RMF ใครควรซื้อ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
แม้ RMF เป็นทางเลือกลดหย่อนภาษีที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า LTF และประกันชีวิต แต่หากเลือกใช้ข้อดีได้อย่างเหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนไม่น้อย ทว่าใครบ้าง? ที่ควรซื้อ RMF
คนที่ซื้อ LTF เต็มสิทธิแล้ว
และยังมีเงินที่สามารถลงทุนได้เพิ่ม RMF ถือเป็นอีกทางเลือกเพื่อลดหย่อนภาษี โดยสามารถเลือก RMF ที่มีการลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน LTF หรือ RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงต่ำหรือสูงกว่า LTF ก็ได้
คนที่อายุ 51 ปีขึ้นไป
เงื่อนไขหนึ่งของ RMF คือ ต้องลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องทุกปีถึงอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม เช่น ลงทุนครั้งแรก 1 ต.ค. ในปีที่อายุ 51 ปี ต้องลงทุนอีกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในปีที่อายุ 52–55 ปี (รวมเป็นอย่างน้อย 5 ครั้ง) หากต้องการใช้เงินก็สามารถขายคืน RMF ได้ทั้งหมดที่เคยซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยลงทุนที่ซื้อปีใดก็ตาม โดยขายคืนได้ตั้งแต่ 2 ต.ค. ในปีที่อายุ 56 ปีเป็นต้นไป (ครบเงื่อนไข 5 ปีเต็ม และอายุ 55 ปีบริบูรณ์)
หากเทียบกับการซื้อ LTF ที่มีเงื่อนไขถือครองหน่วยลงทุน 7 ปีปฏิทินแล้ว ถือว่า RMF ใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าเพราะสามารถขายคืน RMF ได้ทั้งหมดตอนอายุ 56 ปี ในขณะที่ LTF ที่ซื้อในปีที่อายุ 51 ปี ต้องรอขายคืนต้นปีที่มีอายุ 57 ปี ส่วน LTF ที่ซื้อในปีที่อายุ 55 ปี ต้องรอขายคืนต้นปีที่มีอายุ 61 ปี
คนที่จัดพอร์ตเพื่อเป้าหมายเกษียณ
RMF มีนโยบายหลากหลาย ทั้งลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ทองคำ ฯลฯ จึงสามารถเลือกใช้ RMF เพื่อลงทุนเป็นพอร์ตตามสัดส่วนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ อีกทั้งสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของ RMF ภายใน บลจ. เดียวกันได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นการปรับสัดส่วนพอร์ตให้มีความเสี่ยงลดลงตามอายุที่มากขึ้น หรือระยะเวลาการใช้เงินที่ใกล้เข้ามาได้
อย่างไรก็ตาม แม้กองทุน RMF มีประโยชน์หลายด้าน แต่มีเงื่อนไขที่ควรทำความเข้าใจด้วย เช่น (1) ไม่ควรซื้อเกินสิทธิเพราะส่วนที่เกินสิทธินอกจากลดหย่อนภาษีไม่ได้แล้วกำไรที่เกิดขึ้นยังต้องนำไปยื่นภาษีด้วย (2) ในแต่ละปีซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่เสียภาษี แต่เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท และ (3) ต้องลงทุนอย่างน้อยปีละ 5,000 บาท ต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น