เงื่อนไขภาษี PVD ต้องรู้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หลายคนคงรู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันแล้วว่า เป็นกองทุนที่มนุษย์เงินเดือนได้สะสมเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ โดยนอกจากเงินที่เราในฐานะลูกจ้างสะสมแล้ว เรายังจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง แถมเงินที่เราสะสมยังได้รับสิทธิประโยชน์นำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และไม่เกิน 500,000 บาท
ประโยชน์ตรงนี้ กรมสรรพากรให้แล้วให้เลย ไม่ทวงคืน ไม่ว่าเราจะเป็นสมาชิกอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกี่ปีก็ตาม
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่เราได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 3 ก้อน คือ เงินสมทบจากนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ เงิน 3 ก้อนนี้ กรมสรรพากรถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นเราจึงต้องรู้ภาระภาษีที่เกิดขึ้นกับเงิน 3 ก้อนนี้ มี 3 กรณีดังนี้
- ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่อายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินทั้ง 3 ก้อนนี้โดนภาษีเต็มๆ
- ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราสามารถเลือกไม่เอาเงิน 3 ก้อนนี้ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น แถมมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าไหร่หารสอง แล้วค่อยเอาที่เหลือไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ (จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป นับเป็น 1 ปี น้อยกว่า 183 ให้ปัดทิ้ง) วิธีนี้จะทำภาษีที่ต้องเสียลดน้อยลง
สำหรับคนที่จะออกจากงาน ถ้าอายุงานไม่ถึง 5 ปี จึงควรขอคงเงินของเราไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อ และเมื่อเราได้ไปเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่ เราค่อยโอนไป วิธีนี้ เราสามารถนับอายุงานและอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ต่อเนื่องเลย
หากตอนที่เราออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรามีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน (ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ) เงินทั้ง 3 ก้อนที่ได้มาไม่ต้องเสียภาษีใดๆ
สังเกตนะว่า ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีอื่น สนใจที่อายุงาน แต่ถ้าอายุ 55 ปีบริบูรณ์เมื่อไหร่ ไม่สนใจอายุงานแล้ว สนใจแค่อายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น