3 เรื่องเงิน...ต้องสอนลูก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ความรู้เรื่องเงินควรปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็ก อย่างช้าที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงมัธยมต้นที่เด็กๆ ต้องเริ่มรับผิดชอบหลายอย่าง มีเงินเรื่องอะไรที่พ่อแม่ควรสอนบ้าง เรามารู้ไปพร้อมกัน
สอนคุมค่าใช้จ่าย
เด็กมักใช้เงินแบบไม่คิด การให้เงินใช้เป็นรายวันแม้ช่วยคุมค่าใช้จ่ายได้แต่ยังไม่พอที่จะสร้างวินัย เพราะพอลูกใช้เงินหมดตกเย็นกลับบ้านก็ขอพ่อแม่ใหม่อยู่ดี
ถ้าอยากฝึกวินัยการใช้จ่ายให้ลูก ควรเริ่มจากให้เงินเป็นรายสัปดาห์และสอนว่า จากเดิมเคยให้เงินไปโรงเรียนวันละ 200 บาท ตอนนี้โตแล้วจึงให้คราวเดียว 5 วัน (เฉพาะวันที่ไปโรงเรียน) ครั้งละ 1,000 บาท โดยต้องหัดแบ่งเองว่าจะเอาไปโรงเรียนวันละเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ทั้งสัปดาห์
โดย 1,000 บาท ที่ว่าก็ไม่ควรเป็นแบงก์พันแต่ควรให้เป็นแบงก์ร้อย ลูกจะได้ทยอยหยิบไปโรงเรียนวันละ 2 ใบได้ ไม่ใช่ว่าวันจันทร์หยิบไปหนึ่งพันแล้วใช้หมด
เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็ควรให้เป็นรายเดือน จะได้ฝึกวินัยก่อนรับเงินเดือนจริงตอนทำงานแล้ว
สอนให้มีเป้าหมาย
ถ้าอยากได้ของชิ้นใหญ่ เช่น Notebook ใหม่สักเครื่อง ควรสอนให้เลือกรุ่นและราคาที่เหมาะกับการใช้งานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรุ่นใหม่หรือแพงที่สุดเสมอไป
หากเป้าหมายมีมูลค่าสูงแต่เป็นสิ่งที่เห็นว่าควรสนับสนุน และการเก็บเงินจากค่าขนมยังเป็นไปได้ยาก เราสามารถสร้างวินัยการออมและเป็นกำลังใจให้ลูกได้ เช่น บอกลูกว่า เราจะช่วยสมทบให้เท่ากับเงินที่ลูกเก็บได้ทุกครั้ง หรือหากสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือควรมี เราอาจสมทบทุนมากขึ้นได้ เพื่อฝึกให้ลูกเก็บเงินตามเป้าหมายให้เป็น
สอนให้หาเงิน
สำหรับลูกที่มีคนคอยหาเงินให้ใช้จ่ายอาจยังไม่เห็นค่าของเงินนัก หรือลูกที่มีเป้าหมายการเก็บเงินที่มีมูลค่าสูง การสอนให้ลูกลองทำงานแลกเงินจะช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น
ถ้าลูกยังอยู่ชั้นประถม-มัธยมต้น อาจลองให้ทำงานบ้านเพื่อแลกกับค่าขนมที่มากขึ้น ส่วนลูกที่โตขึ้นและเริ่มดูแลตัวเองได้แล้ว เช่น มัธยมปลาย-มหาวิทยาลัย อาจให้ลองไปสมัครทำงาน part-time โดยหากเป็นงานที่ใช้ทักษะหรือเป็นความชอบของลูกอยู่แล้ว ก็จะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ลูกมี ซึ่งหากไปได้ดีอาจกลายเป็นอาชีพหลักได้ในอนาคต แต่หากไปได้ไม่สุดก็ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อมองหาสิ่งอื่นที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า
ความรู้การเงินเรียนรู้ได้ทุกวัย ยิ่งเรียนรู้ตั้งแต่วัยเรียนยิ่งเป็นการสร้างภูมิต้านทานทางการเงิน ก่อนต้องเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน