รู้ทันเรื่อง “ทวงหนี้”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เมื่อเป็นหนี้ ก็ย่อมมีการทวงหนี้ การรู้กฎหมายทวงหนี้ไว้ก่อนอย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ไม่ให้เสียเปรียบ
กฎหมายเกี่ยวกับการทวงหนี้ล่าสุด คือ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 มีรายละเอียดที่ไม่แค่ลูกหนี้ที่ควรทราบ เจ้าหนี้ก็ควรรู้เช่นกัน
อย่างเช่น ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ทวงหนี้แบบไหนเข้าข่ายคุกคามหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้ และลูกหนี้ควรปฏิบัติอย่างไร หากได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทวงหนี้ เป็นต้น
ข้อกฎหมายเจ้าหนี้ควรรู้
- “ผู้ทวงถามหนี้” คือ เจ้าหนี้ ผู้ให้กู้เงิน ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ อาทิ บริษัทรับทวงหนี้
- “ธุรกิจทวงถามหนี้” คือ ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างทวงหนี้ ซึ่งต้องได้รับการจดทะเบียนทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน กรณีผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความ ให้จดทะเบียนกับสภาทนายความ ผู้ฝ่าฝืนไม่ไปจดทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ประกอบธุรกิจรับทวงหนี้ หรือไปช่วยคนอื่นทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเอง เว้นแต่เป็นหนี้ของสามีภรรยา พ่อแม่ หรือลูก ให้สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ระบุให้ไปทวงถาม โดยมีข้อปฏิบัติซึ่งหากใครฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท คือ
-
- ผู้ทวงหนี้ต้องแสดงตัว แจ้งชื่อ-สกุล พร้อมแสดงเจตนาว่าต้องการถามหาข้อมูลเพื่อติดต่อลูกหนี้
- ผู้ทวงหนี้ห้ามเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ยกเว้นผู้ที่ได้ติดต่อนั้นเป็นสามี ภรรยา พ่อ-แม่ หรือลูกของลูกหนี้ โดยให้บอกเล่าเท่าที่จำเป็น
- ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย
- ห้ามหลอกลวงหรือทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลของลูกหนี้
5.การทวงถามหนี้ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
-
- ติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ติดต่อที่ให้ไว้
- ติดต่อในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการดำเนินการ และหากยังฝ่าฝืนซ้ำจะถูกโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม
- กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทวงหนี้ต้องแสดงหลักฐานด้วยว่าตนเองได้รับมอบหมายมา
ข้อกฎหมายที่ลูกหนี้ควรรู้
ในอดีตที่ผ่านมา คนที่เป็นลูกหนี้มักจะเจอการทวงหนี้โหด ไม่ว่าจะทวงแบบไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติ ทวงไปถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัด หรือทวงโดยฝากคำพูดกับผู้รับโทรศัพท์เวลาลูกหนี้ไม่อยู่ที่ทำงาน หรือทำให้ลูกหนี้อับอายโดยการส่งแฟกซ์เข้าที่ทำงานประจานให้เพื่อนๆ ที่ทำงานเห็น
แถมมีบางครั้งอาศัยความไม่รู้กฎหมายของลูกหนี้ มีการทำจดหมายให้ลูกหนี้เข้าใจว่าเป็นคำสั่งศาล และขู่ว่าจะโดนอายัดเงินเดือน หรือจะถูกดำเนินคดีอย่างร้ายแรงภายใน 3 วัน 7 วัน
กฎหมายนี้ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ด้วยการห้ามผู้ทวงหนี้ปฏิบัติดังนี้
- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- เปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์ หรือโทรสาร โดยมีข้อความแสดงการทวงหนี้ชัดเจน ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
รู้ขอบเขตการทวงหนี้แล้ว ลูกหนี้หลายคนน่าจะสบายใจขึ้น แต่จะสบายใจกว่าแน่ๆ ถ้าไม่เป็นหนี้