แก้หนี้ท่วมไทย ใครต้องรับผิดชอบ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“การแก้ไขหนี้ครั้งนี้ ต้องการคนที่ท่องยุทธจักร…ช่วยได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เพราะตราบใดรายได้ไม่กลับมา ตราบนั้นรอดยาก”
คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
[Now] ปัญหา ‘หนี้’ ของไทยในวันนี้เป็นอย่างไร?
ปัญหาหนี้ของประเทศไทยเป็นปัญหาร้ายแรง และลงลึกไปถึงชีวิตของผู้คนที่ติดกับดักหนี้สิน ทั้งหนี้ที่อยู่ในเครดิตบูโร และหนี้นอกเครดิตบูโร
คุณสุรพล มองว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทย 16 ล้านล้านบาท เป็นปัญหาที่แก้ยากแก้เย็น เพราะ 27% ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภค
“ลูกหนี้เอารายได้ในอนาคตมาใช้กับสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่รายได้ในอนาคตไม่มาตามนัด เพราะว่า Covid-19 ระบาด อีกทั้งยังมีค่าใช้สาธารณสุขตามมา และมีดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่าย”
คนไทยจะหลุดจากบ่วงหนี้รอบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน…เป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าฟันธง “คำตอบ”
การแก้หนี้ควรจะประเมินจากสถานการณ์ความเป็นจริง อย่าตั้งเป้าสูงเกินไป มีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง…
หนี้คนไทยอยู่ตรงไหนบ้าง?
- ลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์
คุณสุรพลฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของคนไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระบบเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว เพราะคนบางอาชีพยังมีช่องทางก่อหนี้เพิ่มได้อีก อย่างเช่น “หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกวงเงินรวมกันสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท และที่ต้องกาดอกจันไว้ก็คือ ในจำนวนนี้เป็นหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษามากถึง 800,000 ล้านบาท
แต่ “หนี้ครู” ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะครูทั้งที่ยังทำงานอยู่หรือเกษียณอายุไปแล้ว หลายต่อหลายคนก็ยังไปกู้เงินจากธนาคารรัฐ ธนาคารเอกชน และสถาบันการเงินกลุ่ม Non-Bank อีกต่างหาก เม็ดเงินกู้เหล่านั้นรวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 600,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ครูไทยแบกหนี้รวมกันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท!
เรื่องจริงที่ฟังแล้วหดหู่ก็คือ…ครูเกษียณบางรายมีบำนาญ 33,000 บาท เมื่อหักหนี้ทุกอย่างแล้ว เหลือเงินติดบัญชีแค่ 1,600-1,700 บาทเท่านั้น!
- ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
คนไทยจำนวนไม่น้อยได้มีโอกาสทางการศึกษาเพราะการกู้ กยศ. และในอดีตก็มีลูกหนี้ กยศ. จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมชำระหนี้!
และมีจำนวนมากที่เป็นลูกหนี้ดีที่ควรได้รับการแบ่งเบาภาระ ซึ่งล่าสุด ภาครัฐได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระจากเดิม 12-18% เหลือแค่ 0.5% รวมถึงมีการคำนวณหนี้เงินกู้ใหม่ ซึ่งช่วยปลดเปลื้องภาระให้กับลูกหนี้ กยศ. วงเงินรวม 400,000 กว่าล้านบาทได้สำเร็จ
“กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยกำหนดให้การชำระหนี้จะหักเงินต้นก่อนหักดอกเบี้ย และมีการคำนวณดอกเบี้ยปรับใหม่เหลือแค่ 0.5% พร้อมมีผลย้อนหลังด้วย โดยเมื่อคำนวณแล้ว หากลูกหนี้ชำระเกินไปเท่าไหร่ก็จะไปหักกับเงินต้น ผลลัพธ์คือ ลูกหนี้ดี ที่จ่ายหนี้มาตลอด ปัจจุบันอาจไม่มีหนี้แล้วก็ได้ ส่วนคนที่ยังมีหนี้ค้างอยู่ ก็จะปรับโครงสร้างหนี้”
- ส่วนฝั่งของ “เกษตรกร” ที่ผ่านมาก็มีการพักหนี้ให้ระยะหนึ่ง
ดังนั้น ตอนนี้จะยังเหลือหนี้ก้อนมหึมา คือ หนี้ในสถาบันการเงิน หนี้ของมนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้า ซึ่งนี่ยังไม่รวม “หนี้นอกระบบ” ที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เม็ดเงินจะมากมายขนาดไหนกันแน่…
รายได้ < รายจ่าย = หนี้
คุณสุรพลได้หยิบยกข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มาบอกเล่าว่า คนไทยที่มีรายได้ 15,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตมากกว่า 100% ของรายได้ อีกทั้งยังต้องมีเงินอีก 25% ของรายได้ เพื่อเอาไปจ่ายนี้ ดังนั้น เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วอาจพูดได้ว่า มีรายได้ 100 บาท แต่มีค่าใช้จ่าย 138 บาท สรุปแล้ว แต่ละเดือนจะติดลบ 38%…
ชีวิตติดลบ! ต้องหาเงินโปะ
“หนี้นอกระบบ” ที่พี่ง…หรือบ่วง? ของคนชีวิตติดลบ…
คุณสุรพลเล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำรายงานเรื่องหนี้นอกระบบ เสนอแก่กระทรวงยุติธรรม โดยได้แจกแจงเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนไทยเดินเข้าสู่ “บ่วงหนี้นอกระบบ” ไว้ดังนี้
เหตุผลแรกที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้นอกระบบคือ “รายจ่ายสูงกว่ารายรับ” ที่เป็นแบบนี้ เพราะมีความสามารถหารายได้ไม่มากพอ โดยหนี้ครัวเรือนประมาณ 27% เป็นหนี้จากการอุปโภคบริโภค ลูกหนี้เอาเงินในอนาคตมาใช้ เพราะหวังว่าจะมีรายได้ในอนาคตเท่านั้นเท่านี้ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า รายได้ในอนาคตอาจไม่มาตามนัด โดยเฉพาะช่วงหลัง Covid-19 ข้าวของราคาแพงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้โตตาม
“หลัง Covid-19 โรคระบาดจบแล้ว แต่ Long Covid ด้านการเงินยังไม่จบ…”
คุณสุรพลอธิบายว่า แม้ว่าไทยจะมีปัญหาพอสมควรก่อนเกิด Covid-19 แต่ในภาพรวมแล้วปี 2562 ก็เป็นปีที่เศรษฐกิจดี การท่องเที่ยว ตัวเลขต่างๆ ดีหมด แต่พอเจอ Covid-19 ก็เกิดผลกระทบเนื่องรายได้ที่ลดลงอย่างฉับพลัน (Income Shock) ซึ่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า รายได้ของประเทศหายไป 2.6 ล้านล้านบาทในช่วง 3 ปีที่เกิด Covid-19
“เมื่อ Covid-19 จบ ครัวเรือนไทยก็เจอปัญหาดอกเบี้ยค้างชำระอยู่ และรายได้ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม คนที่มีระดับรายได้ประมาณ 5-6 หมื่นบาท รายได้กับการจ่ายหนี้ปริ่มน้ำอยู่ที่แถวๆ 100% เพราะฉะนั้น ลองคิดว่า คนที่มีรายได้ 5-6 หมื่นลงมา ต่างมีปัญหามากถึงมากที่สุด นี่คือสภาพที่ครอบคลุมคนหลายล้านคน”
“กติกา” อาจเป็น “ปัญหา”?
ทางออกหนึ่งสำหรับลูกหนี้ คือ “การปรับโครงสร้างหนี้” แต่คุณสุรพลก็ตั้งคำถามว่า “กติกา” ในปัจจุบันเอื้อและให้โอกาสกับคนที่มีบาดแผลทางการเงิน หรือคนที่มีประวัติค้างชำระในอดีต มากเพียงพอหรือเปล่า?
