รู้สิทธิเรียกสินไหมทดแทน “ประกันรถยนต์”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เกือบ 100% ของคนมีรถจะซื้อประกันรถยนต์อยู่แล้ว นอกเหนือจากประกันพ.ร.บ. ภาคบังคับ ที่ต้องซื้อ เพราะถ้าไม่มีก็ต่อทะเบียนไม่ได้เท่ากับว่ารถส่วนใหญ่จะมีประกัน 2 ประเภทคุ้มครองอยู่
แล้วแบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุ จะเรียกร้องค่าเสียหายจากประกันอย่างไรดี มาดูกันว่า
ขั้นตอนการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือ “ค่าสินไหมทดแทน” จากบริษัทประกันภัย เป็นอย่างไร
ขั้นที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมจากประกัน พ.ร.บ. ก่อน (ประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ คือ ประกันภาคบังคับที่รถทุกคันต้องทำเพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคล (ไม่คุ้มครองทรัพย์สินใดๆทั้งสิ้น) ที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่กระทำความผิดหรือไม่
กฎหมายจะให้ความคุ้มครองต่อตัวคู่กรณีและผู้เอาประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบของเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด
โดยมีวงเงินคุ้มครอง ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อคน
- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 300,000 บาท ต่อคน
- เงินชดเชยรายวัน (ผู้ป่วยใน) ไม่เกิน 200 บาท ต่อวัน (ระยะเวลารวมไม่เกิน 20 วัน)
- วงเงินความคุ้มครองต่อครั้ง ไม่เกิน 5,000,000 บาท
ขั้นที่ 2 ใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายกับประกันภัยภาคสมัครใจ (ประกันภัยทุกประเภท) ความคุ้มครองของประกันภัยภาคสมัครใจ ประกอบด้วย
- ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก ถ้าผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยคุ้มครองทั้งความรับผิดต่อความบาดเจ็บ เสียชีวิต
บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้จะรวมทั้งบุคคลที่อยู่ภายนอกรถยนต์คันเอาประกันภัย และบุคคลภายนอกที่โดยสารอยู่ในหรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย
โดยจะคุ้มครองเฉพาะจำนวนเงินค่าเสียหายส่วนที่เกินกว่าจำนวนเงินสูงสุดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่จะไม่คุ้มครองผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยในขณะเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งคู่สมรส บิดา มารดา บุตร ลูกจ้างในขณะปฏิบัติงานของผู้ขับขี่ เพราะไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก
- อุบัติเหตุส่วนบุคคล คุ้มครองความบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารรถยนต์คันเอาประกันภัย หากความบาดเจ็บทำให้บุคคลนั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร หรือทุพพลภาพชั่วคราว โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้
- ค่ารักษาพยาบาล คุ้มครองความบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของบุคคลที่อยู่ในรถยนต์คันเอาประกันภัย หากความบาดเจ็บทำให้บุคคลนั้นต้องรับการรักษาพยาบาล บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่าโรงพยาบาล ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้
ปัจจุบันพบปัญหาของการทำประกัน พ.ร.บ. กับประกันภาคสมัครใจคนละบริษัท เนื่องจากเวลาจ่ายค่าสินไหมต้องให้บริษัทประกันที่ออกประกัน พ.ร.บ.จ่ายก่อน หลังจากนั้นบริษัทที่ออกประกันภาคสมัครใจจึงจะจ่ายสินไหมได้ ทำให้การรับเงินล่าช้า ซึ่งถ้าทำประกัน พ.ร.บ. กับประกันภาคสมัครใจบริษัทเดียวกันจะส่งผลให้เดินเรื่องสะดวกและต่อเนื่อง เพราะบริษัททราบเรื่องมาตั้งแต่ต้น ไม่ต้องเล่าเรื่องซ้ำๆ หรือยื่นเอกสารหลายรอบ ทำให้เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยได้ง่ายกว่า เร็วกว่าเพราะเคลมแค่บริษัทเดียว
ข้อควรระลึกถึงเสมอ คือ ระหว่างการตกลงเจรจาค่าเสียหาย หากมีข้อความที่ระบุว่า “ผู้รับสัญญาตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่ง และทางอาญาต่อผู้ให้สัญญาและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆอีกต่อไป โดยให้ถือว่ามูลละเมิดดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว” นั้น ผู้เสียหายห้ามลงชื่อยินยอมในเอกสารดังกล่าวโดยเด็ดขาด