บริหารมรดกดี ต้องมี 4 ถูก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“มรดก” ทำให้พี่น้องที่รักกันแตกแยกกันมานักต่อนักแล้ว ไม่อยากสร้างปมขัดแย้งให้กับคนข้างหลังก็ต้องวางแผนจัดการมรดกให้ดี
ถ้าพลาด…ไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ เพราะได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว
การวางแผนมรดกคือการวางแผนการเงินที่ต้องรอบคอบแบบสุดๆ และต้องถูกต้องครบถ้วนทางกฎหมายด้วย ที่สำคัญต้องตรงเป้าหมาย 4 ถูก คือ ถูกคน ถูกเงิน ถูกเวลา ถูกต้นทุน
ถูกคน
คือ จะให้ใคร คนนั้นต้องได้ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว มรดกของเจ้ามรดกจะตกทอดไปที่ทายาท ซึ่งตามกฎหมายจะแบ่งเป็น
- “ทายาทโดยธรรม” และสิทธิรับมรดกของทายาทโดยธรรม เรียกว่า “สิทธิโดยธรรม” คือ ทายาทโดยสายเลือด แบ่งเป็น 6 ลำดับ ลำดับบนจะได้มรดกก่อน ถ้าลำดับบนไม่มี ลำดับถัดไปถึงได้มรดก คือ
- ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
- “ผู้รับพินัยกรรม” และสิทธิรับมรดกของผู้รับพินัยกรรม เรียกว่า “สิทธิตามพินัยกรรม” ผู้รับพินัยกรรมจะมีสิทธิในมรดกเหนือกว่าทายาทโดยธรรม ถ้าพินัยกรรมบอกจะยกให้ใคร ต่อให้ยังมีทายาทโดยธรรมอยู่ ทรัพย์มรดกก็จะอยู่กับคนนั้น
แต่ข้อควรระวังก็คือ ยังมีคนที่มีสิทธิเหนือผู้รับพินัยกรรม คือ เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก แปลว่า ถ้าเจ้ามรดกมีหนี้อยู่ เจ้าหนี้จะยึดเอาทรัพย์มรดกไปเหลือเท่าไหร่ ทายาทค่อยได้ แต่ถ้าเจ้ามรดกมีหนี้เกินกว่าทรัพย์ ทายาทไม่ต้องตกใจนะว่าจะต้องมารับภาระห
นี้ต่อจากเจ้ามรดก เพราะกฎหมายระบุไว้ แม้ทายาทจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก แต่ก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
ถูกเงิน
คือ อยากให้ใครได้เท่าไหร่ คนนั้นต้องได้เท่านั้น อย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะทิ้งมรดกให้ลูก 10 ล้านบาท แปลว่า เราจะต้องวางแผนวันนี้เลยว่า จะเตรียมเงินอย่างไรเพื่อว่าเมื่อถึงวันที่เราเสียชีวิต ลูกจะได้เงิน 10 ล้านบาท
หลายคนมองเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยง ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ แถมเรายังไม่สามารถการันตีอายุเราได้ จึงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสร้าง 10 ล้านบาทให้ลูกได้ หลายคนจึงต้องมีการวางแผนมรดกด้วยประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นใจอีกส่วนหนึ่ง
ถูกเวลา
คือ ทายาทต้องได้รับทรัพย์มรดกโดยเร็วที่สุด เพราะการที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตเปรียบเสมือนเครื่องจักรหารายได้หยุดทำงาน แต่ค่าใช้จ่ายของครอบครัวยังไม่หยุด ยังวิ่งต่อ ดังนั้นยิ่งทายาทไม่สามารถนำทรัพย์มรดกมาใช้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ทายาทต้องแบกรับมากขึ้นเท่านั้น
ถูกต้นทุน
คือ ทรัพย์มรดกที่ส่งให้ ทายาทไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือภาษีใดๆทั้งสิ้น หรือถ้าจะต้องเสียก็เสียให้น้อยที่สุด เรื่องนี้ในประเทศไทย คือ ภาษีมรดก ที่มีการวางแผนภาษีมรดกหลากหลายวิธี เพื่อเราจะได้บริหารภาษีให้ทายาทของเราได้รับทรัพย์มรดกมากที่สุด