×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

“ไทย” จะเป็นประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ ถ้าเปลี่ยน 5 สิ่งนี้

169

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

“ผมเชื่อว่า…ถ้าผมพยายามหายใจไปอีก 15 ปี ผมน่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” 

 

คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนไทยมาหลายทศวรรษ

 

ไทย = ประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าเปลี่ยน 5 สิ่ง ใน 15 ปี

 

เราเสียเวลาไปเยอะมากแล้ว จากประเทศที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย หรือเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ….ถึงตอนนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยคงไม่ได้เป็นเสือตัวที่ 6 และตัวที่ 7 …แต่ไทยต้องพยายามรักษาตำแหน่งเสือตัวที่ 8 ไว้ให้ได้ นี่คือความคาดหวังของคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนไทยมาหลายทศวรรษ ที่บอกชัดกับ Wealth Me Up ว่า เขายังมีความหวังกับ “ประเทศไทย”

 

ผมเชื่อว่าถ้าผมพยายามหายใจไปอีก 15 ปี ผมน่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

 

แต่จะทำอย่างไร?…ประเทศไทยจึงจะหลุดพ้นจาก “ภาวะขาลงและความเสื่อมถอยในทุกมิติ” พลิกฟื้นกลับมาเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง และก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้สำเร็จภายใน 15 ปี

 

[Now] ประเทศไทยในวันนี้เป็นอย่างไร?

 

ในโลกที่มีการแข่งขันสูง Productivity หรือผลิตภาพ คือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง หาก “ประเทศไทย” ต้องการแข่งขันในเวทีโลก 

 

แต่ในความเป็นจริงวันนี้ Productivity ของประเทศไทย ซึ่งเทียบผลผลิตที่ได้กับปัจจัยผลิตที่ใช้นั้น มีการเพิ่มขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย Productivity Improvement ของไทยต่ำมากๆ ในหลายภาคส่วน

 

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่คุณบรรยงหยิบยกขึ้นมาไฮไลท์ก็คือ ในยุครัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ชื่อ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง มีการทำวิจัยพบว่า Productivity Improvement ของธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนไทยต่ำมาก เมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่ใช้ปัจจัยการผลิตเหมือนกันทั้งในแง่ของแรงงาน ที่ดิน และทรัพยากรต่างๆ

 

จึงทำให้เกิดคำถามว่า…อะไรคือ “ความต่าง” ใน “ความเหมือน”?

 

แม้จะใช้แรงงานและปัจจัยพื้นฐานการผลิตที่เหมือนกัน แต่ความต่างคือทุน และเทคโนโลยีของต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญมากที่ช่วยเพิ่ม Productivity แต่ธุรกิจคนไทยกลับขาด 2 สิ่งนั้น

 

Productivity ที่ตกต่ำของประเทศ คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัศมีความน่าสนใจของประเทศไทยในเวทีกำลังอ่อนแสงลงเรื่อยๆ ขีดความสามารถการแข่งขันของหลายภาคส่วนถดถอยลง ในขณะที่การคอร์รัปชันเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้คือปัญหาที่กัดกร่อนประเทศไทยในทุกมิติ

 

Productivity ที่ต่ำของประเทศไทย ผลประกอบการของกิจการที่ลงทุนที่ถดถอยลงเรื่อยๆ มีส่วนทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกอื่นในประเทศอื่นที่ดีกว่าให้ลงทุน

 

คุณบรรยงอธิบายว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดทุนไทยแต่เป็นการค่อยๆ ซึมออก จากที่เคยถือ 65% ของ Free float ตอนนี้เหลือ 37% โดย 20% กว่าที่ไหลออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเหลือเงินของกองทุนประมาณ 3.5-4 ล้านล้านบาท

 

จากสถานการณ์เหล่านี้เอง…หลายคนจึงตั้งคำถามว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตหรือไม่?

 

คุณบรรยงมองว่า สิ่งที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ยังไม่เข้านิยามของคำว่า “วิกฤต” เพราะวิกฤตต้องหมายถึง ภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตติดลบถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่สถานการณ์ของไทยในตอนนี้คือ เศรษฐกิจเติบโตช้า…

 

ปัจจุบัน ยังไม่มีปัจจัยใดที่ชี้ให้เห็นว่าไทยเกิดวิกฤตในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม แม้ว่าจะมีปัญหาด้านอื่นๆ คนบางกลุ่มเริ่มเผชิญกับความถดถอย อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ ที่มีการเติบโตเริ่มติดลบ ซึ่งสิ่งนี้จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะนำไปสู่วิกฤตสังคมโดยง่าย

 

