×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

นับอายุงาน PVD ยังไง?

19,238

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

ถ้าจัดอันดับการออมที่คุ้มสุดๆ คงยกให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD เป็นอันดับต้นๆ เพราะนอกจากเราจะได้เงินสมทบจากนายจ้างแล้ว เรายังสามารถเอาเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้ แถมกรมสรรพากรให้แล้วให้เลยไม่เอาภาษีคืนด้วย

ผลตอบแทนที่ได้ คือ เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไม่ต้องเสียภาษี แค่ทำตามเงื่อนไขกรณีลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกรมสรรพากร ดังนี้

1) อายุงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำผลตอบแทนทั้งหมดไปคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน

2) อายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป  สามารถเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน   เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีทั่วไป

3) แต่ถ้าออกจากงานเพราะเกษียณอายุ เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเกษียณที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป

               แต่หากเกษียณโดยมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี

               ก็ต้องเสียภาษีแบบเดียวกับข้อ 1 หรือเกษียณโดยมีอายุงาน 5ปี

               ขึ้นไป แต่อายุตัวไม่ถึง 55 ปี ก็ต้องเสียภาษีแบบเดียวกับข้อ 2

โดยการคำนวณอายุ 55ปี คือ นับวันเกิดชนวันเกิด คือ 55 ปีบริบูรณ์ ส่วนอายุงานนี่แหละคือปัญหาที่หลายคนสงสัยนับยังไง

ถ้านับเฉพาะบริษัทที่เราทำงาน อันนี้ก็ง่าย นับตั้งแต่วันที่เราเริ่มงาน (ช่วงทดลองงานก็นับเป็นอายุงานด้วย) จนถึงวันที่เราออกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

แต่เนื่องจากปัจจุบัน กฎหมายอนุญาตให้เราสามารถคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมได้ แม้ว่าจะออกจากงานแล้ว และเมื่อได้งานใหม่และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ อันนี้จะสามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้หรือไม่ ถ้าได้นับอย่างไร

เรื่องนี้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๕๒) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐(๑) และ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา ๔๘(๕) และมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร ระบุเกี่ยวกับเงื่อนไขการนับอายุงานที่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องจากนายจ้างเก่ามายังนายจ้างใหม่ได้ ถ้าปฏิบัติดังนี้

1) มีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างเก่าและเข้าทำงานกับนายจ้างอีกคนหนึ่งไม่เกินหนึ่งปี หรือเข้าทำงานใหม่กับนายจ้างเดิมซึ่งมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานและเข้าทำงานใหม่ไม่เกินหนึ่งปี

2) โอนเงินและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเก่าไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่

3) ตอนออกจากงานนายจ้างเก่านั้น ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๘(๕) แห่งประมวลรัษฎากร

ถ้าปฏิบัติครบ 3  ข้อ กรมสรรพากรยอมให้นับระยะเวลาการทำงานในระหว่างที่ทำงานกับนายจ้างแต่ละคนเป็นระยะเวลาทำงาน

แต่หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ตอนออกจากนายจ้างเก่าใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๘(๕) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานจากนายจ้างคนใดแล้ว หรือเมื่อออกจากงานจากนายจ้างเก่าแล้วมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างนั้นและเข้าทำงานใหม่เกินหนึ่งปี กรมสรรพากรไม่อนุญาตให้นับอายุงานต่อเนื่อง ให้นับระยะเวลาการทำงานเฉพาะที่ได้ทำกับนายจ้างใหม่เท่านั้น

หมายเหตุ มาตรา 40(5) คือ มาตราที่อนุญาตให้ผู้มีเงินได้แบบเงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแต่ไม่เกินเงินได้พึงประเมิน เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats