ทางเลือกเก็บเงินแบบไหน ใช่กับคุณ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
อยากเก็บเงิน นอกจากเก็บให้ได้ 10%-20%ของรายได้ทุกเดือนแล้ว ยังควรเก็บในเครื่องมือที่เหมาะสมด้วย ส่วนใครเหมาะกับเครื่องมือแบบไหน เราไปดูกัน
มือใหม่หัดเก็บ
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ค่าใช้จ่ายยังไม่แน่นอน บางเดือนเหลือบางเดือนขาด แนะนำเริ่มต้นเก็บเงินด้วย “เงินฝาก e-saving” ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป 2-6 เท่า แต่ฝากถอนได้ใกล้เคียงกัน
หากเดือนไหนเงินเหลือ แค่โอนเงินจากบัญชีหลักไปเก็บในบัญชี e-Savings ด้วย Mobile Banking แต่หากเดือนไหนเงินเดือนไม่พอใช้ ค่อยดึงเงินจาก e-Savings มาชดเชย
รู้ตัวว่าเก็บไม่อยู่
สำหรับคนที่ทำงานมาระยะหนึ่ง เริ่มมีเงินเหลือสม่ำเสมอทุกเดือน หรือเริ่มรู้ตัวว่าจริงๆ ที่ไม่มีเงินเหลือเก็บก็เพราะนิสัยใช้จ่ายเกินตัว แนะนำให้เก็บเงินด้วย “เงินฝากประจำปลอดภาษี” ที่ดอกเบี้ยสูงและไม่ถูกหักภาษี เพียงฝากเงินจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน เป็นเวลา 24 เดือนขึ้นไป (ขึ้นกับเงื่อนไขแต่ละธนาคาร)
เพื่อเป็นการสร้างเงื่อนไขเก็บเงินให้ตัวเอง เพราะหากไม่ฝากสม่ำเสมอตามเงื่อนไขหรือถอนเงินก่อนกำหนด แม้เงินต้นยังอยู่ครบแต่อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ ส่งผลให้หากไม่จำเป็นจริงๆ เราจะยังพยายามฝากให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิดอกเบี้ยสูง
เก็บแบบมีห่วง
สำหรับคนที่มีห่วงไม่ว่าจะลูกเล็กหรือพ่อแม่สูงอายุที่ต้องเลี้ยงดู แค่การเก็บเงินอาจยังไม่เพียงพอ แนะนำให้เก็บเงินด้วย “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” ที่มีระยะเวลาชำระเบี้ยและอายุสัญญายาวๆ
ที่นอกจากเป็นการสะสมเงินเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินคืนระหว่างสัญญาและเงินครบสัญญาแล้ว ประกันชีวิตแบบระยะเวลายาวๆ ยังมีความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงให้แก่คนข้างหลังด้วย
เก็บเพื่อลดภาษี
สำหรับคนที่มีรายได้และเสียภาษีสูง หากมีเงินสำรองในเงินฝากที่เพียงพอและรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้บ้าง แนะนำให้ศึกษา “กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)” และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)”
ที่นอกจากสามารถนำยอดเงินลงทุนไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุนได้แล้ว ยังเลือกลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าทางเลือกต่างๆ ก่อนหน้านี้
เก็บเพื่อผลตอบแทน
สำหรับคนที่อยากเก็บเงินไปเรื่อยๆ ไม่มีระยะเวลาหรือเป้าหมายที่ชัดเจน แนะนำให้เก็บเงินใน “กองทุนรวมทั่วไป” ที่สามารถลงทุนได้ผ่านช่องทางธนาคารทั่วไป
ซึ่งกองทุนรวมนั้น มีลักษณะการลงทุนที่หลากหลาย ขึ้นกับความเสี่ยงและระยะเวลาการลงทุนที่รับได้ เช่น
- กองทุนหุ้นไทย/หุ้นต่างประเทศ เป็นกองทุนความเสี่ยงสูง ระหว่างการลงทุนมีโอกาสขาดทุนได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ มักเหมาะกับการลงทุน 5 ปีขึ้นไป
- กองทุนผสม เป็นกองทุนความเสี่ยงปานกลาง มีโอกาสขาดทุนน้อยกว่ากองทุนหุ้น มักเหมาะกับการลงทุน 3 ปีขึ้นไป
- กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางค่อนข้างต่ำ ระหว่างการลงทุนมีโอกาสขาดทุนบ้าง มักเหมาะกับการลงทุนหลักวันถึงหลักปี
อยากมีเงินต้องขยันเก็บ อยากมีชีวิตที่มั่งคั่งและมั่นคง ต้องเลือกเก็บให้ถูกที่และถูกทาง