ซึ่งคุณบรรยงฟันธงว่า ปัจจุบัน ไทยไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เสี่ยงเกิดวิกฤตสังคม

 

ขณะเดียวกัน ก็ฉายภาพให้เห็นชัดถึงความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 และสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน โดยอธิบายว่า ตอนเกิดวิกฤตปีพ.ศ. 2540 ไทยโชคดีมากที่ไม่เกิดวิกฤตสังคม เพราะคนไทยตกงานก็กลับไปสู่ภาคเกษตรกรรม กลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งหลังจากช่วงวิกฤตดังกล่าว ภาคเกษตรกรรมของไทยก็เติบโตต่อเนื่องมานับทศวรรษ

 

ต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ภาคเกษตรกรรมก็ไม่ดี ขณะที่คนจนเมืองมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง การเปรียบเทียบกันในสังคม มีโอกาสทำให้เกิดปัญหาสังคมได้มากกว่า โดยเฉพาะหากมีการจุดประเด็นการเมืองเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ ถ้าเกิดวิกฤตสังคมขึ้นมาก็เสี่ยงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาด้วย

 

ตอนนี้ไทยกำลังเกิดวิกฤตคนจนหรือเปล่า?

 

แม้ว่าสถานการณ์จะไม่ดีนัก แต่คุณบรรยงยังไม่เรียกสถานการณ์นี้ว่า “วิกฤต” แต่มองว่าเป็น “ภาวะชะงักงัน” ที่ทุกสิ่งทุกอย่างชะงักไปหมด

 

บางคนเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า “ภาวะต้มกบ…ไม่ตาย…แต่ไม่โต…

 

ซึ่งคุณบรรยงเตือนว่า “การไม่ตายไม่ใช่ไม่อันตราย เพราะรู้ตัวอีกที ก็ตายไปแล้ว” แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่า ไทยยังมีโอกาสปลดปล่อยตัวเองออกจากภาวะต้มกบได้!

 

Thailand Next (Move)

 

จากปัญหาที่สั่งสมและกัดกินความแข็งแกร่งของประเทศ ทำให้ประเทศอ่อนแรงราวกับคนป่วยที่อาการทรุดลงเรื่อยๆ มานับสิบปี การกอบกู้และฟื้นฟู “ร่างพัง” ให้กลับมาเดินหน้าต่ออย่างแข็งแรงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ภารกิจที่จะทำให้สำเร็จได้ในเร็ววัน

 

ระยะสั้น แทบไม่มีทางเลยที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจ แต่ก็มีโอกาสที่จะบรรเทาสถานการณ์ได้ คุณบรรยงบอกกับ Wealth Me Up พร้อมกับแนะนำ “5 ปัจจัยปลดล็อกประเทศไทย” เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่  

 

1. ความเป็นประชาธิปไตย

2. แก้ระบบการศึกษา

3. ลดการคอร์รัปชัน

4. ความเป็นทุนนิยมที่ดี

5. มาตรฐานกระบวนการยุติธรรม

 

โดยคุณบรรยงบอกว่า “5 ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและทั่วถึง” พร้อมกับขยายความรายละเอียดโดยเริ่มจากปัจจัยที่มองว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขและปรับปรุงปัจจัยอื่นๆ ให้เดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

1. ความเป็นประชาธิปไตย

 

คุณบรรยงชี้ชัดว่า หากต้องการปลดล็อกประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องเริ่มจาก “ประชาธิปไตย”

 

ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะพิสูจน์แล้วว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้มาตรฐานสากล รัฐธรรมนูญเป็นแกนหลักของทุกอย่าง หลังจากทำแล้วก็ต้องทำทุกเรื่องต่อ ซึ่งทุกเรื่องทำยาก เพราะถูกขัดขวางจากคนที่ได้ประโยชน์ในปัจจุบันที่เกรงว่าตัวเองจะเสียประโยชน์ที่เคยมี ด้านประชาชนก็จะได้ประโยชน์อย่างช้าๆ ทำให้ไม่ได้รับรู้อย่างทันที จึงไม่มีแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

2. แก้ระบบการศึกษา

 

คุณบรรยงอธิบายว่า ระบบการศึกษาเป็นตัวอย่างของ “รัฐ” ที่ใหญ่เกินไป  การศึกษาไทยยังเป็นระบบสังคมนิยมและรวมศูนย์ กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีงบประมาณมีงบประมาณปีละ 1.6 แสนล้านบาท รัฐเป็นผู้ให้บริการการศึกษาส่วนใหญ่ ทำให้สถาบันการศึกษาเอกชนอยู่ไม่ได้ และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เด็กไทยต้องเรียนโรงเรียนรัฐ หลักสูตรรัฐ 

 

ระบบราชการทำให้การแข่งขันการให้บริการทางการศึกษาเกิดขึ้นไม่ได้”  

 

ลดรัฐ = ปลดล็อกระบบการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย

 

หากต้องการลดบทบาทของรัฐก็จำเป็นต้อง “ลดรัฐ” ซึ่งทั่วโลกได้พิสูจน์ได้เห็นแล้วว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว รัฐมีบทบาทจำกัดเท่าที่จำเป็น เพราะหากรัฐเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly) มีอำนาจในกิจการใดก็มักทำให้ Productivity Improvement ต่ำ นั่นก็เพราะการผูกขาด ไม่มีแรงกดดันให้องค์กรจำเป็นเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเอง เพราะไร้คู่แข่ง ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงพยายาม “ลดรัฐ” ทั้งในแง่ของขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ ที่ล้วนเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง

 

ลด…ขนาด

 

คุณบรรยงอธิบายประเด็นนี้ว่า ปัจจุบัน งบประมาณของรัฐไทยคิดเป็น 24% ของรายได้ประชาชาติต่อปี ขณะที่งบประมาณของรัฐในยุโรปมีสัดส่วนประมาณ 50% แต่เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดก็จะเห็นว่า 80% ของงบประมาณรัฐยุโรปเป็นสวัสดิการ แต่ 80% ของงบประมาณรัฐไทยเป็นงบการดำเนินงาน เช่น เงินเดือน ค่าใช้จ่ายประจำ 

 

งบประมาณรัฐไทยไหลเข้าไปสู่ภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้เกิดรั่วไหลได้ง่าย

 

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจที่มีมากถึง 56 แห่ง ซึ่งมีงบประมาณรวมกันปีละ 6 ล้านล้านบาท หรือ 2 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคุณบรรยงกล่าวว่า มีปัจจัยเชิงประจักษ์ว่า รัฐวิสาหกิจของไทยเกือบทุกแห่งมีประสิทธิภาพและ Productivity ต่ำ!

 

ลดรัฐ = แปรรูปรัฐวิสาหกิจ

 

แปรรูป ต้อง “ปฏิรูป”

 

เมื่อมีการปฏิรูป (Reform) ก็ต้องมี Redistribution หรือ การจัดสรรใหม่ ซึ่งชัดเจนว่า จะมีคนที่ได้น้อยลงและเสียประโยชน์ ส่วนประชากร 70 ล้านคนจะได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ได้คนละนิด และไม่รู้สึกทันที ทำให้มีคนสนับสนุนการปฏิรูปน้อย และคนที่เสียประโยชน์ก็จะลุกขึ้นมาต่อต้าน ทำให้เกิดการปฏิรูปได้ยาก เพราะใครๆ ก็ไม่ชอบ!

 

การปฏิรูปแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นักการเมืองจะไม่ชอบ เพราะสั่งรัฐวิสาหกิจไม่ได้อีกต่อไป ข้าราชการประจำไม่ชอบ เพราะจะมีอำนาจเหนือรัฐวิสาหกิจน้อยลง ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ชอบ เพราะการปฏิรูปเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้งานหนักขึ้น คู่ค้ารัฐวิสาหกิจก็ไม่ชอบ เพราะเดิมอาจเคยได้สัญญาง่ายๆ มีความได้เปรียบ

 

คนที่จะชอบคือ ประชาชน แต่ประชาชนกลับไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ประโยชน์ทันที แถมบางกลุ่มก็เข้าใจผิดและคัดค้านอีกต่างหาก เช่น NGOs ให้นิยามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า ขายชาติ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะความเป็นจริง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้องค์กรดีขึ้น

 

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ = เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร = เพิ่มความสามารถทำกำไร

 

คุณบรรยงได้ยกตัวอย่างกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ถูกโจมตีว่า คนไทยใช้น้ำมันราคาแพง ปตท.ทำกำไรแสนล้านบาท

 

ในความเป็นจริง หากปตท. ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะไม่มีวันทำกำไรได้นับแสนล้านบาทในวันนี้ ปัจจุบันรัฐยังถือหุ้นในปตท.ประมาณ 60% และนักลงทุนถือหุ้นประมาณ 40%

 

หรือกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมัยที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็ขาดทุนปีละกว่าหมื่นล้านบาท แต่เมื่อออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และหันมาบริหารแบบบริษัทเอกชน ก็มีความคล่องตัว มีความโปร่งใสมากขึ้น ทำให้มีกำไร 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566

 

3. ลดการคอร์รัปชัน

 

“ต้องปฏิรูปกลไกเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะถ้าคอร์รัปชันน้อยลง คนก็ไม่อยากเป็นรัฐ แรงจูงใจที่คนอยากจะเป็นนักการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ก็จะลดลง คนดีๆ ก็มีโอกาสเป็นนักการเมืองมากขึ้น”

 

ลดคอร์รัปชัน: ต่อต้าน + ปราบปราม

 

ต่อต้าน = พยายามไม่ให้เกิดคอร์รัปชัน แต่หากเกิดแล้ว การปราบปรามก็ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

 

เมื่อคอร์รัปชันเกิดขึ้น ก็ต้องให้เห็นได้ง่าย สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ข้อมูลโปร่งใสมากขึ้น ต้องทำให้ความลับทางราชการเหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย ซึ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้

 

4. ทุนนิยมที่ดี

 

คุณบรรยงชี้ว่า “กำไรสูงสุด” ไม่ใช่คำที่ไม่ดี เพราะถ้ามีระบบที่สมบูรณ์ องค์กรจะทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อสร้างประโยชน์เท่านั้น คนจะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่ได้ประโยชน์มากกว่าเงินที่จ่ายไป

 

“กำไรสูงสุดเป็นแรงจูงใจให้คนเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งเพิ่มนวัตกรรม และลดต้นทุน”

 

ขณะเดียวกัน คุณบรรยงยังพูดถึง “ตลาดทุนไทย” ว่า บางคนอาจรู้สึกว่า ตลาดทุนเป็นแหล่งของคนรวย มีแต่เรื่องเสื่อมถอย ซึ่งแม้จะมีเรื่องเสื่อมถอยจริงก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น

 

ในอดีต ตลาดทุนมีประโยชน์มากมาย ถ้าไม่มีตลาดทุน การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีตที่สืบเนื่องจากการลงทุนจะเกิดขึ้นได้ยากมาก การที่มีตลาดทุน ทำให้ภาคเอกชนลงทุนได้เยอะมาก และขยายตัวได้ ตลาดหุ้นไทยเรียกได้ว่าเป็นตลาดคุณภาพดีตลาดหนึ่งในบรรดาตลาดเกิดใหม่ และช่วยระบบเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ขณะที่ Governance (ธรรมาภิบาล) ของไทยอยู่อันดับต้นๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งมาจากแรงกดดันของนักลงทุนคุณภาพ

 

ทุนนิยมที่ดี = คุณภาพของทุน

 

ทุนต่างชาติเป็นทุนจำเป็นและเป็นทุนที่ดี และเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจไทยต้องพัฒนาตัวเอง

 

คุณบรรยงชี้ว่า ทุนต่างชาติมีประโยชน์และถือว่าเป็นทุนที่มีคุณภาพ เนื่องจากต่างชาติจะลงทุนก็ต่อเมื่อกิจการของไทยที่ลงทุนสามารถแข่งขันได้ โดยนักลงทุนจะกดดันให้เทคโนโลยีที่ดี องค์กรต้องมีธรรมาภิบาล

 

5. มาตรฐานกระบวนการยุติธรรม

 

จากการจัดอันดับดัชนีหลักนิติธรรม ( WSJ Rule of Law Index) พบว่า ไทยได้อันดับลดลงเรื่อยๆ จากอันดับ 50 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาเป็นอันดับ 82 ของโลก จากทั้งหมด 142 ประเทศในปี 2566  ดังนั้น คุณบรรยงจึงมองว่า ไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม

 

ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายหรือลดกฎหมายเพราะเมื่อมีกฎหมายน้อยลง รัฐก็จะเล็กลง เมื่อกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น อำนาจของรัฐก็จะน้อยลง

 

มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจมองว่า ปัจจัยทั้ง 5 ข้างต้นเป็น “เรื่องใหญ่” เกิน “พลัง” ที่ประชาชนธรรมดาๆ คนหนึ่งจะทำได้ และตั้งคำถามว่า “คนธรรมดาแบบเราๆ จะช่วยปลดล็อก “ประเทศไทย” เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร?

 

คุณบรรยงให้คำแนะนำว่า “จงทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”

 

“หน้าที่แรก คือ เพิ่ม Productivity ของตัวเอง ทำให้สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าปัจจัยที่ใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเวลา หรือปัจจัยอื่นๆ… ไม่ต้องกลัวเลย เพราะผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็เป็นของเรา สร้างงานเพื่อตัวเรา และในที่สุด ประเทศก็ดีขึ้นด้วย โลกก็ดีขึ้นด้วย”

 

พร้อมหรือยัง? … ที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อผลักดัน Thailand Next (Move) ไปด้วยกัน!

 

บทสัมภาษณ์ คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนไทยมาหลายทศวรรษ

 

สัมภาษณ์โดย เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลธ์ มี อัพ จำกัด 

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats