เรื่องเข้าใจผิดของ RMF
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2562 อาจเป็นปีสุดท้ายที่นักลงทุนจะสามารถลงทุน LTF ได้ ก็ยิ่งทำให้ RMF ได้รับความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของ RMF ที่มีความซับซ้อน ส่งผลให้หลายคนเกิดข้อเข้าใจผิดในการลงทุนดังนี้
การคำนวณยอดเงินลงทุนสูงสุดของ RMF
เงื่อนไขในการลงทุนกองทุน RMF กำหนดไว้ว่า (1) ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่เสียภาษี โดย (2) เมื่อนำไปรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และค่าเบี้ยประกันบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดคือ มักคำนวณยอดเงินลงทุนสูงสุดโดยหักเงินสะสมใน PVD หรือกบข. ออกไปก่อน ทำให้ลงทุน RMF ด้วยยอดเงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น รายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท และ PVD 100,000 บาท จึงคำนวณโดยคิด 15% ของ 1 ล้านบาท ออกมาได้ 150,000 บาท จากนั้นนำมาหักเงิน PVD ออกไป 100,000 บาท จึงได้ยอดเงินลงทุน RMF เพียง 50,000 บาท
วิธีคำนวณยอดเงินลงทุน RMF ที่ถูกต้องของกรณีนี้คือ คำนวณยอดเงินลงทุน RMF สูงสุดซึ่งอยู่ที่ 15% ของ 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงิน 150,000 บาท ตามเงื่อนไข (1) จากนั้นเช็กตามเงื่อนไข (2) คือ นำมารวมกับ PVD และค่าเบี้ยประกันบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งกรณีนี้เมื่อนำ PVD มารวมกับ RMF จะพบว่า ยอดเงินอยู่ที่ 250,000 บาท ถือว่าตรงตามเงื่อนไขซึ่งไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น กรณีนี้สามารถลงทุน RMF ได้สูงสุด 150,000 บาท
- การลงทุน RMF ในปีที่ไม่มีรายได้ เงื่อนไขของ RMF กำหนดไว้ว่า เมื่อลงทุนไปแล้วจะต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี โดยสามารถเว้นการลงทุนได้ 1 ปี ทั้งนี้ยอดเงินลงทุนขั้นต่ำในการลงทุนอยู่ที่ 3% ของเงินได้ที่เสียภาษี หรือ 5,000 บาท ทำให้หลายคนคิดว่า ถ้าปีไหนไม่มีรายได้ที่เป็นเงินเดือน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ RMF แต่จริงๆ แล้ว ตัวเรายังมีรายได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผลซึ่งเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ผิดเงื่อนไขในการลงทุน RMF แม้ว่าไม่มีรายได้ประจำ ก็ควรลงทุนขั้นต่ำที่ปีละ 5,000 บาท
การลงทุน RMF นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณด้วย ยิ่งลงทุนมาก ก็ยิ่งจะช่วยให้เรามีเงินเก็บไว้ใช้ยามสูงวัยมากขึ้นตามไปด้วย