×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

คำถาม (การเงิน) เสริมขาเตียง

3,572

 

เรื่องมีอยู่ว่าหนุ่มสาวคู่หนึ่งตัดสินใจแต่งงานกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเรียกสินสอด 1 แสนบาท ทองคำ 1 บาท ผู้ใหญ่ฝ่ายชายโอเค แต่พอถึงวันอันชื่นมื่นจากงานมงคลกลายเป็นงานอัปมงคล เมื่อฝ่ายเจ้าบ่าวยกขันหมากพร้อมสินสอดเงินสดแค่ 50,000 บาท ทองคำ 1 บาท ฝ่ายเจ้าสาวนับแล้วนับอีกก็ไม่ถึงแสนบาท ฝ่ายเจ้าบ่าวบอกว่ามีแค่นี้ ไม่มีเพิ่มอีกแล้ว

 

ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันไปมา สุดท้ายฝ่ายเจ้าบ่าวถอนตัวกลับบ้าน ฝ่ายเจ้าสาวไปแจ้งความ ทั้งคู่เจรจากัน ฝ่ายหญิงเรียกร้องให้ฝ่ายชายช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เพราะหมดไปเป็นแสน

 

สรุป วิวาห์ล่ม

 

ตอนเป็นแฟนกันคงเต็มไปด้วยสีชมพู ช่วยเติมความหวานให้กันและกัน แต่กลับลืมใส่ใจเรื่อง “การเงิน”

มีหลายคู่ที่หลังผ่านวันส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวแล้วพูด “ภาษาเงิน” คนละมุม ถ้าปรับตัวทันก็โอเค แต่ถ้าไม่ ย่อมเกิดความขัดแย้ง ตามด้วยความสงสัย ระแวง

 

“ทำไมไม่บอกกันตั้งแต่แรก”

“ก็ทำไมไม่ถามล่ะ”

“ก็รู้นิสัยเค้านี่ว่าชอบใช้เงินยังงัย”

“ทำไม”

“ทำไม”

 

“เงินทอง” ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความโกรธ โกลาหล

 

มาตัดไฟแต่ต้นลมกันดีกว่าเพื่อให้เกิดการ “พูดจาภาษาเงิน” ตรงกัน ผ่านการตั้งคำถาม

 

1.ชอบใช้จ่ายเงินยังไง?

จะได้รู้ว่าคู่ครองในอนาคตอันใกล้ชอบ “จ่าย” หรือชอบ “เก็บ” ถามกันตรงๆ แบบเปิดใจกันเลยหรือคอยสังเกตจากการใช้จ่ายก็ได้ หรือกระทั่งฟังจากคำบอกเล่าของเจ้าตัว

 

“นี่ตัวเอง เมื่อวานตอนเย็นไปเดินตลาดนัด ได้เสื้อผ้า รองเท้าคู่ใหม่ เย็นนี้ไปกันมั้ย รับรองตัวเองต้องชอบแน่ๆ มีของมาใหม่เยอะเลย”

 

คำพูดนี้ พึ่งได้ยินเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า

คาดเดาได้ว่าคุณแฟนน่าจะเป็นนักช้อปตัวยง ถ้ารู้แบบนี้ก็ควรนั่งพูดคุย ทำความเข้าใจกันก่อนจะถึงวันวิวาห์

 

2.คุณพ่อ คุณแม่ พูดเรื่องเงินยังไงบ้าง?

ต้องใช้ศิลปะในการถาม ถ้าถามกันตรงๆ เดี๋ยวอีกฝ่ายอาจจะมองว่า “เกี่ยวอะไรกับพ่อแม่”

อาจเริ่มจากประโยคบอกเล่า “นี่ตัวเอง ตั้งแต่เค้ามีเงินเดือน คุณพ่อ คุณแม่ มักจะเตือนตลอดเวลาว่าอย่าใช้จนเกินตัว ให้เก็บออมเอาไว้บ้าง มีดีกว่าไม่มี”

 

อีกฝ่ายอยากแชร์เรื่องราวของตัวเองบ้าง “ต่างจากพ่อแม่เค้า ไม่เคยถามเรื่องนี้เลย และเค้าก็ไม่เคยบอกให้รู้ว่าตอนนี้มีเงินทองเท่าไหร่ อะไรยังงัย”

 

อาจเป็นไปได้ว่า เป็นครอบครัวที่ไม่ชอบให้คนอื่นมายุ่มย่ามเรื่องเงินทอง

เมื่อได้คำตอบ ก็ต้องนั่งปรับจูนเข้าหากัน เพราะหลังแต่ง บางคู่จะให้ฝ่ายหญิงดูแลเงิน บางคู่ก็ต่างคนต่างเก็บ บางคู่แบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลาง

 

3.ต้องการเงินไปทำอะไรบ้าง? 