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเกณฑ์ค่อนข้างเข้มงวด เพราะเป็นกังวลเกี่ยวกับความแข็งแรงและเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งดูได้จากการกำหนดอัตราการกันสำรอง 160-170% ของความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ถือเป็นต้นทุนของสถาบันการเงิน และทำให้การจะปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ใหม่ยาก
“เกณฑ์ง่ายๆ พื้นฐานสำหรับคนที่จะกู้เงินใหม่ตั้งแต่ปี 2567 คือ เจ้าหนี้หรือว่าที่เจ้าหนี้ ต้องมั่นใจว่า คนที่จะกู้ใหม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ตามตารางที่กำหนดไว้จนครบสัญญา”
แม้ว่าเป็น “กติกา” ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม แต่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะโลกหลัง Covid-19 มีคนที่มีรายได้ประจำน้อยลง
คุณสุรพลได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “อะไรจะเป็นหลักประกันว่า วันนี้ขายเบเกอรี่ได้ 100 ชิ้น แล้วอีก 3 เดือนจะขายได้ 100 ชิ้น อีก 4 เดือนจะขายได้ 100 ชิ้น… รายได้ของคนจะกู้จะเข้าเงื่อนไขที่ทางการกำหนดว่า มั่นคง แน่นอน เพียงพอ สม่ำเสมอ ได้อย่างไร?”
เพราะฉะนั้นอาจพูดได้ว่า กติกาไปทางหนึ่ง แต่สภาพความเป็นจริงไปทางหนึ่งสำหรับคนบางกลุ่ม
“กติกาเข้มเท่าเดิม แต่สถานการณ์จริงแย่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ กติกาไม่ได้ผ่อนผัน ผ่อนปรนตาม”
เพื่อให้เห็นภาพชัดและใกล้ตัวใครหลายคนมากขึ้น คุณสุรพลได้ยกตัวอย่างของ การชำระหนี้ขั้นต่ำบัตรเครดิต คือ
ก่อนเกิด Covid-19 ต้องชำระหนี้ขั้นต่ำ 10%
ระหว่าง Covid-19 ระบาด ต้องชำระหนี้ขั้นต่ำ 5%
หลังยุค Covid-19 ต้องชำระหนี้ขั้นต่ำ 8%
โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยถือบัตรเครดิตประมาณ 3 ใบ แสดงว่า หลัง Covid-19 จะต้องชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำเพิ่มขึ้นใบละ 3% รวม 3 ใบเท่ากับ 9%
คำถามคือ ต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้น…แต่รายได้เพิ่มขึ้นตามนั้นหรือเปล่า?
ส่วนคนที่ต้องผ่อนบ้านผ่อนคอนโดมิเนียมก็อาการน่าเป็นห่วงเหมือนกัน เช่น คนผ่อนคอนโดฯ รายหนึ่ง มีรายได้ประมาณ 70,000 บาทต่อเดือน เคยต้องผ่อนคอนโดฯ 11,000 บาทต่อเดือน เมื่อหมดโปรโมชันตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ต้องเจอดอกเบี้ย MRR ขยับขึ้น ต้องผ่อนในอัตราใหม่ 22,000 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาแล้วน่าจะไม่ไหว จึงตัดสินใจทำ Retention และได้อัตราการผ่อนใหม่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาจะต้องหักรายได้อีก 8% มาจ่ายค่าผ่อนคอนโดฯ เพิ่ม แต่รายได้อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมา 8% ดังนั้น อาจจำเป็นต้องลดการออม หรือลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลง
เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดสถานการณ์ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ตึงมือ สร้างความอึดอัด เป็นความทุกข์ของมนุษย์เงินเดือน!
[Next] เราจะออกจากจุดนี้ได้อย่างไร?…เราจะแก้ปัญหา “หนี้” ได้หรือไม่?
คุณสุรพลตอบชัดเจนว่า ตอนนี้จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จได้ เพราะการแก้ปัญหาหนี้สินต้องใช้รายได้ในการแก้ปัญหา ไม่สามารถใช้หนี้ก้อนใหม่มาแก้ปัญหาหนี้ก้อนเก่าได้
“วันนี้ สิ่งที่ทำได้คือ บรรเทาอาการปวด ด้วยการลดดอกเบี้ย ยืดหนี้”
จากเรื่องราวของหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ คุณสุรพลเล่าว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แนะนำแนวทางการแก้ปัญหา 3 ข้อ คือ “ลด ยืด เหลือ”
ลด คือ การลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมเคยคิดดอกเบี้ย 6-7% ก็ลดดอกเบี้ยเหลือ 4.75% หรือต่ำกว่านั้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระบุรี ลดดอกเบี้ยเหลือ 4.5%
ยืด คือ การยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ไปจนลูกหนี้มีอายุ 85 ปี
เหลือ คือ การคำนวณงวดเงินที่ต้องจ่าย และให้ลูกหนี้สหกรณ์มีเงิน “เหลือ” เพื่อการดำรงชีพ 30% ของรายได้ เช่น หากมีรายได้ 30,000 บาท ต้องเหลือเงิน 10,000 บาท
สำหรับประเด็นนี้ คุณสุรพลได้ยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทยและสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีลูกหนี้เป็นข้าราชการว่า หลังเกษียณ ลูกหนี้จะมีบำนาญ และมีบำเหน็จตกทอดอยู่ก้อนหนึ่ง ธนาคารกรุงไทยแนะนำให้ลูกหนี้ที่มีหนี้หลายก้อนรวมหนี้เป็น 2 ก้อนหลัก คือ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์รวมเป็น 1 ก้อน และหนี้สถาบันการเงินอื่นและหนี้กรุงไทยให้มารวมเป็นหนี้กรุงไทย จากนั้น เมื่อได้เงินบำนาญ สหกรณ์ออมทรัพย์จะหักหนี้จากหน้าซอง จากนั้นกรุงไทยก็หักต่อ แต่ให้เหลือ 30% ของรายได้ เพื่อไว้ใช้ดำรงชีพ และยืดเวลาจ่ายหนี้จนถึง 85 ปี
ซึ่งหากทำแบบนี้รับรองว่า “ตาย (ทุกอย่าง) จบ หมดหนี้ ถ้าตายก่อน 85 ปี หนี้ก็หมด โดยใช้เงินก้อนสุดท้าย คือ บำเหน็จตกทอดมาเคลียร์หนี้”
ลดภาระลูกหนี้…ต้องลดดอกเบี้ย!
คุณสุรพลบอกว่า ไม่สนใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย แต่สิ่งที่สนใจคือ “ดอกเบี้ยหน้างาน” ที่เจ้าหนี้ (สถาบันการเงิน) คิดกับลูกหนี้
“สิ่งที่อยากถามตอนนี้คือ ดอกเบี้ยที่คิดตอนนี้ทำให้ลูกหนี้ไปรอดหรือเปล่า…ถ้าลูกหนี้ไม่รอดในระยะเวลานาน เจ้าหนี้ก็ไม่รอด เพราะผลการดำเนินงานของเจ้าหนี้ ก็คือ Summation ของลูกหนี้”
โดยสถาบันการเงินจะสามารถจะลดดอกเบี้ยได้ หากสถาบันการเงินสามารถลดรายจ่ายของตัวเอง เช่น กรณีของธนาคารรัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ มีนโยบายกำหนดให้ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของธนาคารรัฐ ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ต้องไปลดรายได้ให้เท่ากับค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องจ่าย เช่น สมมติว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ 5,000 ล้าน ก็ต้องเอาส่วนนี้ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ซึ่งทุกธนาคารต้องทำตาม และงบการเงินก็ไม่เสียหาย
ด้านสถาบันการเงินเอกชนก็มีรายจ่ายแบบนี้เหมือนกัน คือ เงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเดิมมีหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท และปัจจุบันเหลือหนี้ประมาณ 600,000 ล้านบาท
“คำถามคือ กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต รอได้ไหม? ในเวลาที่สิ่งมีชีวิตกำลังลำบาก”
คุณสุรพลเสนอว่า ให้เลื่อนการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1-2 ปี และผันเงินบางส่วน หรือประมาณ 25 สตางค์ที่ไม่ต้องส่งกองทุนฟื้นฟูฯ มาลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง คือ ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว อาจเป็นลูกหนี้ที่รายได้ยังไม่กลับมา แต่ไม่ได้ตั้งใจเป็นหนี้เสีย คนกลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ที่หนี้เสียเพราะโควิด
“ไม่ได้ช่วยทุกคน แต่ช่วยคนที่เปราะบาง ลูกหนี้กลุ่มนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้มั้ย หากทำได้ ก็ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และยืดเวลาชำระหนี้ออกไป แล้วเพิ่มแรงจูงใจแบบคนละครึ่ง คือ ถ้าธนาคารประหยัดเงินส่วนนี้ได้ 10,000 ล้านบาท ก็บอกให้ลูกหนี้จ่ายมา 100 และธนาคารสมทบ 100 เป็นการออกคนละครึ่ง หรือถ้าจะ Haircut เอาตรงนี้ไป 50 และลูกหนี้ใส่มา 50 ใส่มาคนละครึ่ง”
เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้รายย่อยเหล่านี้ ในช่วงปลายปี 2567 สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศจะออกมาตรการ “พักหนี้-ลดภาระหนี้” เพื่อช่วย “กลุ่มเปราะบาง” ทั้งลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการ SME เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2568 โดยกลุ่มที่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือครั้งนี้ คือ กลุ่มสินเชื่อรายย่อย ต้องค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี หรือก่อน 31 ตุลาคม 2567 ส่วนเงื่อนไขการช่วยเหลือแบ่งเป็น ลูกหนี้บ้าน ราคาต้องไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ส่วนสินเชื่อรถยนต์ต้องไม่เกิน 700,000 บาท และสินเชื่อ SME ต้องมีวงเงินสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน
สำหรับแหล่งทุนในการออกมาตรการจะมาจาก 2 ส่วน คือ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ทั้งระบบจาก 0.46% เหลือ 0.23% และอีกส่วนมาจากเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร โดยคาดว่ามาตรการนี้จะใช้เงินสนับสนุนรวม 1.4 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 3 ปี
Moral Hazard กับการแก้หนี้
บางคนอาจมองว่า การที่ภาครัฐยื่นมือเข้าไปช่วยลูกหนี้ อาจสร้างนิสัยเสียให้กับคนที่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ คุณสุรพลมองว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนท่วมคนไทยตอนนี้มาจาก เหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น คือ Covid-19 ที่ทำให้คนมีรายได้ลดลงแบบเฉียบพลัน และศักยภาพการหารายได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะระบบเศรษฐกิจ เช่น การลดวันทำงาน การใช้ ChatGPT มาทำงานบางอย่างแทนคน ทำให้ Value ของคนวูบไป
“หนี้ที่เกินศักยภาพในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนๆ นั้นทำพฤติกรรมที่เรียกว่า Moral Hazard หรือศีลธรรมวิบัติ”
พร้อมยกตัวอย่าง โครงการรวมหนี้ยั่งยืนของธนาคารกรุงไทยและสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีการ ล็อกเจ้าหนี้ 2 คน คือ เหลือกรุงไทย และสหกรณ์ออมทรัพย์ และมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อหนี้อื่นเพิ่มเติม เพราะมีเครื่องมือในการล็อกตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้จะต้องผ่อนหนี้ยาวไปจนถึงอายุ 85 ปี ถ้าลูกหนี้เสียชีวิต หนี้ก็หมด
“ถ้าเราล็อกตรงนี้ทั้งหมด คำถามคือ Moral Hazard จะเกิดตรงไหน?”
แก้หนี้ต้องใช้ “คนท่องยุทธจักร”
“การแก้ไขปัญหาหนี้ครั้งนี้ เราต้องการคนท่องยุทธจักร ไม่ใช่คนท่องตำรา โดยคนท่องยุทธจักรจะเข้าใจว่า 10 คนแก้ไม่ได้ทั้ง 10 คน ต้องมีคนล้มหายตายจาก ต้องมีคนที่ตายไปพร้อมกับหนี้ ชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้น แต่ตายก่อน… ต้องไม่ตั้งเป้าว่าช่วยได้ 10 คน แต่ตั้งเป้าว่า ช่วยได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เพราะตราบใดรายได้ไม่กลับมา ตราบนั้นรอดยาก”
คุณสุรพลมองว่า เมื่อทำใจยอมรับความจริงว่า ทุกอย่างเป็นเช่นนั้น คนรับผิดชอบก็ลงไปแก้ปัญหา โดยไม่คาดหวังเกินไป และไม่ทำอะไรที่บิดเบือนมากเกินไป
“สำหรับวัฏจักรรอบนี้ หากมีลูกหนี้ 100 คน ถ้าช่วยได้ 15 คน ก็ต้องยอมรับว่าได้ 15 คน อย่าคาดหวังจะช่วยได้ 50 มันไม่ได้มีเป้าที่ 50 ในมุมผมมองว่า รอบนี้ ไม่มีเป้า โกยขึ้นมาได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น”
พร้อมกันนี้ได้เปรียบเทียบสถานการณ์เหมือนเรือแตกในทะเล มีคนลอยอยู่กลางทะเล ทั้งคนอายุน้อย คนอายุมาก คนมีงานทำ คนไม่มีงานทำ โดยสถาบันการเงิน คือ เรือ แม้ว่าเรือที่ปลอดภัยที่สุด คือ เรือที่จอดในอ่าว แต่เรือมีหน้าที่ คือ ต้องวิ่งจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุเรือแตก ก็ต้องระดมห่วงยาง หรือเรือชูชีพ ไปช่วยคนที่ตกน้ำ
“อย่ามัวแต่นั่งเถียงกันว่า เครื่องมือตัวนั้นเหมาะไหม ช่วยได้เท่าไหร่ ผมว่า ทุกวินาทีที่คนไม่มีปัญหากำลังคิดหาทางแก้ปัญหา มันคือ วินาทีที่หมดไปของคนที่มีปัญหาหนักหนาสาหัส ดอกเบี้ยมันเดิน อะไรที่รีบทำได้ก็รีบทำซะ”
คุณสุรพลบอกว่า หากตนเองเป็นผู้มีอำนาจ สิ่งที่จะทำอันแรก คือ จะบอกว่า ไม่มีการผูกเนคไท ใส่สูท ทุกคนต้องใส่เสื้อยืดไปทำงาน ตราบใดที่แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ตราบนั้นคนในองค์กรต้องกินข้าวในโรงอาหารทุกวัน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง
“ผมไม่เห็นประโยชน์ของการแต่งหล่อ ผูกไท แล้วไปพูดเรื่องปัญหาความยากจน มันย้อนแย้ง…ต้องใช้เวลาทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหา ต้องลงไปอยู่กับปัญหา ทำให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร”
ข้อคิด…สิ่งต้องทำ สำหรับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้กำหนดนโยบาย
ลูกหนี้: หนีหรือสู้?
ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ประมาณ 56% ของลูกหนี้ สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อได้ หรือพูดได้ว่าหนีหน้า..หนีหนี้
คุณสุรพลฝากถึงลูกหนี้ว่า ไม่ว่าจะหนีไปไหน กระบวนการทางกฎหมายก็จะตามไปเรื่อยๆ หากเป็นหนี้ ไม่ใช้หนี้ ถูกฟ้อง ไม่ไปศาล ถูกพิพากษาลับหลัง เจ้าหนี้ก็ถือคำบังคับ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องเจอกันอยู่ดี ไม่สามารถหนีความเป็นจริงไม่พ้น
“อย่าหนีเลย เดินมาสู้ดีกว่า สู้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น”
เจ้าหนี้: Reserve สูง ปลอดภัยจริงหรือ?
คุณสุรพลมองว่า วันนี้เจ้าหนี้อาจยังไม่มีปัญหา แต่การที่สถาบันการเงินมี Reserve (เงินสำรอง) สูงๆ ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะถ้าทุกหย่อมหญ้ามีปัญหาหมด ก็ไม่มีใครปลอดภัยแล้ว ดังนั้น สำหรับเจ้าหนี้ ควรคิดว่า “มากน้อย ดีกว่าไม่ได้ (เงินชำระหนี้) เลย”
ผู้กำหนดนโยบาย: ถึงเวลาปรับ “กติกา”?
สำหรับผู้กำหนดนโยบาย คุณสุรพลทิ้งท้ายให้คิดว่า คำพูดถึงที่คนเดือดร้อนฟังแล้วเจ็บปวดคือ “กำลังทำอยู่ กำลังพิจารณาอยู่ เรื่องนี้กฎหมายไม่เปิดช่อง
ดังนั้น ไม่ควรเอ่ยคำแบบนี้ออกมา เพราะผู้กำหนดนโยบายได้รับคำสั่ง และปวารณาตัวแล้วว่า จะมาช่วยเหลือคน ดังนั้นต้องทำจนกว่าทุกอย่างจะจบ
“ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครให้คะแนนที่ความพยายาม ทุกคนให้คะแนนที่ความสำเร็จ”
คุณสุรพลฝากถึงผู้กำหนดนโยบายว่า “ผมอยากให้เขาเดินถนน ไม่ต้องตอบคำถามอะไรเลย มองไปที่แววตาพ่อค้าแม่ค้า และถามใจตัวเองว่า เราทำมากพอหรือยัง เราไปแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม นี่คือสิ่งที่อยากบอกมากที่สุด”
ต้องปรับกติกา รับมือสถานการณ์จริง
คุณสุรพลบอกว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ยิ่งขยัน ยิ่งบรรลัย เพราะกติกาที่ออกมา ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ เช่น กติกา Significant Increase in Credit Risk (SICR) ซึ่งสถาบันการเงินใช้ในการบริหารความเสี่ยง
กติกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กำหนดว่า หากลูกหนี้ค้างชำระเกิน 31 วัน จะถูกจัดชั้นทันทีให้เป็น Special Mention (SM) ซึ่งหมายความว่า คนจะเป็น SM เร็วขึ้น
ส่วนการหลุดจากสถานะ SM ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระดี 3 งวดติดกัน และต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีข้อกำหนดว่า ต้องมีรายได้แน่นอน มั่นคง และสม่ำเสมอ
ซึ่งคุณสุรพลมองว่า กติกาที่ขึงตึงเรื่อง Credit Risk มากเกินไป โดยเฉพาะเรื่อง Income Validation ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ลูกหนี้มีรายได้แน่นอน มั่นคง เพียงพอ และสม่ำเสมอนั้น เป็นไปไม่ได้จริงๆ ในยุคนี้!
“บางที เราสร้างกติกาที่เข้มแข็ง จนลืมนึกไปว่า เราอยู่ข้างในกติกา จนออกจากกติกาไม่ได้”
รายได้ > รายจ่าย = ไม่มีหนี้
อยากไม่มีหนี้ก็ต้องหา “รายได้” ให้มากกว่า “รายจ่าย”
แต่…รายได้คนไทยจะกลับมาได้อย่างไร?
สำหรับเรื่องนี้ คุณสุรพลแนะนำว่า ทุกวันนี้ ถ้าใครมีชั่วโมงทำงานเหลืออยู่ ใครมีชั่วโมง Entertain เยอะอยู่ อาจต้องเปลี่ยนเอาเวลาไปสร้างทำรายได้มากขึ้น ถ้ายังหารายได้ไม่มากพอ ก็คงต้องทำมากขึ้น คนรุ่น Baby Boomers อย่างคุณสุรพล ถ้าอยากสู้กับเด็กรุ่นใหม่ อาจต้องเรียน ChatGPT เพราะว่าความเก๋าจากประสบการณ์เท่านั้น ที่ทำให้คนรุ่นนี้ค้นหาคำตอบในปัญหาได้เร็วกว่าเด็ก
“ผมรู้เลยว่า เราคงไม่ได้เกษียณอายุตอน 65 ปี เราต้องทำงาน เผลอๆ ต้องทำไปถึง 70 ปี… เราไม่ได้แย่งงานเด็กทำ เราต้องทำงานเพื่อตัวเราเอง การทำงานเป็นการเช็กสุขภาพว่ายังไปได้…เคยมีการสำรวจพบว่า คนสูงวัยหลายคนพูดกันว่า เขาไม่อยากอยู่ที่บ้าน เพราะไม่มีรายได้ ต้องนั่งรอเงินโอนจากลูกหลาน พวกเขาคิดว่า “มือที่ขอ ไม่เคยสูงกว่ามือที่ให้” ดังนั้น เขาต้องดูแลตัวเองให้ได้ การจะดูแลตัวเองให้ได้ ก็ต้องมีรายได้ ถ้ายังทำงานได้ ก็ต้องทำ…อะไรที่ทำแล้วไหว ก็ต้องทำ เพื่อตัวเองไม่ใช่เพื่อคนอื่น”
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” ยุคนี้ คุณสุรพลย้ำว่า “การแก้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เรียบร้อย ไม่มีอยู่จริง มันเป็นการปะทะประทังไปอย่างนี้ มีปัญหาก็แก้ ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ก่อน ไม่ทฤษฎีจ๋า”
บทสัมภาษณ์ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
สัมภาษณ์โดย เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลธ์ มี อัพ จำกัด