“คนมีคู่” จ่ายภาษียังไงดีสุด?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ใกล้ปลายปีก็ต้องคุยเรื่องภาษี เรื่องภาษีที่ใกล้ตัวเรื่องหนึ่งก็คือ ภาษีสามีภรรยาจะยื่นยังไงดี
สามีภรรยาสามารถเลือกยื่นภาษีเงินได้หลักๆ 5 แบบ คือ
- สามีและภรรยาต่างคนต่างยื่นเงินได้ของตนเอง
- สามีเอาเงินได้ทุกรายการไปยื่นภาษีในนามภรรยา
- ภรรยาเอาเงินได้ทุกรายการไปยื่นภาษีในนามสามี
- สามีเอาเงินได้ทุกรายการไปยื่นภาษีในนามภรรยา ยกเว้นเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1)
- ภรรยาเอาเงินได้ทุกรายการไปยื่นภาษีในนามสามี ยกเว้นเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1)
การแยกยื่น 100% ตามวิธีที่ 1 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการยื่นรวมมีข้อเสียเปรียบกว่าการแยกยื่น ดังนี้
- คู่สมรสคนที่ไปยื่นรวม ตัวอย่างเช่น ภรรยายื่นรวมในนามสามี ภรรยาจะเสียสิทธิยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรก แต่ถ้าแยกยื่นจะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรกทั้งคู่
- กรณียื่นรวม เงินได้ของคู่สมรสคนที่ไปยื่นรวมจะเสียภาษีในฐานสูงสุดต่อจากคนหลัก เช่น ภรรยายื่นรวมในนามสามี ฐานภาษีสูงสุดของสามีอยู่ที่ 30% เงินได้ของภริยาก็จะนับต่อยอดเงินได้สามีเสียภาษีในฐาน 30% เช่นกัน
- การยื่นรวม และการแยกยื่นเฉพาะเงินได้มาตรา 40(1) ถ้ามีภาษีค้างชำระ ทั้งสามีและภรรยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น และกรมสรรพากรสามารถยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของทั้งสามีภรรยาได้ ส่วนการแยกยื่น 100% การรับผิดกรณีมีภาษีค้างชำระเป็นของใครของมัน
การจัดสรรเงินได้ระหว่างสามีภรรยาก็เป็นวิธีการวางแผนภาษีที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะหากเงินได้เป็นสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งทั้งหมด มีข้อเสียเปรียบกว่าการกระจายให้ทั้งสามีและภรรยามีเงินได้ ดังนี้
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า เมื่อเงินได้รวมอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง ฐานเงินได้สุทธิจะตกอยู่ในฐานภาษีที่สูงกว่าการแยกยื่น
- สามีหรือภรรยาที่ไม่มีเงินได้เลยจะเสียประโยชน์ของค่าลดหย่อนบางประการ เช่น
- ผู้ที่ไม่มีเงินได้จะได้รับลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเพียง 10,000 บาทแทนที่จะเป็น 100,000 บาท
- สามีหรือภรรยาฝ่ายที่มีเงินได้เท่านั้นที่ซื้อ RMF หรือ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ ผู้ที่ไม่มีเงินได้ซื้อ RMF หรือ LTF ไม่ได้
- การหักลดหย่อนบุตร สามีหรือภรรยาฝ่ายที่มีเงินได้เท่านั้นที่หักลดหย่อนบุตรได้ ผู้ที่ไม่มีเงินได้หักลดหย่อนบุตรไม่ได้
- การหักหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน ถ้าสามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว แม้ต่างคนต่างกู้ สามีหรือภรรยาฝ่ายที่มีเงินได้เท่านั้นสามารถหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านในส่วนของตนเองได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
สรุปหลักการวางแผนภาษีสามีภรรยาง่ายๆ คือ
- แยกยื่น 100% ดีที่สุด
- กระจายเงินได้ให้ทั้งสามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่
- กรณีกู้ยืมซื้อบ้าน ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกิน 100,000 บาท ต่างคนต่างกู้จะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่เกิน 100,000 บาท ให้สามีหรือภรรยาผู้ที่มีเงินได้ในฐานภาษีที่สูงกว่าเป็นผู้กู้จะได้ลดหย่อนภาษีมากกว่า
ที่สำคัญคือต้องวางแผนตั้งแต่ต้นปี เพื่อจะได้จัดสรรเงินได้ได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่ว่ารอปลายปี ค่อยมาวางแผน อย่างนี้ไม่มีประโยชน์