×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

RMF vs ประกันบำนาญ

19,010

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

อยากทั้งประหยัดภาษีและเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ แต่มีเงินจำกัด แล้วจะเลือกทางเลือกไหนดี…คงต้องเริ่มจากเข้าใจความแตกต่างกันก่อน

 

วินัยใช้จ่ายหลังเกษียณ

  + ประกันบำนาญ ถือเป็นตัวช่วยสร้างวินัยไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว เพราะเงินที่ได้คืนเป็นงวดๆ เช่น ปีละ 1 ครั้ง ไปจนถึงอายุไม่น้อยกว่า 85 ปี เสมือนเป็นการกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายในละปีไว้ เพราะถ้าใช้จ่ายมากเกินไปตั้งแต่ช่วงต้นปี (ปีกรมธรรม์) เงินที่ได้มาก็อาจไม่พอใช้ในช่วงท้ายปีได้

 

  – RMF เมื่อเกษียณและลงทุนจนครบเงื่อนไขแล้ว แม้ว่าสามารถขายคืนเพื่อนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ทั้งก้อนทันที แต่คนส่วนใหญ่มักใช้เงินก้อนนี้หมดหรือเกือบหมดไปในช่วงหลังเกษียณเพียงไม่กี่ปี เพราะไม่มีการควบคุมหรือวางแผนการใช้จ่ายได้ดีพอ

 

ผลตอบแทนและความเสี่ยง

  ประกันบำนาญ มีผลตอบแทนในลักษณะเงินคืนที่แน่นอนตามสัญญา จึงมั่นใจได้ว่า เงินที่ทยอยเก็บในระหว่างที่ทำงานจะถูกนำมาใช้จ่ายหลังเกษียณได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเมื่อคำนวณเป็นอัตราผลตอบแทนต่อปีหรือที่เรียกว่า IRR แล้วจะค่อนข้างต่ำก็ตาม  

 

  + RMF มีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือก ตั้งแต่กองทุนตราสารหนี้ที่แม้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ แต่ความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะขาดทุนก็ต่ำเหมือนกัน ไปจนถึงกองทุนหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้หรือ IRR ของประกันหลายเท่าตัว แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน

 

ความยืดหยุ่นในการเก็บเงิน

  ประกันบำนาญ เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เช่น เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในจำนวนที่เท่ากันทุกปี ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ไม่สามารถลดค่าเบี้ยได้ แม้ว่าบางปีอาจมีเงินไม่พอจ่ายเบี้ยก็ตาม หรือหากขอหยุดชำระเบี้ยก็จะถูกลดผลประโยชน์จนอาจไม่คุ้มค่า

 

  + RMF แม้ว่าต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีจนถึงอย่างน้อยอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (และต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม) แต่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละปีได้ โดยต้องไม่น้อยกว่าปีละ 5,000 บาท และไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเก็บเงินแต่ละปี หรือสิทธิที่ต้องการใช้เพื่อลดหย่อนภาษี

 

สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด

  #ประกันบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 15%ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และสูงสุด 200,000 บาท

  #RMF ลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่นำมาลงทุนในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 15%ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และสูงสุด 500,000 บาท

 

  โดยในแต่ละปี เบี้ยประกันบำนาญ + เงินลงทุนกองทุน RMF + เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสม กบข. + เงินสะสม กอช.รวมกันแล้วใช้สิทธิได้ไม่เกิน 500,000 บาท

เก็บเงินสายติสท์ ไม่ชอบผูกมัด ต้องกองทุน RMF แต่ถ้าอยากเป๊ะ ชีวิตมีแบบแผน ต้องประกันบำนาญ

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats