×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

“SME 4.O” ไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน ก็ถูกลืม!

3,360

 

“ต้องปรับ ต้องเปลี่ยน ไม่งั้นธุรกิจคุณหายไปแน่!”

นี่คือหนึ่งในเนื้อหาของบทสนทนาระหว่างรอขึ้นเวทีของผู้ร่วมเสวนา “พลิกโฉมธุรกิจสู่ยุค SME 4.0 สำหรับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์” ที่ KBANK จัดขึ้นเมื่อปลายเดือน พ.ค. 60 ที่ผ่านมา

 

หลังจากถ้อยคำนั้นจบลง ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ไม่ต่างจากหลายเวทีที่ได้ร่วมพูดคุยกับ SME น้อยใหญ่ หนึ่งคำพูดที่มักได้ยินเสมอก็คือ “ทำธุรกิจสมัยนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อน”

 

แต่แน่นอนว่าคนที่ถูกเลือกให้มาแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ ย่อมสามารถก้าวข้ามผ่านมรสุมหลายลูกมาได้ในวิธีที่แตกต่างกัน จึงถูกชวนให้มาบอกเล่าเรื่องราวที่ SME ผู้น้องจะต้องเผชิญ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน

 

WealthMeUp ขอนำบทสรุปของแง่คิดจากบุคคลเหล่านี้มาแบ่งปัน…

 

“มองต่างมุม ปรับธุรกิจพลิกให้เป็น 4.0”

  • อริยะ ทวนทอง อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
  • กิตติ สุขุตมตันติ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท.
  • สมบูรณ์ พิทยรังสฤษฎ์ ประธานสถาบันวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท.
  • ดร.ทรงพล มั่นคงสุจริต ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สวทช.

 

“สุดยอดวิธีคิด ปรับโฉมธุรกิจให้รุ่ง”

  • ชวิภา พงษ์ธนโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัชระรับเบอร์ จำกัด
  • ต่อศักดิ์ เปี่ยมสัมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามโมลด์ แอนด์ พาร์ท จำกัด
  • ประสาร บุนฑารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี.ไอ.เอฟ.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

“รู้ตัวเอง”

 

เริ่มต้นที่ปัญหาของภาคการผลิตในปัจจุบันซึ่งมี 4 ด้าน คือ การจัดการวางแผนการผลิต, ของเสียจากการผลิต, จัดการวางผังการผลิต และการจัดการสินค้าคงคลัง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำในวันนี้ก็คือ ต้องรู้ว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น ใช่เทรนด์ของอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าไม่…ก็อยู่อย่างเดิมไม่ได้ หากอยู่อย่างเดิมก็ไม่อาจนำพาธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจนั้นสั้นๆ ง่ายๆ คือ “ผลิตของที่ขายได้ ในเวลาที่ (ลูกค้า) ต้องการ”

 

“ปรับเปลี่ยน เพื่ออยู่รอด”

 

บนเวทีนี้พูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” ว่าหมายถึง 3P คือการปรับเปลี่ยน กระบวนการ (Process) สินค้า (Product) และบุคลากร (People) ซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุน และต้องพัฒนาทักษะแรงงาน โดยในปัจจุบันนักธุรกิจสามารถแก้ปัญหา และปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ (อย่างน้อยก็มี Google ในการค้นหาข้อมูล)

 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมต่างๆ เพื่อเรียนรู้แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมที่ตนกำลังดำเนินการอยู่ หลายท่านยังให้มุมมองที่น่าสนใจด้วยว่า “เจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อย มักมีข้ออ้าง ไม่เข้าอบรม ไม่เรียนรู้เพิ่มเติม ไม่คบค้าสมาคมกับใคร ด้วยเหตุผลที่ว่าเอาเวลาไปทำงานดีกว่า เพราะแค่งานที่มีก็ทำไม่ทันแล้ว” ทั้งที่ในความเป็นจริง “การไม่หยุดเรียนรู้” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้แข่งขันได้ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำ R&D (วิจัยและพัฒนา) ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และบริการ

 

“ลงมือทำ สำคัญที่สุด”

 

นานาทัศนะจากนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตที่ร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ ทั้งจากที่เคยมีหนี้ 8 หลัก จัดการการเงินใหม่ ทำบัญชีให้ถูกต้อง เพื่อประหยัดภาษี กระทั่งล้างหนี้ได้ในเวลาไม่นาน หรือการค่อยๆ โตอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือการปรับทัพองค์กรครั้งใหญ่ ต่างให้น้ำหนักกับสิ่งเดียวกันคือ “ต้องลงมือทำ” เพราะหากรู้แล้วว่าอยู่อย่างเดิมไม่ได้ จงตั้งเป้าหมายการธุรกิจให้ชัด เรียนรู้ผ่านรูปแบบต่างๆ (อบรม สัมนา เข้าชมรม สอบถามจากผู้รู้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ) นำมาปรับกับวัฒนธรรม และลักษณะขององค์กรตนเองให้เหมาะสม และลงมือทำ!

 

“เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ”

 

แม้เวทีนี้จะมีกลุ่มผู้ฟังที่ชัดเจนคือภาคการผลิต หากแต่คำแนะนำจากผู้คร่ำหวอดในภาคธุรกิจทุกท่านก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์เงินเดือน อาชีพอิสระ และนักธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะ 2 แนวทางนี้

 

1. QCD (Quality, Cost, Delivery)

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ “คุณภาพ” (Quality) สินค้าและบริการที่นำเสนอให้กับลูกค้าจึงต้องให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากที่สุด นอกจากนี้การบริหารจัดการ “ต้นทุน” (Cost) ให้มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้องค์กรมีกำไรเพื่อใช้ในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ และสุดท้ายในภาคการผลิตสิ่งที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่าคุณภาพก็คือ “การจัดส่ง” (Delivery) ให้ตรงตามเวลาที่ตกลงไว้กับลูกค้า

 

2. พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในแง่ของการต่อยอด เติบใหญ่ และเติมเต็ม ปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลยคือการ “พัฒนา” อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การใช้หลัก TPS (Toyota Production System: กำจัดของเสียเพื่อเพิ่มประสิทธิผล), พัฒนาคนในองค์กร, ยกระดับมาตรฐาน, ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งขอคำปรึกษา หรือความช่วยเหลือจากผู้มีความสามารถ มีประสบการณ์

 

 

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats