายอยู่แล้ว ยังไงเข็มขัดก็อยู่ที่เอวเรา เป็น Challenger Mindset มากขึ้นว่า ถ้าเราจะชิงทวงตำแหน่งเรากลับมา เราจะทำยังไง และเดินหน้า และคอยจับคลื่นเหมือนสิงคโปร์ ผมคิดว่าเราทำได้

——————————

“เราจะต้องเปลี่ยนจาก Champion Mindset หรือเราสบายอยู่แล้ว ยังไงเข็มขัดก็อยู่ที่เอวเรา เป็น Challenger Mindset มากขึ้นว่า ถ้าเราจะชิงทวงตำแหน่งเรากลับมา เราจะทำยังไง” 

——————————

ประเด็นต่อมาคือ ‘ไทย’ ต้องกล้าเปลี่ยน โดย ดร.สันติธารอธิบายว่า จะต้องกล้าเปลี่ยนเมื่อไปผิดทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศสามารถทำได้ ไม่ใช่เฉพาะสิงคโปร์เท่านั้น

 

แค่เราเก็บข้อมูล คอยเช็กและอัปเดตบ่อยๆ แทนที่จะวางแผนอะไรทีละ 5 ปี และมีตัวชี้วัดไม่ชัดเจน การประเมินเก็บบ้างไม่เก็บบ้าง เราต้องทำ Cycle ให้ถี่ขึ้น เรามานั่งดูเลยว่า มันไปถูกทางหรือเปล่า หรือโลกมันเปลี่ยนหรือเปล่า เราอัปเดตแผน อะไรไม่ใช่ เราพับเก็บ ประเทศไทยเรามี Culture นิดนึงตรงที่ว่า อะไรไม่ Work เราก็ให้มันทำต่อไป ให้อยู่ไปเรื่อยๆ จึงมี Zombie เยอะ บางทีบริษัทใน Sector ที่ไม่ Work เราก็ไม่ทำอะไรกับมัน โครงการอะไรไม่ Work ก็เป็นโครงการ Zombie กฎหมายอะไรเก่าไปก็ยังเป็นกฎหมาย Zombie เพราะมันยังอยู่ไปเรื่อยๆ

 

ดร.สันติธารแนะนำว่า ไทยจะต้องกล้าเปลี่ยนสิ่งที่เห็นว่าเดินไปผิดทางจะต้องรู้จัก ‘How to ทิ้ง’

 

ประเด็นที่ 3 คือ ‘ไทย’ ต้องมองให้ไกล ซึ่ง ดร.สันติธาร มองว่า ไทยสามารถทำได้ โดยสามารถตั้งสภา Future Economy แบบสิงคโปร์ก็ได้ เพื่อให้คนมาร่วมกันคิดและมองอนาคต เพื่อถอดรหัสว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรได้อย่างในอนาคต

 

ในช่วงที่ผมเขียนหนังสือ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม ผมทำให้หลายองค์กร คือ ช่วยคิด Future Scan ว่า มีอะไรบ้างในการเปลี่ยนแปลงอนาคต และเราต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อมองไปข้างหน้า ซึ่งจริงๆ เราทำได้

 

สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ ‘ไทย’ ต้องไปสู่โกลบอล ดร.สันติธาร เห็นว่า ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องนี้มาก เพราะเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ และคนอยากมาอยู่เมืองไทยอยู่แล้ว

 

สิงคโปร์ต้องพยายามมากเพื่อดึงคนให้มาอยู่กับเค้าได้ประเทศไทยมีเสน่ห์โดย Nature ที่คนชอบมาอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว อย่างแรก คือ 1. ชอบมาเที่ยว 2. ชอบมา Long Stay และ 3. เริ่มชอบเข้ามาทำงานมากขึ้น ทำงานโดยอาจเป็น Nomad ทำงานชั่วคราว หรือเป็น Corporate Nomad คือเป็นผู้บริหารทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือจีน แต่ขอมา Vacation ซักเดือนอยู่เมืองไทย และทำงานจากที่นี่

 

ดร.สันติธาร ระบุว่า หากดึงให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนมาเป็น Permanent มาทำงานแบบอยู่ยาวได้จะกลายเป็นโอกาสมหาศาลของประเทศไทย ซึ่งจะกลายเป็น Talent Hub ได้เลยทีเดียว

 

‘ไทย’ จะดึง Talent เข้าประเทศได้อย่างไร?

 

ในฐานะคนไทยที่เคยเรียนและทำงานในต่างประเทศก่อนตัดสินใจกลับมาเมืองไทย ดร.สันติธารแนะนำแนวทางการดึง Talent มาไทยว่า สิ่งสำคัญคือต้องดึง Global Activity ต้องดึงบริษัทระดับ Regional Global ให้เข้ามา Activity ในระดับ Regional Global ด้วย

 

เราอาจจะมีบริษัท Regional กับ Global แต่เค้าจะทำเฉพาะไทย เราต้องให้เค้าทำกิจกรรมที่นี่ให้เป็น Regional ด้วย ทำให้ไทยเป็น Hub จริงๆ เป็น Regional Office หรือ Head Office ที่นี่เลย ซึ่งการจะทำยังไงนั้น เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยาว แต่ว่าเราคงต้องไปดูแกะจริงๆ ว่า มันมีอะไรบ้างที่เป็นจุดติด เราต้องไปคุยจริงๆ ว่า ถ้าจะย้ายออฟฟิศเหล่านี้มาที่นี่จะต้องทำอะไร เราจะต้องดูว่าเป็นเรื่องภาษีหรือเปล่า เป็นเรื่องเงินไหลเข้าไหลออก การทำธุรกรรมข้ามประเทศ เปลี่ยนค่าเงินต่างๆ ยังยากหรือเปล่า เป็นเรื่องของกฎกติกาหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นเยอะ แค่ง่ายๆ เลยว่า เรื่องวีซ่าทำงานต่างๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด หรือคิดไม่ครบ เช่น ตัว Talent มาได้ แต่ภรรยามายาก หรือตัว Talent มาได้ แต่ตัวลูกน้องมายาก ซึ่งมีประเด็นเหล่านี้ จึงต้องทำความเข้าใจ Customer Pain Points ให้ดี

 

ขณะเดียวกัน ไทยต้องตั้งใจร่างนโยบายเพื่อส่งเสริมให้บริษัทตั้งออฟฟิศระดับ Regional Global ในประเทศไทย 

 

ดร.สันติธารได้หยิบยกอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันมีองค์กรต่างชาติที่มาทำกิจกรรมระดับ Global ในไทยอยู่บ้างแล้ว แต่ทำผิดประเภท คือ ทำธุรกิจในโลกสีเทา โดยใช้เมืองไทยเป็น Regional Operation เช่น Call Center ผิดกฎหมายต่างๆ

 

เราต้องเปลี่ยน เราไม่อยากเป็น Hub สีเทา เราอยากเป็น Hub สีขาว เพราะฉะนั้นกฎกติกาเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่ากฎสำหรับคนดีไม่ต้องมีเยอะ แต่ต้องบังคับใช้เข้มงวด ปัจจุบันอาจเป็นโลกที่กฎเยอะไปหมด แต่ Enforce แทบไม่ได้เลย จึงดึงดูดคนเทาๆ เข้ามา เพราะคนเทาๆ ก็จะหลบไปหลบมาได้ ในขณะที่คนที่อยากทำอะไรที่ถูกต้อง ยากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามดึงดูดให้กลับมาอยู่ในแสงสว่างให้ได้

——————————

“ผมว่ากฎสำหรับคนดีไม่ต้องมีเยอะ แต่ต้องบังคับใช้เข้มงวด”

——————————

ต้องแก้ยังไง? คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ

 

ดร.สันติธาร หยิบยกข้อมูลที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ได้ศึกษาผลสำรวจพบว่า คนต่างชาติต้องการย้ายมาอยู่หรือมาทำงานในเมืองไทย แต่คนไทยอยากออก และโดยส่วนตัวคิดว่าจะมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าอาจจะแตกต่างจากยุคแรกๆ ที่เริ่มเห็นว่าคนอยากทิ้งประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นเกิดจากประเด็นด้านการเมืองและสังคม

 

ผมว่าตัวขับเคลื่อนจริงๆ ทำให้คนอยากย้ายประเทศ คือ เศรษฐกิจและโอกาส เพราะว่าปัจจุบัน บริบทของโลกคือ กำลังขาดแคลน Talent เหมือนกัน และสังคมสูงวัย ประเทศรวยๆ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ก็มีภาวะนี้หมด แต่เค้ารวยกว่าเรา (ไทย) เยอะมาก เพราะฉะนั้น เค้าสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับ Talent แพงกว่าที่เราจ่ายได้มากเลย ดังนั้น คนเก่งของเรา ถ้าให้เลือกทำงานที่นี่ หรืออยู่ที่โน่น ทำงานข้างนอก หรือรับเงินเดือนต่างประเทศ มันดีกว่าเยอะมาก โดยเฉพาะถ้าต้องเลี้ยงครอบครัว แปลว่า Cost ของเราเป็น Cost เมืองไทย ต้นทุนเป็นไทย เมื่อเทียบกับนานาชาติถือว่าถูกมาก แต่ว่ารับรายได้ต่างประเทศ ถ้ามองในมุมของ Trade นี่คือ Arbitrage คือ ดีที่สุดแล้ว คือ รับสูง จ่ายต่ำ Margin เพียบเลย เพราะฉะนั้น มัน Make Sense”

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.สันติธาร มองว่า การจะปิดกั้น หรือบอกไม่ให้คนไทยออกไปต่างประเทศเป็นเรื่องที่ยาก และท้ายที่สุดแล้ว ไทยจะต้องเป็นโกลบอลมากขึ้นใน 2 มิติ ได้แก่ คนไทยออกนอกประเทศ และดึง Talent จากต่างประเทศมาไทย

 

สำหรับมิติแรก คนในประเทศอาจออกไปข้างนอกเยอะขึ้นจริง เพื่อไปหาโอกาสข้างนอก แต่สิ่งสำคัญที่ ดร.สันติธารฝากให้คิด คือ คนเหล่านั้นออกไปด้วยความรู้สึกอย่างไร

 

เขาออกไปด้วยความรู้สึกว่าหมดหวัง แค้น ท้อแท้ เบื่อ หรือเขาออกไปเพราะเข้าใจว่า เขาออกไปหาความรู้ ประสบการณ์ และโอกาสข้างนอก เพื่อวันนึงจะกลับมาประเทศไทย หรืออยากจะ Contribute ให้ประเทศ แม้ว่าตัวเองจะอยู่ข้างนอกผมว่าผมเป็นแบบหลัง แบบที่ออกไปแล้วก็ยังรู้สึกตลอดเวลาว่า เราทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง อยากจะช่วย และสุดท้ายก็กลับมา

 

ดร.สันติธาร เล่าต่อถึงการเขียนหนังสือถ่ายประสบการณ์เป็นภาษาไทยของตัวเองว่า มักมีคนถามประจำว่า ทำไมไม่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะตลาดหนังสือภาษาอังกฤษใหญ่กว่าเยอะ ซึ่ง ดร.สันติธาร ตอบว่า เขียนภาษาไทยเพราะอยากให้คนไทยอ่าน

 

ผมเรียนรู้โลกมา และเขียนเป็นภาษาไทย เพราะอยากให้คนไทยได้อ่านผมรู้สึกว่าผมไม่อยู่ในประเทศ อย่างน้อยผมจะได้ Contribute อะไรให้กับประเทศบ้างผมว่าถ้าคนไทยออกไปนอกประเทศด้วย Mentality แบบนี้ ผมคิดว่าเราไม่ได้เสีย ผมว่าดีกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเค้าอยู่ในประเทศ และเค้า Burn Out แล้วเค้าหมดไฟ อันนี้เราเสียทรัพยากรของจริงเลย

 

ดร.สันติธารย้ำว่า ไทยต้อง Go Global ต้องไป Global และเอา Global Opportunity นำความรู้ ทรัพยากร ความสำเร็จ และเงินมาพัฒนาประเทศ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่ไปนอกประเทศด้วย

 

ผมมีคำพูดบอกว่า ไปสู่โลก แต่อย่าลืมเมืองไทย อย่าลืมกลับมาช่วยเสมอ

 

ส่วนโกลบอลมิติที่ 2 คือ การดึงคนนอกที่มีความสามารถเข้าประเทศมาเต็มที่ เหมือนกับมีการพูดถึง The Ocean in a Drop ของสิงคโปร์ ดังนั้น ต้องดึงดูดให้องค์กรระดับ Global เข้ามาทำกิจกรรมในเมืองไทยให้เยอะที่สุด

 

เรากำลังขาดแคลนคน ขาดแคลน Talent ประชากรวัยทำงานจะลดลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้อง Import เข้ามา โชคดีเรามีเสน่ห์ที่คนอยากมาอยู่ เราต้องดึงอันนี้เข้ามา เมื่อมีต่างชาติมาทำ Activity สมมติมี Fund ต่างๆ มาลงทุนที่นี่ มาตั้งกองทุน มาตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่ กองทุนพวกนี้ก็จะเป็นใบเบิกทางดึงคนไทยให้ออกไป Global ได้ ทำให้บริษัทไทย Go Global ได้ จากนั้นก็จะมีการเข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองไทย และจ้างคนต่างชาติให้มาทำงานที่เมืองไทย จะเห็นว่ากลายเป็น Two-way Flow ระหว่างไทยและ Global”

 

นับ 1 ประเทศไทยสู่ระดับโลก

 

ดร.สันติธาร แนะนำว่า หากต้องการนับ 1 ประเทศไทยสู่ระดับโลก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ผู้บริหารต้องมี Growth Mindset 

 

ถ้าบอกว่าเราดีอยู่แล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ทุกคนมาหาเรา เรามีดีตั้งเยอะ ไปดูคนอื่น ไปเรียนรู้คนอื่นทำไม อันนี้คือ Fixed Mindset แบบคิดว่าตัวเองดีกว่าความเป็นจริง อีกด้านหนึ่งของ Fixed Mindset ก็จะคิดว่า เราทำไม่ได้หรอก สิงคโปร์ทำได้เพราะมีวินัย เก่ง จีนทำได้เพราะมีอันนู้นอันนี้ เราไม่มีเลย เราแค่นี้ยังไม่ได้เลย จะทำอย่างนั้นได้ยังไง นี่คือ Fixed Mindset แบบกดตัวเองเกินไป

 

ดร.สันติธาร ย้ำว่า ประเทศไทยทำได้ คนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใคร ถ้ามีกฎกติกาที่สนับสนุนในระดับ Global จริงๆ และดี 

——————————

“ไทยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่ดินที่ปลูกยังไม่ดี เพราะฉะนั้น อันดับแรกคือ มี Growth Mindset คือไม่ได้มองว่าตัวเองดีเกินไป หรือแย่เกินไป แต่สามารถเปลี่ยนได้ และเรียนรู้ได้”

——————————

ไทยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่ดินที่ปลูกยังไม่ดี เพราะฉะนั้น อันดับแรกคือ มี Growth Mindset คือไม่ได้มองว่าตัวเองดีเกินไป หรือแย่เกินไป แต่สามารถเปลี่ยนได้ และเรียนรู้ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ปรับ Mindset ตรงนี้ก่อน จะได้ตื่นขึ้น และหันไปดูจริงๆ ว่า Global มีอะไรที่เราจะสามารถเรียนรู้ และเชื่อมกับโลกได้บ้าง

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats