5 สิ่งที่ต้องเช็ก วันขึ้นปีใหม่
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ก้าวสู่ปีใหม่ย่อมมีหลายสิ่งเปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือสถานะการเงินของตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเช็กอย่างน้อยทุกปี เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานะที่เปลี่ยนไป โดยมีอย่างน้อย 5 สิ่งที่ต้องเช็ก ได้แก่
เช็กเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเงินเดือนเพิ่มโดยไลฟ์สไตล์ยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะอาหารการกินและการเดินทางไปทำงาน ก็ควรมีเงินเหลือในแต่ละเดือนมากขึ้น
เมื่อมีเงินเหลือ ถ้าไม่นำไปเก็บหรือลงทุนให้เงินงอกเงยขึ้น ก็นำไปจ่ายหนี้ที่มีอยู่เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง ไม่ว่าเลือกทางไหน ย่อมทำให้เรามีเงินมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
เช็กสัญญากู้บ้าน
หนี้บ้านเป็นหนี้ระยะยาว 20–30 ปี จนหลายคนลืมไปแล้วว่าหนี้บ้านที่มีอยู่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าไร โดยทั่วไปหนี้บ้านมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเฉพาะ 1–3 ปีแรก หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามสัญญาเงินกู้
ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจน คือ การรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ซึ่งสัญญาโดยทั่วไปมักระบุเงื่อนไขค่าปรับไว้หากรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่นภายใน 3–5 ปีแรก ดังนั้นการเช็กเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้เพื่อดูว่าสามารถรีไฟแนนซ์ได้แล้วหรือยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
เช็กเงินเก็บที่สำรองได้
ทุกปีที่เราเติบโตขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายก็โตตามไปด้วย เงินที่เก็บไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินก็เช่นกัน โดยปกติแล้วเราควรมีเงินเก็บส่วนนี้ไว้ในจำนวนที่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 3–6 เดือน ในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่ขายคืนได้ทุกวันทำการและสภาพคล่องสูง (T+1) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เงินส่วนนี้ควรเพิ่มขึ้นทุกปีตามภาระที่เพิ่มขึ้น
เช็กประกันที่ถืออยู่
เมื่อภาระเพิ่มอีกสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ การเช็กว่าทุนประกันชีวิตที่มีอยู่เพียงพอให้คนข้างหลังไว้ใช้จ่ายหรือไม่เมื่อเราไม่มีโอกาสอยู่ดูแลพวกเขาแล้ว หากไม่เพียงพอประกันชีวิตแบบตลอดชีพและแบบชั่วระยะเวลาเป็นทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์นี้ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเช็ก คือ ความคุ้มครองสุขภาพที่มีอยู่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่เพียงอาจต้องเลือกซื้อประกันสุขภาพเพิ่ม หรือเตรียมเงินเก็บให้มากขึ้นด้วย
เช็กเงินลงทุน
ทุกทางเลือกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง ส่งผลให้สัดส่วนของเงินลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น เงินลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้น กองทุนทอง หุ้นสามัญ ฯลฯ มีการเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเงินลงทุนส่วนใหญ่ เราก็ควรทยอยสับเปลี่ยนเงินลงทุนไปทางเลือกอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น กองทุนตราสารหนี้ เพื่อคงสัดส่วนเงินทุนโดยรวมไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป เป็นต้น
ปีใหม่ถือเป็นฤกษ์ดีในการเช็กและเริ่มต้นอะไรหลายอย่างเพื่อให้สถานภาพทางการเงินมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่เป็นเหตุให้เราต้องกลับมาเช็กสิ่งเหล่านี้ด้วย เช่น เปลี่ยนงานใหม่ มีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น