×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

"ทำธุรกิจ" ใครว่าต้องจดนิติบุคคล

8,093

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ทำธุรกิจเริ่มต้นไม่ยาก แต่จะเริ่มอย่างไร จำเป็นต้องจดนิติบุคคลหรือไม่ เราไปหาคำตอบกัน

 

บุคคลธรรมดา vs นิติบุคคล ต่างกันอย่างไร

 

การทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา คือ การใช้ ชื่อ-สกุล ตนเองในการทำธุรกรรมการเงิน ติดต่อค้าขาย รวมถึงการยื่นภาษีด้วย

 

ส่วนการทำธุรกิจในนามนิติบุคคล คือ การตั้งบุคคลสมมติที่มีตัวตนทางกฎหมาย เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บริษัทจำกัด (บจก.)  เป็นต้น ซึ่งต้องประกอบด้วยหุ้นส่วน อย่างน้อย 2-3 คน แล้วแต่รูปแบบนิติบุคคลที่จัดตั้ง

 

บุคคลธรรมดา ก็จดทะเบียนพาณิชย์ได้

 

ทะเบียนพาณิชย์เป็นเอกสารที่ระบุ ชื่อธุรกิจหรือร้านค้า ลักษณะธุรกิจที่ทำ รวมถึงวันที่จดทะเบียน ฯลฯ เพื่อเป็นแสดงถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างจริงจัง

 

ซึ่งทะเบียนพาณิชย์ในอนาคตสามารถใช้อ้างอิงประสบการณ์ทำธุรกิจจากวันจดทะเบียน โดยไม่จำเป็นต้องตั้งนิติบุคคลเสมอไป

 

บุคคลธรรมดา ก็ยื่นภาษีได้

 

เงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งได้ 8 ประเภท ขึ้นกับลักษณะงานหรือธุรกิจที่ทำให้เกิดรายได้นั้น เช่น การซื้อมาขายไปของสินค้าทั่วไปมักเป็นเงินได้ 40(8)

 

โดยตอนยื่นยื่นภาษี เงินได้ 40(8) ที่เกิดจากการค้าขาย สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ (ก) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%ของรายได้ โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งถือว่าสะดวกมากแม้คนไม่มีความรู้ด้านบัญชีก็ยื่นแบบนี้ได้ และ (ข) หักค่าใช้จ่ายตามจริงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายที่นำมาหักด้วย คล้ายกับการยื่นหักใช้จ่ายของนิติบุคคล

 

เมื่อไรถึงควรตั้งนิติบุคคล

 

จากเล่ามาข้างต้นโดยเฉพาะการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดูเป็นเรื่องง่ายและสะดวก แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ธุรกิจถึงควรเริ่มคิดเรื่องจัดตั้งนิติบุคคล

 

  •    ฐานภาษีเงินได้เกิน 20%

 

นิติบุคคลทั่วไปมีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% ดังนั้นหากธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาเริ่มมีฐานภาษีเกิน 20% (ฐานภาษีตั้งแต่ 25% ขึ้นไป) การบริหารภาษีเงินได้ด้วยการตั้งนิติบุคคลก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เช่น บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจค้าขายและเลือกยื่นภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ที่มียอดขายเกินปีละ 2.65 ล้านบาท หรือเสียภาษีปีละ 115,000 บาทขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตามการตั้งนิติบุคคลยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย เช่น ภาระทำบัญชี ภาระจัดเก็บเอกสาร ภาระยกเลิกนิติบุคคลเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น

 

  •     ยอดขายถึงเกณฑ์จด VAT

 

ธุรกิจที่มียอดขายนับตั้งแต่ต้นปี เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นครั้งแรก ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ภายใน 30 วัน ซึ่งหลังนั้น ต้องมีการยื่นและชำระ VAT ทุกเดือน

 

ซึ่งตามมาด้วยภาระการจัดทำเอกสาร ที่อาจต้องจ้างคนทำบัญชีและดูแลการยื่น VAT ให้ ซึ่งจะเริ่มมีความใกล้เคียงกับการดำเนินงานในรูปแบบนิติบุคคล

 

  •    มีหุ้นส่วนร่วมลงทุน

 

เมื่อธุรกิจต้องขยาย และหาหุ้นส่วนที่พร้อมร่วมทุน สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาไม่สามารถแสดงสถานะการเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันได้ การตั้งนิติบุคคลจึงเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้

 

การเลือกทำธุรกิจไม่ว่านามบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลล้วนต่างกัน การเลือกให้เหมาะกับยอดขายและข้อจำกัด ย่อมส่งผลต่อต้นทุนและเงินที่จะเข้ากระเป๋าอย่างแน่นอน

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats