5 สิทธิต้องรู้ สู้ภัย COVID-19
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ หน่วยงานได้ออกมาตรการมากมายมาช่วยเหลือประชาชน แต่หากจะกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับพนักงานประจำ ก็พอจะรวบรวมได้ดังนี้
1) สิทธิช่วยลดค่าใช้จ่าย
พนักงานเอกชน (ม.33) ที่ปกติถูกหักเงินประกันสังคมเดือนละ 5%ของเงินเดือน ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 63 ประกันสังคมจะหักเพียง 1% ของเงินเดือนเท่านั้น และช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 63 จะหักเพียง 4% ของเงินเดือน เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของเหล่าพนักงาน เช่น คนเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป จะถูกหักเงินประกันสังคมจากปกติเดือนละ 750 บาท* เหลือ 150 บาท* และ 600 บาท* ตามลำดับ
ส่วนใครที่มีสินเชื่อกับธนาคาร ลองเช็กดูว่าช่วงนี้ธนาคารมีมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายลูกหนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคารและประเภทสินเชื่อ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดยอดการชำระเหลือเพียงดอกเบี้ยและพักชำระเงินต้นไว้ หรือมีวงเงินสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติมกรณีนำไปใช้เพื่อประกอบธุรกิจ เป็นต้น
2) สิทธิช่วยชะลอการใช้จ่าย
กรมสรรพากรได้มีการขยายเวลาการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากสิ้น มี.ค. 63 เป็นสิ้น ส.ค. 63 ส่งผลให้คนที่มีรายได้เฉลี่ยเกินเดือนละ 26,000 บาท และมีภาระภาษีที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม สามารถชะลอเงินภาษีที่ต้องชำระนี้ออกไปได้อีก 5 เดือน
แต่สำหรับใครที่มีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีที่ผ่านมาและมีภาษีที่สามารถขอคืนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีรอ แต่ควรรีบยื่นภาษีทันทีเพื่อนำเงินภาษีที่ได้คืนมา ไปใช้จ่ายได้
3) สิทธิเมื่อรายได้หาย
นับตั้งแต่ มี.ค. 63 หากพนักงานเอกชนคนไหน (ม.33) ที่นายจ้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนจำเป็นต้องให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
– กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้กิจการนายจ้างหยุดทำการชั่วคราว จะได้รับเงินชดเชยในอัตรา 62% ของเงินเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 9,300 บาท* เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน (หรือ 3 เดือน)
– กรณีต้องหยุดงานหรือนายให้หยุดงานด้วยสาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 จะได้รับเงินชดเชยในอัตรา 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท* เป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน (หรือ 6 เดือน)
นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งแบบไม่มีหลักประกันและมีหลักประกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลง ผ่านช่องทางต่างๆ ขึ้นกับประเภทสินเชื่อ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย และสำนักงานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำ ของรัฐ)
สำหรับใครที่ไม่อยู่ระบบประสังคมก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะภาครัฐก็มีเงินช่วยเหลือให้เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63) ด้วย โดยต้องลงทะเบียนตามขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนด
4) สิทธิเมื่อตกงาน
กรณีถูกนายจ้างให้ออกหรือมีความจำเป็นต้องลาออกเอง โดยปกติพนักงานเอกชนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมอยู่แล้ว แต่สำหรับพนักงานที่ต้องตกงานด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น โรคระบาดอย่าง COVID-19 ประกันสังคมก็เพิ่งมีมาตรการเพิ่มจำนวนเงินทดแทนให้มากขึ้น โดย จะได้รับเงินทดแทนอัตรา 62%ของเงินเดือน สูงสุดเดือนละ 9,300 บาท* เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน (หรือ 3 เดือน)
5) สิทธิเมื่อมีเงินเหลือ
สำหรับใครที่พอกำลังทรัพย์อยู่บ้าง ภาครัฐก็มีมาตรการจูงใจเพื่อระดมทุนผ่าน “กองทุน SSF เฉพาะกิจ” ที่หากลงทุนในช่วง เม.ย.-มิ.ย. 63 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 2 แสนบาท หรือลดภาระภาษีได้ 10,000 – 70,000 บาท สำหรับผู้ที่มีฐานภาษี 5%-35% ตามลำดับ โดยสิทธิส่วนนี้เป็นส่วนเพิ่ม ที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิ “กองทุน SSF ปกติ” ที่หลายๆ คนได้ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้
รวมถึงใครที่กังวลเรื่องภาระค่ารักษาพยาบาลทั้งจากไวรัส COVID-19 และโรคอื่นๆ ภาครัฐได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพ จากสูงสุดปีละ 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท โดยเบี้ยประกันที่ใช้สิทธิได้ต้องเป็นส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เพื่อนอกจากลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายของคนจ่ายเบี้ยแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนสาธารณสุขของภาครัฐด้วย
COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราทุกคนมีสติ เช็กเงินในกระเป๋า ตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ศึกษาสิทธิต่างๆ ที่มี รวมถึงแบ่งปันสิ่งดีๆ ทั้งสิ่งของจำเป็นและข้อมูลดีๆ อย่าง “5 สิทธิต้องรู้ สู้ภัย COVID-19” ให้แก่คนรอบข้าง เราก็จะร่วมกันผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
* คำนวณที่ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท
** รวบรวมข้อมูลสิทธิต่างๆ ณ วันที่ 31 มี.ค. 63