×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

บริจาคอย่างไร ถูกหลักภาษีไม่เสียเปล่า

13,664

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ถ้ามองในเรื่องภาษีเงินได้ของไทย บุคคลธรรมดาเหมือนมีกรรมเพราะภาระภาษีก็สูงมาก แถมเงินได้บางประเภทยังหักค่าใช้จ่ายได้น้อย แต่ยังดีที่บุคคลธรรมดามีค่าลดหย่อนที่ช่วยแบ่งเบาภาระภาษีได้ ค่าลดหย่อนที่คนไทยใจบุญมักใช้ ก็คือ เงินบริจาคที่เรารู้กันว่าเงินบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 แบบ คือ

 

  • แบบบริจาค 1 ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค เช่น บริจาคโรงเรียน บริจาคโรงพยาบาล เป็นต้น
  • แบบบริจาค 1 ลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า เช่น บริจาควัด มูลนิธิ ฯลฯ

 

แต่ไม่ใช่ว่า เงินที่เราบริจาคจะลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมดนะ หากบริจาคผิดหลัก เราอาจได้แค่บุญ แต่ไม่ได้ประโยชน์ภาษี หรือได้น้อยกว่าที่ควรได้ก็ได้

 

เราควรต้องวางแผนการบริจาคให้ถูกต้องก่อนบริจาค

 

  • ศึกษากฎหมาย ข้อหารือ คำพิพากษา และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนบริจาค อย่างเช่น เงินบริจาคสถานศึกษาที่บริจาค 1 ลดหย่อนได้ 2 ต้องเป็นการบริจาคสำหรับรายการจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษา จัดหาครู ถ้าไม่ใช่รายการเหล่านี้จะลดหย่อนได้แค่เท่าเงินบริจาค และหากไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา อย่างเช่น ใบเสร็จค่าแป๊ะเจี๊ยะ เอาไปลดหย่อนภาษีไม่ได้เลย
  • จะลดหย่อนภาษีได้ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น จะเป็นเงินสด เงินโอนผ่านพร้อมเพย์หรือเช็คก็ได้ บริจาคเป็นทรัพย์สิน เช่น ซื้ออุปกรณ์การศึกษาให้โรงเรียน หรืออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล เอาไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ รู้อย่างนี้ บริจาคเป็นเงินให้โรงเรียน โรงพยาบาลไปซื้อของที่อยากได้เองดีกว่า
  • หลักฐานที่จะมาใช้ลดหย่อนภาษีต้องเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเราบริจาคเงินให้สถานที่นั้นจริงๆ ทั้งนี้ สรรพากรไม่ได้กำหนดรูปแบบของหลักฐานการรับบริจาคว่าต้องมีหน้าตาอย่างไร ขอแค่มีชื่อผู้รับบริจาค ผู้บริจาค จำนวนเงินบริจาค วัตถุประสงค์การบริจาค วันเดือนปีบริจาค และต้องมีลายมือชื่อผู้รับบริจาค
  • หลักฐานการรับบริจาค ระบุ วันบริจาคปีไหน ก็ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะเงินได้ปีนั้น เอามาลดหย่อนเงินได้คนละปีไม่ได้ ดังนั้นต้องวางแผนดีๆ ไม่ใช่ว่ามารู้ต้องเสียภาษีเยอะตอนจะสิ้นมีนาคม จะรีบบริจาคเยอะยังไง ก็ไม่ช่วยลดภาษีเงินได้ปีที่ผ่านมา
  • บริจาคเยอะยังไง ก็ลดหย่อนได้เต็มที่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ดังนั้น ถ้าอยากบริจาคเยอะๆ ลดหย่อนภาษีเยอะ ก็ลองกระจายปีบริจาคดูนะ
  • ถ้าบริจาคร่วมกันหลายคน ในหลักฐานการรับบริจาคก็ต้องระบุให้ชัดว่าแต่ละคนบริจาคเท่าไหร่ เพื่อแต่ละคนจะได้เอาไปลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่ตนเองบริจาคจริงๆ แต่ถ้าไม่ได้ระบุให้ชัดเจน สรรพากรจะถือว่าแต่ละคนบริจาคเท่าๆกันและต่างคนจะหักลดหย่อนภาษีได้เท่าที่ตนเองบริจาคเท่านั้น และที่สำคัญสิทธิในการลดหย่อนภาษีโอนให้กันไม่ได้ (แม้จะเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนก็โอนสิทธิไม่ได้) อย่างเช่น นาย ก. และ นาย ข. บริจาคร่วมกัน 1,000 บาท แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าใครบริจาคเท่าไหร่ กรณีนี้สรรพากรถือว่าทั้งคู่บริจาคเท่ากัน คือบริจาคคนละ 500 บาท นาย ก. และ นาย ข. ก็สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 500 บาท แต่ถ้า นาย ก. มีเงินได้ แต่นาย ข. ไม่มีเงินได้ นาย ข. ลดหย่อนภาษีเงินบริจาคไม่ได้และไม่สามารถโอนสิทธินี้ให้นาย ก. ได้ สรุปนาย ก. ก็จะลดหย่อนภาษีได้คนเดียว 500 บาท ดังนั้นคนไหนไม่มีเงินได้ ก็ไม่ควรใส่ชื่อในหลักฐานการรับบริจาค นอกจากทำบุญให้สาธารณะแล้ว ยังทำบุญให้เพื่อนอีกด้วย
  • สำหรับคนรักครอบครัวที่ชอบบริจาคในชื่อตนเองและครอบครัว อย่างเช่น “นาย ก. และครอบครัว” สรรพากรอนุญาตให้เอาไปลดหย่อนในชื่อตนเองได้ทั้งก้อนนะ ไม่ต้องเอาจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาหาร

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ รู้ไว้จะช่วยให้เรามีเงินเก็บได้มากขึ้น แถมได้เก็บแต้มบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัวด้วย

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats