สิ่งต้องถาม เมื่อถูกเสนอประกันสุขภาพ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ประกันสุขภาพที่เสนอขายทางเทเลเซลล์มักเป็นแบบเฉพาะที่ไม่ขายผ่านช่องทางอื่น ดังนั้นการรับฟังและตั้งคำถามเพื่อให้รู้จักประกันนั้นมากขึ้น อาจเป็นประโยชน์กว่าการด่วนปฏิเสธก็เป็นได้ สำหรับสิ่งที่ควรถามและรับฟังนั้นหลักๆ ได้แก่
คุ้มครองอะไรบ้าง
– คุ้มครองโรคทั่วไปหรือเฉพาะโรค เช่นเฉพาะโรคมะเร็ง โรคร้ายแรง โรคออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ
– คุ้มครองกรณี “ผู้ป่วยนอก” ที่เพียงไปหาหมอที่คลินิกทั่วไปก็เบิกได้ หรือเฉพาะกรณี “ผู้ป่วยใน” ที่ต้องนอนโรงพยาบาลตามคำสั่งแพทย์อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ถึงเบิกได้
คุ้มครองอย่างไร
– เป็นแบบ “เหมาจ่าย” ที่กำหนดวงเงินสูงสุดแต่ละครั้ง โดยเบิกได้ทุกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษา หรือแบบ “แยกค่าใช้จ่าย” ที่กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายรายการต่างๆ ไว้ หากค่าใช้จ่ายรายการใดสูงกว่าที่กำหนดจะเบิกได้ไม่เกินวงเงินของรายการนั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายอื่นยังไม่เกินวงเงินก็ตาม
– วงเงินคุ้มครอง “ต่อครั้ง” เป็นเท่าไร เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งประเมินได้จากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่ใช้เป็นประจำ รวมถึงวงเงินสูงสุด “ต่อปี” เพราะในกรณีของคนที่เจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลบ่อยครั้ง หากวงเงินต่อปีต่ำ การรักษาตัวครั้งหลังๆ อาจไม่สามารถเบิกได้เพราะค่าใช้จ่ายเกินวงเงินต่อปีที่กำหนดไว้
มีข้อยกเว้นเรื่องใด และระยะเวลารอคอยนานเท่าไร
– ไม่คุ้มครองโรคหรือกรณีใดบ้าง เช่น โรคเรื้อรัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ โรคทางพันธุกรรม หรือไม่คุ้มครองการรักษาแพทย์ทางเลือก ฯลฯ
– ไม่คุ้มครองโรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงกี่วันหลังซื้อประกัน หรือที่เรียกว่า “ระยะเวลารอคอย” ซึ่งโรคทั่วไปมักกำหนดไว้ที่ 30 วันแรกหลังซื้อประกัน และบางโรค เช่น เนื้องอก นิ่ว ฯลฯ อาจกำหนดไว้ที่ 90 – 180 วัน
ต่ออายุได้ถึงเมื่อไร
ประกันที่พิจารณาอยู่แม้ปัจจุบันดีหรือคุ้มค่าเพียงใด แต่การเจ็บป่วยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่อายุมากแล้ว ดังนั้นหากประกันสุขภาพไหนที่ต่ออายุได้ถึง 80-90 ปี แม้ว่ามีความคุ้มครองบางอย่างด้อยกว่าประกันอื่นบ้าง ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตอบปฏิเสธ เพราะอาจไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ อีก
ค่าเบี้ยประกัน
– ต้นทุนค่าเบี้ยแม้ไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรพิจารณาแต่เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยต้องเลือกแบบประกันหรือแผนความคุ้มครองที่ค่าเบี้ยไม่สูงจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินไป
– นอกจากค่าเบี้ยปีปัจจุบันแล้ว ต้องสอบถามค่าเบี้ยของปีถัดๆ ไปอย่างละเอียด เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพมักมีการปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ เช่น อายุ 80-90 ปี อาจมีค่าเบี้ยที่สูงมาก จึงควรสอบถามเพื่อนำข้อมูลมาใช้ตัดสินใจด้วย
การรับฟังข้อมูลแบบประกันสุขภาพ นอกจากเป็นการเปิดโอกาสที่อาจได้แบบประกันดีๆ แล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ลักษณะและผลประโยชน์ของประกันสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย และเมื่อรับฟังแล้วหากยังไม่พอใจกับประกันนี้ก็เพียงแจ้ง “ปฏิเสธ” การนำเสนอเท่านั้นเอง