เปิดลายแทงขุมทรัพย์ “RMF หุ้น”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ถ้ายังไม่ซื้อ RMF อย่าเพิ่งไปเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ เพราะ RMF ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการออมเงิน และถ้ามีวินัย รับรองจะมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอย่างแน่นอน ที่สำคัญได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอีกด้วย พูดง่ายๆ ได้ 2 เด้งกันเลยทีเดียว
ถ้าพูดถึงกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองผสม กองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ ลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นสูง เช่น แต่ละปีสามารถซื้อขั้นต่ำได้เพียง 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้ในปีนั้นๆ และยิ่งถ้าซื้อแบบถัวเฉลี่ย (DCA) ก็คิดเป็นการลงทุนแต่ละเดือนไม่กี่ร้อยบาท
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ซื้อ RMF ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อต้องการนำไปลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ ดังนั้น หลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่าถ้าซื้อเยอะก็จะได้ลดหย่อนภาษีเยอะตามไปด้วย
ความจริงแล้ว กรมสรรพากรกำหนดว่า 1 คนจะซื้อ RMF แต่ละปีได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท พอได้ข้อมูลนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อ เพราะต้องดูก่อนว่าตัวเองมีเงินสะสมอยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้นำมาบวกรวมกันก่อน ถ้ายังไม่เกิน 500,000 บาท ถึงจะซื้อ RMF และมีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้าเกินก็ซื้อ RMF ได้ แต่หมดสิทธิได้ลดหย่อนภาษี
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อ RMF ถามตัวเองให้ดีก่อนว่าพร้อมหรือไม่ เพราะเมื่อซื้อไปแล้วหากจะได้ประโยชน์เต็มๆ ต้องทำตามเงื่อนไขทุกประการ นั่นคือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน) และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ปีนั้น และไม่ขายคืนจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และก่อนครบ 5 ปี
ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักจะทำผิดเงื่อนไข คือ ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันทั้งที่ยังมีเงินได้ จำนวนเงินลงทุนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ลงทุนไม่ครบ 5 ปีเต็ม อย่าลืม หากเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน
หากลงทุนแล้วทำตามกฎกฏิกา ก็จะได้รับประโยชน์กันไปเต็มๆ แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไขก็ได้รับโทษเช่นกัน โดยผิดเงื่อนไขและลงทุนไม่ถึง 5 ปีต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปีที่ได้รับยกเว้นมา และถ้าคืนภาษีล่าช้าต้องจ่ายให้กรมสรรพากร 1.5% ต่อเดือน โดยคิดตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ถัดจากปีที่ขายผิดเงื่อนไขการลงทุนนั้น
โดยกำไรที่ได้จากการขายคืนที่ผิดเงื่อนไข ถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืนซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วย
ถ้าผิดเงื่อนไขและลงทุน 5 ปีขึ้นไป ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลัง และถ้าคืนภาษีล่าช้าต้องจ่ายให้กรมสรรพากร 1.5% ต่อเดือน โดยคิดตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ถัดจากปีที่ขายผิดเงื่อนไขการลงทุนนั้น โดยกำไรที่ได้จากการขายคืน ไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษี
มาถึงตรงนี้ ถ้าพร้อมแล้ว ขอแนะนำ 10 กอง RMF ที่มีนโยบายการลงทุนหุ้น สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 10 ปีย้อนหลัง