“เค้าอยากมีบ้าน”

“เค้าอยากซื้อรถสักคัน”

 

เมื่อรู้ถึงสิ่งที่ต้องการของอีกฝ่ายก็นั่งปรึกษาหารือกัน เพื่อทำให้เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้บรรลุ ที่สำคัญต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าควรมีบ้านหรือซื้อรถก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้

 

“อ้าว ตัวเองรู้แล้วนี่ว่าเค้าอยากมีบ้าน”

“เค้าเคยบอกแล้วว่าถ้าแต่งงานกันแล้ว ขอซื้อรถก่อน จะได้ขับไปทำงาน”

 

4.มีหนี้เยอะมั้ย?

จะดีมาก ถ้าทั้งคู่เคลียร์หนี้ส่วนตัวให้หมดก่อนวันวิวาห์ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล ผ่อนทีวี ตู้เย็น หรือบางคนกำลังผ่อนคอนโดมิเนียม ก็ควรบอกอีกฝ่ายว่าตอนนี้เหลือหนี้เท่าไหร่

 

การรู้จำนวนหนี้ จะทำให้วางแผนการชำระหนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสม เพราะมีข่าวให้ได้ยินเป็นประจำถึงการทะเลาะเบาะแว้งกันเกี่ยวกับหนี้ก้อนใหญ่ที่ติดตัวมา แทนที่จะได้ช่วยกันเก็บเงินเก็บทอง ต้องมาช่วยรับผิดชอบหนี้อีกหลายปี

 

5.ภาพการเงินตอนนี้เป็นยังไง?

คำถามนี้จะทำให้รู้ถึงข้อจำกัดทางการเงินของอีกฝ่าย เพื่อทำให้สามารถวาดแผนการเงินให้สอดคล้องกับข้อจำกัด เช่น อีกฝ่ายต้องคืนเงิน กยศ. ทุกๆ เดือน เป็นเวลา 4 ปีนับจากนี้ หรือต้องให้เงินพ่อแม่ทุกเดือน

 

เมื่อรู้ภาพการเงินของกันและกัน ย่อมทำให้การวางแผนการเงินเป็นระบบและไม่ต้องมานั่งสงสัยกันว่า เงินหายไปไหนหมด

 

6.เราจะวางแผนการเงินกันยังไง?

ก่อนจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ควรจะไปในทางเดียวกันด้วย ทางออกเห็นจะเป็นนั่งคุย ปรึกษากันว่าจะวางแผนการเงินยังไง

 

แน่นอนว่าเรื่องวางแผนการเงินเป็นเรื่องส่วนตัว แต่การรับรู้ว่าอีกฝ่ายวางแผนอะไรไว้บ้าง ย่อมดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

 

เช่น แต่งงานกันมา 3 ปี ฝ่ายหญิงพึ่งรู้ว่าฝ่ายชายซื้อหุ้นแบงก์ตัวหนึ่งและหุ้นพลังงานตัวหนึ่ง ซึ่งตัวเองก็ลงทุนหุ้นสองตัวนี้เหมือนกัน ที่ตลกไปกว่านั้นทั้งสองก็ซื้อกองทุนกองเดียวกันถึง 3 กอง

 

ไม่ผิดที่จะลงทุนเหมือนๆ กัน แต่ถ้ามองถึงการกระจายความเสี่ยงอาจรู้สึกว่าควรกระจายมากกว่านี้หรือเปล่า เช่น ถ้าสนใจหุ้นแบงก์อยู่ อีกฝ่ายอาจจะโยกไปซื้อหุ้นแบงก์อีกตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่ต่างกัน ให้เงินปันผลใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกันอาจจะโยกไปลงกองทุนที่ใกล้เคียงกันก็ได้ หรือไปลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายเหมือนกัน แต่คนละ บลจ. เป็นต้น

 

คำถามเหล่านี้ ลองปรึกษาหารือกัน และเมื่อรู้คำตอบ ความต้องการด้านการเงินก็ค่อยๆ ปรับเข้าหากัน ได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็ว่ากันไป

 

การปรึกษากันในขณะโลกกำลังเป็นสีชมพูจะทำได้ง่าย ทั้งสองจะโอนอ่อนผ่อนตาม ทำให้การปรับเข้าหากันได้ง่ายและรวดเร็ว

 

อย่าลืมว่า คำถามเหล่านี้เป็นเพียงไกด์นำทางของการใช้ชีวิตร่วมกัน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อสร้างความสมดุลให้ชีวิตคู่

 

และถ้าให้ดี อย่าให้ “เงินทอง” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต  แต่ให้ “เงินทอง” เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการดำรงชีวิตก็พอ

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats