×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ศิลปะของ "การออม"

3,400

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ที่ผ่านมามักได้ยินตลอดเวลาว่า หลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าผ่อนต่าง ๆ ก็เหลือเงินในแต่ละเดือนเพียงเล็กน้อย หากต้องแบ่งไปเก็บออมก็คงไม่เหลือให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแน่นอน

 

ดังนั้น หากตกอยู่ในสถานการณ์มีเงินใช้เดือนชนเดือนหรือพึ่งพาเงินกู้ ควรลงมือแก้ไขด้วยการวางแผนว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และทบทวนสม่ำเสมอ

 

จดเส้นทางการเงิน

 

การจดบันทึกรับ-จ่าย เป็นหลักการวางแผนการเงิน เพื่อให้รู้เส้นทางการเงิน แต่อาจไม่เพียงพอ เช่น หลังเลิกงานไปซื้อของ เมื่อกลับมาถึงบ้านอาจลืมจดบันทึก จึงแก้ไขด้วยการจดบันทึกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่นทางการเงินผ่านมือถือทันทีที่จ่ายเงิน ซึ่งการทำแบบนี้ อย่างน้อย ๆ เมื่อเห็นข้อมูลการใช้จ่ายในวันที่ผ่านมาของตัวเอง อาจช่วยยับยั้งชั่งใจกับการใช้เงินได้

 

นอกจากนี้ ทุกต้นเดือนต้องบันทึกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่นทางการเงิน เริ่มจากจำนวนรายได้ที่ได้รับจริง ๆ จากนั้นก็นำรายจ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายในเดือนนั้น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าน้ำมันรถ เงินที่ต้องให้พ่อแม่

 

เมื่อเห็นตัวเลขทั้งสองด้าน จะทำให้สามารถเลือกได้ว่าจะประหยัดหรือวางแผนใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่า

 

ให้ความสำคัญกับ “รายจ่าย”

 

ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติด้วยการจัดทำบันทึกงบประมาณรายจ่ายของตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าเงินซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน ซื้อเท่าไหร่ และสิ่งสำคัญ คือ การจัดทำบันทึกต้องเป็นความจริง เช่น วันที่ 15 มกราคม 2564 ซื้อเสื้อกีฬา 1 ตัว ราคา 980 บาท (ไม่ควรใช้ตัวเลขกลมๆ เช่น 900 บาท)

 

เมื่อจดบันทึกค่าใช้จ่ายจะทำให้การใช้เงินเป็นไปอย่างคุ้มค่า หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการประหยัด ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่รู้สึกว่าการออมเงินเป็นเรื่องน่าเบื่อและทำไม่ได้สักที ดังนั้น ถ้าหันมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายอย่างพิถีพิถัน อาจทำให้ลดการใช้จ่าย แปลว่า มีเงินเหลือมากขึ้น

 

แบ่งสิ่งที่ “ต้องมี” ออกจากสิ่งที่ “ต้องการ”

 

เมื่อมีข้อมูลว่ามีเงินเท่าไหร่และใช้จ่ายอะไร ก็สามารถจัดเรียงลำดับได้ว่าข้าวของที่ต้องซื้อควรเริ่มจาก “สิ่งที่ต้องมี” แปลว่า ซื้อข้าวของสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริงก่อนเสมอ หากปราศจากสิ่งนี้จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นั่นคือ อาหารการกิน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง เป็นต้น ซึ่งเทคนิคลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ คือ การดูรายการค่าใช้จ่ายเป็นชิ้นๆ เช่น ถ้าซื้อเสื้อก็บันทึกค่าใช้จ่ายเป็นเสื้อ ซื้อกางเกงก็บันทึกค่าใช้จ่ายเป็นกางเกง ไม่ควรเหมารวมเป็นค่าใช้จ่ายชอปปิง

 

ใช้ “เงินสด” ดีกว่า “บัตรเครดิต”

 

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทุกวันนี้ผู้คนมีแนวโน้มรูดบัตรเครดิตซื้อของมากกว่าจ่ายเป็นเงินสด เพราะมองว่าการใช้บัตรจะทำให้มีความรับผิดชอบการใช้จ่ายน้อยลง แต่ถ้าจ่ายเงินสดต้องคิดทบทวนอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินสดติดตัว

 

การมีมุมมองแบบนี้อาจทำให้หนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อการจ่ายหนี้คืนในระยะยาว

 

ดังนั้น หากต้องการลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ แบ่งเงินใส่ในซองจดหมาย แล้วเขียนกำกับแต่ละซองว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร และให้หยิบเฉพาะซองที่ต้องการใช้จ่ายติดตัวไปเท่านั้น ทำให้มีโอกาสใช้จ่ายกับสิ่งอื่น ๆ ลดลงตามไปด้วย

 

ติดตามและให้กำลังใจตัวเอง

 

การติดตามข้อมูลการใช้จ่ายเป็นเรื่องจำเป็นและควรทำสม่ำเสมอ เช่น ดูข้อมูลการใช้จ่ายในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร หากมีข้อผิดพลาดก็ลงมือแก้ไขทันที ขณะเดียวกันหากสามารถประหยัดและมีเงินเหลือในบัญชีตามเป้าที่วางเอาไว้ ควรให้กำลังใจตัวเอง

 

การทำให้มีเงินเหลือและสามารถแบ่งไปเก็บออมได้ ทุกคนสามารถทำได้ ขอเพียงเริ่มต้นลงมือทำทันที ที่สำคัญเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอ อีกไม่นานจะได้หยิบเงินแสน เงินล้านอย่างแน่นอน

 

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats