×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

โปรฮิตผ่อน O % ตัวการเร่งก่อหนี้ ?

4,652

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยออกมาบอกว่าจะเล็งยกเลิกโปรผ่อน 0 % กับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะมือถือและเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง หลังหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำแค่นี้พอหรือเปล่าที่จะหยุดการก่อหนี้

 

เวลาที่เราอยากจะได้ของสักชิ้นที่มีราคาแพงหน่อย เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป กระเป๋า ราคาอาจจะหลายพัน ไปจนถึงหลักหมื่น  ถ้าเราต้องควักเงินสดจ่ายรับรองกระเป๋าแบนแน่ ๆ เพราะเงินที่ต้องควักออกไปถือว่าไม่น้อยเลยนะ แต่นั่นอาจทำให้เรามีเวลาทบทวนการตัดสินใจว่าท้ายที่สุดแล้วของที่เราอยากได้นั้น เพราะความจำเป็น ( Need ) หรือ เพราะความต้องการ ( Want ) กันแน่ เผลอ ๆ เอาไว้ก่อนดีกว่า …แล้วเราก็เดินออกจากร้านไป

 

ในทางกลับกัน ถ้าเราเดินไปเจอสินค้าติดป้ายโปรฮิต ผ่อน 0 %  6 เดือนบ้าง 10 เดือนบ้าง  24 เดือนบ้าง เห็นป้ายนี้เมื่อไหร่รับรองว่า  Need หรือ Want ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจอีกต่อไป  เพราะมันยั่วใจ ไม่ต้องเสียอะไร มีแต่ได้กับได้

 

 

ทำไมใครๆ ก็ชอบใจโปรฮิตผ่อน 0 %

  1. ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเงินก้อนออกไป
  2. สามารถซื้อสินค้าที่มีราคาแพงได้ไม่ยากเย็น
  3. การรูดซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ยังได้สะสมคะแนน หรือได้เงินคืน (Cash Back)
  4. มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้อย่างอื่น หรือไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

 

แต่ๆ ๆ การใช้โปรผ่อน 0 % นั้นเหมาะกับคนที่มีวินัยในการใช้จ่ายเงินมาก ๆ  เพราะกฎเหล็กสำคัญคือต้องชำระให้ตรงเวลา และต้องจ่ายเต็มจำนวน ไม่ใช่การจ่ายขั้นต่ำ ไม่เช่นนั้นคำว่า “มีแต่ได้กับได้”…ไม่มีอยู่จริง เพราะธนาคาร หรือบริษัทผู้ออกบัตรเครดิต จะคิดอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปีทันที  ลองนึกดูว่าถ้าเรามีบัตรเครดิตกันคนละหลายใบ รูดปื๊ด รูดปื๊ด อย่างเมามันและเคยชิน ท้ายที่สุดอาจทำให้เราเป็นหนี้ก้อนโตหลายก้อน คราวนี้แหละ “เรื่องหนี้” จะกลายเป็นเรื่องใหญ่จนต้องนั่งกุมขมับ

 

เหตุใด…ธนาคารจึงยอมให้เราซื้อสินค้าด้วยการผ่อน 0 %

  1. การที่ธนาคารยอมให้เราซื้อสินค้าด้วยการผ่อน 0% ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตใบนั้น ๆ เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพราะมีภาระผูกพันในการผ่อนสินค้าหลายเดือนติดต่อกัน โอกาสที่จะตัดสินใจปิดการใช้งานบัตรจึงน้อยลง
  2. ธนาคารได้รับค่าธรรมเนียมจากร้านค้าที่นำเครื่องรูดบัตรไปให้บริการลูกค้าเฉลี่ย 2-3% จากราคาสินค้า แต่ถ้าร้านไหนที่ไม่อยากแบกค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็จะมีการผลักภาระมาที่ลูกค้าด้วยค่าชาร์จบัตรเครดิตจากลูกค้านั่นเอง
  3. หากผู้ถือบัตรเครดิตผ่อนชำระค่าสินค้าเกินระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปีทันที

 

ส่วนร้านค้าได้อะไร ? …ไม่ต้องพูดถึงเพราะเขาได้ประโยชน์จากโปรผ่อน 0 % อยู่แล้ว โปรนี้ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าภายในร้านเร็วขึ้น และร้านค้าก็มียอดขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น

 

ก่อนหนี้ครัวเรือนพุ่งถึงจุดอันตราย

ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 78.7% ต่อจีดีพี แบ่งเป็น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 34% ,หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 33% ,หนี้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 18% ,หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 12% และหนี้บัตรเครดิต 3%

 

โดยสมาคมธนาคารไทยมองว่าโปรโมชันผ่อน 0 % เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น  สร้างหนี้เกินตัว โดยเฉพาะเด็กจบใหม่วัยเริ่มทำงาน  ดังนั้นสิ่งที่สถาบันการเงินทำคือจะร่วมมือกันลดโปรโมชันผ่อน 0 % ให้น้อยลง โดยพุ่งเป้าไปที่โปรโมชันที่กระตุ้นการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อความสุขสำราญ เช่น การเที่ยวก่อนจ่ายทีหลัง และการผ่อนโทรศัพท์มือถือ

 

หนทางที่จะลดการก่อหนี้ภาคครัวเรือนเพื่อไม่ให้พุ่งไปแตะ 84% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่มีความเสี่ยงสร้างผลกระทบค่อนข้างมากนั้น การยกเลิกโปรโมชันผ่อน 0 % เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้คนมีวินัยทางการเงิน รู้จักเก็บออม ลงทุน ไม่ก่อหนี้ แต่ถ้าเป็นหนี้แล้วก็ต้องมีวินัยในการใช้หนี้ด้วย 

Related Stories

amazon anti fatigue mats